×

ความเหลื่อมล้ำ โควิด การปิดโรงเรียน: ชีวิตวัยเยาว์ของหนูและการเรียน (รู้) ที่หายไป

28.12.2021
  • LOADING...
การเรียน

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • โรงเรียนควรเป็นสถานที่สุดท้ายที่ควรปิด และจะปิดก็ต่อเมื่อได้ลองใช้มาตรการทุกอย่างแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะโรงเรียนเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมในการสร้างประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต
  • 2 ปีผ่านไป ดูเหมือนว่าประเทศส่วนใหญ่จะตกผลึกแล้วว่าการปิดโรงเรียนไม่ส่งผลให้การระบาดเพิ่มขึ้น และหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควบคู่กัน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจในปี 2563 พบว่า ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมให้ลูกเรียนออนไลน์

ตัวชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการโควิดอาจไม่ใช่เพียงการเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต แต่เป็นจำนวนวันที่เปิดหรือปิดโรงเรียน กล่าวกันว่าโรงเรียนควรเป็นสถานที่สุดท้ายที่ควรปิด และจะปิดก็ต่อเมื่อได้ลองใช้มาตรการทุกอย่างแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะโรงเรียนเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมในการสร้างประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต บทความชิ้นนี้สำรวจโรงเรียนประถมและมัธยมในหลายประเทศว่าปรับตัวและรับมือกับโรคระบาดโควิดอย่างไร และมีบทสรุปอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาความสูญเสียจากเวลาเรียนที่หายไปของเด็กนักเรียนไทย

 

หากนับวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นวันเบิกฟ้าผ่าปฐพีของโรคระบาดใหม่ นามใดยังไม่ปรากฏ เกิดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็น Day 0 โลกเราอยู่กับโควิดสายพันธุ์ต่างๆ เช่น Alpha, Beta, Gamma, Delta, Lambda, Mu และน้องใหม่ Omicron ใกล้จะครบ 2 ปีแล้ว ประเทศไทยพบคนไทยติดเชื้อในประเทศรายแรกในวันที่ 31 มกราคม 2563 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2563 ล่าสุดต่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 และตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เลื่อนวันเปิดเทอมภาคเรียนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนจำนวนมากในประเทศไทยยังไม่เปิดให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนเต็มรูปแบบ

 

The ‘Lockdown Generation’

ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ประเทศส่วนใหญ่ในทุกทวีปก็ปิดโรงเรียนเช่นกัน แม้แต่ประเทศมั่งคั่งจำนวนมากก็เลือกลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ด้วยการสั่งปิดโรงเรียนด้วยกันทั้งสิ้น รูปแบบการจัดการแบ่งเป็น 2 กลุ่มกว้างๆ คือ

 

  1. เลือกแนวทางปิดโรงเรียนทั่วทุกพื้นที่เพื่อปลอดภัยไว้ก่อน
  2. เลือกแนวทางเปิดโรงเรียนหากไม่มีการระบาดในพื้นที่

 

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) พบว่า เท่าที่มีข้อมูล บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และปานามา เป็น 3 ประเทศที่ปิดโรงเรียนยาวนานที่สุดในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ฟินแลนด์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและปิดโรงเรียนทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพียง 3 วันหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิดเป็นโรคระบาด ในอังกฤษโรงเรียนประถม 44% เคยหยุดการเรียนการสอน และอีก 21% เปิดไม่เต็มรูปแบบ ส่วน 35% ยังคงเปิดเรียนตามคำแนะนำของรัฐบาล ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกๆ ที่ปิดโรงเรียนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 แต่หลังจากนั้นประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศนโยบายให้โรงเรียนเปิดเรียนตามปกติเท่าที่จะทำได้ ทำให้ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปตะวันตกที่มีวันเปิดเรียนมากที่สุด อาจจะรองจากสวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และสวีเดน ส่วนเยอรมนี แม้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อันยา คาร์ลิคเช็ก จะประกาศว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายปิดโรงเรียนทั่วประเทศ และจะพยายามจัดการเรียนการสอนตามปกติให้มากที่สุด แต่การปิดโรงเรียนบางพื้นที่ในปี 2563 ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อสังเกตคือในยุโรปหลายประเทศ การเปิดหรือปิดโรงเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นดุลพินิจของรัฐบาลท้องถิ่นและโรงเรียนเองที่นักการเมืองจะไม่เข้ามาก้าวก่าย อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานครูที่มักคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นแม้รัฐบาลส่วนกลางจะมีนโยบายให้คงการเรียนการสอนแบบเจอตัวที่โรงเรียน แต่พลังกดดันจากสหภาพแรงงานครูก็ทำให้หลายโรงเรียนเลือกปิดเพื่อความปลอดภัย

