ในปี 2020 ‘กิจการเพื่อสังคม’ ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ (Social Enterprise) หรือ SE ไม่ใช่คำใหม่อีกต่อไปเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีก่อน ในระดับโลกกิจการเพื่อสังคมทวีความสำคัญมากขึ้น หลายประเทศมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับดูแล คนรุ่นใหม่ก็หันมาให้ความสนใจกับกิจการเพื่อสังคมทั้งในฐานะพนักงานและเจ้าของกิจการ
ในสหราชอาณาจักร หนึ่งในประเทศต้นตำรับด้านกิจการเพื่อสังคมมีการจ้างงานในภาคส่วนนี้ถึง 1.44 ล้านคน และงานวิจัยฉบับหนึ่งของ UnLtd. เมื่อสามปีก่อนระบุว่า คน 1 ใน 4 ที่อยากสร้างธุรกิจของตนเอง อยากทำในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม และเมื่อดูจำนวนสตาร์ทอัพเกิดใหม่ที่นั่น มีกิจการเพื่อสังคมมากกว่าธุรกิจทั่วไปถึง 3 เท่า (ผู้อ่านที่อาจจะยังไม่คุ้นกับความหมายของกิจการเพื่อสังคม อาจจะลองดูความหมายของคำนี้ในหมายเหตุด้านล่าง)
แม้จะไม่ได้มีกำไรสูงสุดเป็นเป้าหมายหลัก (คือการมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาสุขภาพ ความยากจน การศึกษาหรือการจัดการขยะ ฯลฯ) การทำกิจการเพื่อสังคมให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการเพื่อสังคมมีงานที่ต้องทำ ‘เพิ่ม’ จากธุรกิจทั่วไป คือการแก้ปัญหาให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมผ่านกิจการที่ทำ นอกเหนือไปจากการต้องทำให้ธุรกิจอยู่รอด สร้างรายได้ และแข่งขันได้ ที่ธุรกิจทั่วไปทำอยู่แล้ว
71% ของผู้ประกอบการเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักร ยังประสบปัญหาจากการพึ่งพารายได้จากกิจการเพื่อสังคมของตนเองในการดำรงชีวิต ส่วนในเม็กซิโก งานวิจัยจาก Failure Institute ในปี 2017 ระบุว่า หลังจากอยู่ในธุรกิจมาแล้ว 3 ปี 17% ของกิจการเพื่อสังคมเท่านั้นที่ยังอยู่รอด และเมื่อผ่านไปแล้ว 10 ปี กิจการเพื่อสังคมจะยังอยู่เพียง 5.2%
แน่นอนว่าการดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วไปหรือธุรกิจเพื่อสังคม บทความนี้พยายามรวบรวมงานวิจัย และบทเรียนจากต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เม็กซิโก โปแลนด์ และบราซิล รวมเข้ากับประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่ได้ศึกษากิจการเพื่อสังคมหลายแห่งในบ้านเรา เพื่อเข้าใจสาเหตุของการ ‘ล้ม’ ของกิจการเพื่อสังคม (ที่นอกเหนือจากการต้องระมัดระวังวิกฤตเศรษฐกิจจากโรคโควิด- 19 ที่กำลังเกิดขึ้น ที่ส่งผลต่อธุรกิจแทบทุกประเภท)
หากเราดูสาเหตุว่าทำไมกิจการเพื่อสังคมสักแห่งถึงต้องเลิกกิจการไป เราอาจแบ่งต้นเหตุออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ จากตัวกิจการเอง และจากปัจจัยภายนอก
ความล้มเหลวกลุ่มแรก คือ การล้มของกิจการเพื่อสังคมที่มาจากตัวกิจการเอง เช่น ตัวผู้ก่อตั้ง พันธกิจ หรือโครงสร้างของธุรกิจ
- การตั้งเป้าหมายทางสังคมที่ไม่ชัดเจน
กิจการเพื่อสังคมเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอะไรบางอย่าง แต่ถ้าผู้ประกอบการยังตั้งเป้าหมายไม่ชัดเจน หรือคนยังต้องถกเถียงว่าเป็นปัญหาสังคมหรือไม่ เช่น กิจการที่อยากให้คนรู้จักตนเองมากขึ้น (ต่างอย่างไรกับไลฟ์โค้ช) หรืออยากทำให้คนเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้น (ต่างอย่างไรกับโรงเรียนกวดวิชา) หรืออยากให้สังคมดีขึ้น (เป้าหมายกว้างเท่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ) ถึงผู้ประกอบการจะมุ่งมั่นแค่ไหน หากเป้าหมายเหล่านี้ขาดความชัดเจน การสนับสนุนจากนักลงทุน ลูกค้า และพันธมิตรฝ่ายต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ยาก และทำให้กิจการดูเลื่อนลอย หรือขาดความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป
- การขาดแผนธุรกิจหรือมัวแต่รอให้แผนธุรกิจสมบูรณ์แบบ
เมื่อขาดแผนธุรกิจ ผู้ประกอบการก็จะมีเพียง ‘ไอเดีย’ ที่จะเปลี่ยนโลก แต่ขาดวิธีหรือขั้นตอนที่จะลงมือทำ หรือไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง ได้ทำอะไรไปถึงไหน และเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเงิน บัญชี การตลาด และการปฏิบัติการ
ในทางกลับกันผู้ประกอบการที่ใช้เวลามากไปกับการเขียนหรือปรับแผนธุรกิจ ก็เสียโอกาสในการลงสนามทดลองขาย ทำความเข้าใจตลาด และสร้างรายได้ การเขียนแผนธุรกิจที่เป็นเลิศอาจทำให้กิจการได้เงินให้เปล่า (Grant) มาสนับสนุน หรือได้นักลงทุน แต่การยอมให้ลูกค้าควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อซื้อของอาจต้องใช้ทักษะที่ต่างกัน และเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ให้เร็ว
- ผู้ประกอบการไม่มีทักษะที่จำเป็น
ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมจำนวนมาก เริ่มต้นกิจการด้วยความหลงใหลและความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม/สิ่งแวดล้อม แต่การดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดต้องใช้ทักษะที่สำคัญที่มากไปกว่า ‘ใจ’ และความอยากเปลี่ยนแปลงสังคม
เจ้าของกิจการเพื่อสังคมหลายคนไม่ได้ลงทุนกับตัวเองในการสร้างทักษะด้านธุรกิจที่มากพอ หรือสร้างทีมที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านการเงินที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการดูแลสุขภาพของกิจการ ทำให้ธุรกิจเติบโต เข้าถึงและเลือกแหล่งทุนที่เหมาะสมได้
นอกจากนี้ แม้ผู้ก่อตั้งกิจการจำนวนมากมักมีไอเดียที่สร้างสรรค์และแนวคิดที่นำไปสู่นวัตกรรม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้บริหารที่เก่ง การทำความเข้าใจตลาด อุปสงค์ อุปทาน กระบวนการผลิต โลจิสติกส์ ไปจนถึงการดูแลพนักงานให้ดี ไม่ใช่บทเรียนที่ใครสักคนจะเรียนรู้และทำได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับการสร้างความเชี่ยวชาญและรู้ลึกในอุตสาหกรรมที่ตนเองอยู่ เช่น ความเชี่ยวชาญด้านเกษตร หัตถกรรม สุขภาพ หรือเทคโนโลยี (ขึ้นอยู่กับประเภทของกิจการ) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งขันและพัฒนากิจการ
- การหลงรักไอเดียตัวเองมากไป
ผู้ประกอบการเพื่อสังคมมักมองโลกในแง่ดี พวกเขาถึงมีความหวังในการสรรหาวิธีใหม่ๆ มาแก้ปัญหาสังคมที่คาราคาซังมานาน รวมถึงมีความทะเยอทะยานสูง แต่การมองโลกในแง่ดีเกินไปก็อาจส่งผลต่อการคาดการณ์ (Forecast) ด้านการเงินที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง หรือตกหลุมรักผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตัวเองมุ่งมั่นทำจนเกินไป พยายามใส่ฟังก์ชันมากมายจนทำให้ต้นทุนสูง รวมทั้งหลงคิดไปว่าลูกค้าจะยอมจ่ายเงินซื้อของเพราะมองเห็นคุณค่าเดียวกัน เช่น ลูกค้าต้องเห็นคุณค่าสินค้าแฮนด์เมดที่ทำขึ้นมาอย่างยากเย็น ยอมจ่ายเพิ่มให้เกิดความเป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทาน หรือเลือกซื้อของจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ราคาสูงกว่า ซึ่งอาจจะไม่จริงเสมอไป