 

ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประเทศคู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวทางเรื่องการเปิด-ปิดโรงเรียนต่างกัน ในปี 2563 รัฐส่วนใหญ่ในออสเตรเลียแทบทุกรัฐมีการปิดโรงเรียนประปราย แต่โดยรวมจะเน้นให้เปิดการเรียนการสอนตามปกติ อาจเป็นเพราะการวัดระดับความรู้ของเยาวชนออสเตรเลียในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับนานาชาติไม่สู้ดีนัก จึงไม่อยากปิดโรงเรียนซ้ำเติม และเนื่องจากออสเตรเลียเป็นเครือรัฐ จึงให้การเปิด-ปิดโรงเรียนเป็นอำนาจสั่งการภายในแต่ละรัฐ เช่น วิกตอเรียและนิวเซาท์เวลส์ มีช่วงเวลาปิดโรงเรียนยาวนานกว่ารัฐอื่น ขณะที่นิวซีแลนด์แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น เลือกใช้วิธีจัดการให้หมดจดด้วยการปิดพรมแดนและปิดโรงเรียน ทั้งนี้ นิวซีแลนด์มีประสบการณ์ที่ไม่เลวร้ายนักจากการปิดโรงเรียน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ชในปี 2554 พบว่า นักเรียนมัธยมปลายทำคะแนนได้ดี อันเป็นผลจากการที่ครูปรับการเรียนให้กระชับและให้ความรู้เน้นๆ ในประเด็นสำคัญ

 

งานวิจัยยืนยันว่า ปิดโรงเรียนไม่ได้ช่วยหยุดเชื้อโรคอย่างมีนัยสำคัญ

สวีเดนเป็นประเทศที่ใช้นโยบายเปิดโรงเรียนตลอดช่วงเวลาการระบาด การปิดโรงเรียนให้ถือเป็นกรณีพิเศษตามดุลพินิจของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ แนวทางของสวีเดนที่เลือกปิดโรงเรียนให้น้อยที่สุดนับว่าน่าสนใจมาก เมื่อจำเป็นจริงๆ สวีเดนเลือกปิดมัธยมปลาย เปิดมัธยมต้น เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดจากการปิดโรงเรียน และพิสูจน์ว่าการปิดโรงเรียนช่วยบรรเทาการกระจายเชื้อโรคได้จริงไหม มากน้อยเพียงใด ผลการศึกษาพบว่า การเปิดโรงเรียนทำให้เกิดการติดเชื้อในกลุ่มผู้ปกครองมากกว่าการปิดโรงเรียนเพียงเล็กน้อย แต่บรรดาครูทั้งหลายติดเชื้อมากกว่าเท่าตัว และทำให้คู่ครองต้องติดเชื้อตามไปด้วย กระนั้นสวีเดนสรุปบทเรียนว่า ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาและเด็กนักเรียนแล้วน้อยนิดนัก จึงยังคงดำเนินนโยบายเปิดโรงเรียนมากที่สุด และใช้มาตรการป้องกันไม่ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาติดเชื้อ งานวิจัยในญี่ปุ่นและอเมริกาก็ยืนยันผลลัพธ์เช่นเดียวกัน

 

2 ปีผ่านไป ดูเหมือนว่าประเทศส่วนใหญ่จะตกผลึกแล้วว่า การปิดโรงเรียนไม่ส่งผลให้การระบาดเพิ่มขึ้น และหลายประเทศเริ่มใช้มาตรการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีควบคู่กัน เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา

 