- การติดกับดักปัญหาภายในอื่นๆ
กิจการเพื่อสังคมมักมีความ ‘ทางการ’ น้อยกว่าธุรกิจทั่วไป และเป็นที่ที่ผู้คนมาร่วมทำงานกันเพราะมีใจหรือเป้าหมายทางสังคมเดียวกัน ความไม่ทางการเหล่านี้ทำให้กิจการบางแห่งให้ผู้ก่อตั้งไปปะปนนั่งเป็นคณะกรรมการบริหารบริษัท (บอร์ด) หรือนำคนใกล้ชิดเข้ามาบริหาร ทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หรือการขาดข้อตกลงที่ชัดเจนในตอนต้น ทำให้ผู้เกี่ยวข้องขัดกันเรื่องผลประโยชน์ในภายหลัง
การขาดความสามารถในการสรรหา พัฒนา และรักษาพนักงานที่มีเก่ง รวมถึงการขาดการวัดผลลัพธ์ทางสังคมที่ชัดเจน ขาดความสามารถในการประเมินความเสี่ยง และขาดความสมดุลในการรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆ เช่น ให้น้ำหนักกับผู้ได้รับประโยชน์ทางสังคมมากไป จนลืมเรื่องความโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้น/ผู้ให้ทุน ทั้งหมดล้วนเป็นอันตรายต่อกิจการเพื่อสังคม
ความล้มเหลวในกลุ่มที่สอง เป็นสาเหตุที่มาจากการที่ปัจจัยภายนอกเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ
- ขาดแคลนแหล่งทุนที่เหมาะสม
กิจการเพื่อสังคมในหลายประเทศยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น กิจการที่มีอัตรากำไรต่ำก็จะไม่เป็นที่น่าสนใจของธนาคารที่จะปล่อยกู้ให้ กิจการที่ใช้เงื่อนไขการไม่ปันผลต่อผู้ถือหุ้นก็อาจเข้าไม่ถึงนักลงทุนที่ต้องการถือหุ้นและหวังเงินปันผล รวมถึงเข้าไม่ถึงกองทุนเงินให้เปล่า เพราะไม่ได้เป็นองค์กรการกุศลอย่างมูลนิธิ
การลงทุนเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Impact Investing) ที่นักลงทุนเน้นหวังผลด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย และ ‘เข้าใจ’ การรอคอยหรือการได้ผลตอบแทนที่ไม่ได้อู้ฟู่เท่าตลาดทุนทั่วไป ก็ยังเป็นโมเดลที่ใหม่และเพิ่งเริ่มต้นในหลายมุมของโลก
- ตัวบทกฎหมาย
ในบางประเทศ การไม่มีกฎหมายเพื่อ ‘เอื้อ’ กิจการเพื่อสังคมก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้กิจการเพื่อสังคมแข่งขันไม่ได้ เช่น ในเม็กซิโก หรือในสหราชอาณาจักรที่กฎหมายเคยตั้งเพดานให้กิจการเพื่อสังคมแบบ Community Interest Company (CIC) ปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ไม่เกิน 20% รัฐก็ให้ขยับขึ้นเป็นไม่เกิน 35% เมื่อปี 2014 เพื่อให้ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นกว่าเดิมที่อาจจะมีการกำกับมากไป
- ความเข้าใจและทัศนคติต่อกิจการเพื่อสังคม
งานวิจัยล่าสุดจาก Zeno Group ในปีนี้ที่สำรวจผู้บริโภคกว่า 8,000 คนใน 8 ประเทศทั่วโลกพบว่า ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า ปกป้อง และสนับสนุนแบรนด์ที่ขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย (Purpose-driven) ที่มากกว่าการทำกำไรอย่างเดียว มากกว่าธุรกิจที่มุ่งหาเงินเพียงอย่างเดียวถึง 4-6 เท่า แม้งานวิจัยที่ว่าจะทำกับแบรนด์ขนาดใหญ่ แต่ก็น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับกิจการเพื่อสังคม
อย่างไรก็ตามหากมองถึงการค้าขายแบบธุรกิจต่อธุรกิจหรือ B2B ภาพของกิจการเพื่อสังคมในฐานะ ‘มืออาชีพ’ อาจยังมีความท้าทายอยู่มาก เช่น ในสหราชอาณาจักร องค์กรส่วนหนึ่งมองว่ากิจการเพื่อสังคมเป็นแค่การกุศล จึงเชื่อว่าสินค้าหรือบริการที่ขายเป็นของด้อยคุณภาพ หรือบางแห่งอาจเรียกหนังสือค้ำประกัน (Payment Guarantee) จากกิจการเพื่อสังคมในการทำธุรกิจร่วมกัน เพราะมองว่ากิจการเหล่านี้ ‘เจ๊ง’ ง่าย หรืออาจส่งมอบสินค้าตามที่สั่งไม่ได้
แม้จะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้กิจการเพื่อสังคมไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่งานวิจัยบางส่วน เช่น ในสหราชอาณาจักรระบุว่าอัตราการเลิกกิจการเมื่อเทียบธุรกิจปกติและธุรกิจเพื่อสังคมไม่ได้แตกต่างกัน หรือในเม็กซิโก แม้ว่ากิจการเพื่อสังคมจะเหลือรอดน้อยลงไปตามจำนวนปีที่ดำเนินธุรกิจ แต่ช่วงชีวิตของกิจการเพื่อสังคมนั้นยาวนานกว่าธุรกิจทั่วไปถึง 1 ปี
ดังนั้นการทำกิจการเพื่อสังคมจึงไม่ได้เสี่ยงเจ๊งไปมากกว่าธุรกิจปกติ เพียงแต่ผู้ประกอบการมีงานที่ต้องทำมากกว่า คือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอด และมีข้อควรระวังที่มากกว่าอย่างที่กล่าวข้างต้น
โลกยังเต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ และมีปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่รอเข้าแถวให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมรอแก้ไขอีกมาก กิจการเพื่อสังคมจึงถือเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้โลกดีขึ้น ยิ่งกิจการเพื่อสังคมอยู่รอด โอกาสที่ปัญหาสังคมจะถูกแก้ไขได้ก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- socialsectornetwork.com/broke-and-idealistic-why-do-social-enterprises-fail/
- www.inspire2enterprise.org/2017/05/02/6-reasons-social-enterprises-fail/#
- www.weforum.org/agenda/2017/06/3-reasons-why-social-enterprises-fail-and-what-we-can-learn-from-them/
- www.theguardian.com/small-business-network/2018/mar/12/social-enterprises-go-bust-all-the-time-how-the-sector-is-tackling-its-image-problem
- www.nesst.org/nesst/2019/why-do-social-enterprises-fail
- www.forbes.com/sites/afdhelaziz/2020/06/17/global-study-reveals-consumers-are-four-to-six-times-more-likely-to-purchase-protect-and-champion-purpose-driven-companies/#71c5f717435f
บริษัทวิจัยของผู้เขียนเคยรวบรวมความหมายของ ‘Social Enterprise’ และ ‘Social Business’ จากงานวิชาการในระดับนานาชาติ เราพบว่าคำคำนี้มีความหมายไม่ต่ำกว่า 27 นิยาม ตามบริบท ปัญหาสังคมและกฎหมายในแต่ละประเทศ และไม่มีนิยามเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
แต่เราพบว่าคุณลักษณะหนึ่งที่กิจการเพื่อสังคมทั่วโลกมีคล้ายคลึงกัน คือการเป็นกิจการที่ดำเนินการเพื่อเป้าหมายทางสังคมเป็นหลัก กิจการเหล่านี้วางเป้าหมายที่การแก้ปัญหาสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเป้าหมายโดยใช้หลักการบริหารจัดการจากภาคธุรกิจ โดยที่พยายามบรรลุความยั่งยืนทางการเงินจากการดำเนินธุรกิจ (ถึงแม้จะไม่เน้นการสร้างกำไรสูงสุดเป็นเป้าหมายหลัก)
เราจึงอาจเห็นแบรนด์อย่างรองเท้า TOMS, Patagonia, Kiva.org, Divine Chocolate ในต่างประเทศ หรือ ดอยตุง, โลเคิล อไลค์, เลมอนฟาร์ม, แดรี่โฮม, ดอยคำ ฯลฯ ถูกเรียกว่า ‘กิจการเพื่อสังคม’