ชีวิตวัยเยาว์ของหนูและการเรียน (รู้) ที่หายไป

สหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่า เด็กกว่า 1.6 พันล้านคน จาก 190 ประเทศ หรือ 98% ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนที่ทดแทนด้วยการเรียนการสอนออนไลน์ การไม่ได้เรียนในห้องที่มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครูและเพื่อนนักเรียน นอกจากจะส่งผลด้านลบต่อทักษะการอ่านออกเขียนได้และการคิดคำนวณแล้ว ยังกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ทั้งสุขภาพกายและภาวะทางอารมณ์ของเด็กในหลายประเทศพบว่า การหยุดโรงเรียนอย่างยาวนานช่วงโควิดทำให้เด็กเกิดความเครียดจำนวนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่บ้านไม่เหมาะสม ไม่สามารถปรับตัวหรือขาดเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อการเรียนออนไลน์ ที่สำคัญในบางประเทศรวมถึงประเทศไทย การไปโรงเรียนสำหรับเด็กน้อยยากจนคือการได้รับอาหาร ขนม และนมโรงเรียน การปิดโรงเรียนจึงส่งผลต่อภาวะโภชนาการ เกิดภาวะขาดแคลนสารอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกทำร้าย หรือในบางกรณีถูกจับแต่งงาน

 

ความเหลื่อมล้ำเมื่อโรงเรียนกลายเป็นเรียนออนไลน์

มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในทุกประเทศว่า ประสิทธิภาพการเรียนการสอนออนไลน์ด้อยกว่าการเรียนในชั้นเรียน ยกเว้นในกรณีที่ผู้เรียนมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ และสามารถปรับตัวหาความรู้ด้วยตนเองได้ ความด้อยประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์เป็นผลจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ

 

  1. ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและความคุ้นเคยในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีของผู้เรียน ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศยากจนเท่านั้น ในออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ก็พบตัวเลขความแตกต่างที่น่าตกใจระหว่างเด็กนักเรียนทั่วไปและกลุ่มเด็กด้อยฐานะ ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนดำรงอยู่ระหว่างโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล โดยพบว่า นักเรียนโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนและทำการบ้านอยู่สม่ำเสมอ ในออสเตรเลียยังพบว่า นักเรียนชนพื้นเมืองเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตในสัดส่วนที่มากกว่านักเรียนอื่นๆ ถึง 4 เท่า
  2. ครูผู้สอนขาดทักษะในการให้ความรู้ออนไลน์ สร้างปัญหาไม่น้อยไปกว่าความขาดแคลนอุปกรณ์ในกลุ่มนักเรียน หากคุณครูไม่เคยนำเทคโนโลยีมาผนวกไว้ในกระบวนการเรียนการสอนมาก่อนสถานการณ์โควิดก็เป็นการยากที่จะสามารถปรับตัวได้ในเวลาอันสั้น การขาดทักษะของคุณครูจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสอนทางไกลในทุกประเทศ

 

เด็กกลุ่มเปราะบางที่สุดเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจในปี 2563 พบว่า ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมให้ลูกเรียนออนไลน์ร้อยละ 51 ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ตที่บ้าน ที่สำคัญร้อยละ 26 ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 40 กังวลว่าไม่มีเวลาคอยช่วยสอนลูกเรียนออนไลน์

 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามนักเรียนยากจนพิเศษในเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 294,454 ราย มีนักเรียนร้อยละ 14.6 หรือ 43,060 คน ยังไม่กลับเข้ามาเรียนต่อ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 33,710 คน และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8,699 คน ทั้งนี้ นักเรียนยากจนพิเศษหมายถึงนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ 1.8 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขในปีการศึกษาที่ 1/2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านคน ยิ่งกว่านั้นยังมีโศกนาฏกรรมที่เกิดเด็กกำพร้าเนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองทั้งหมดเสียชีวิตจากโควิด จึงมีการคาดการณ์ว่า จะมีเด็กไทยจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งปัญหานี้มักไม่พบในประเทศพัฒนาแล้ว

 

​การสำรวจในปีงบประมาณ 2564 พบข้อมูลที่น่ากังวลว่า โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 23,864 โรงเรียน และมีนักเรียนเป้าหมายชั้น ป.1 – ป.6 ที่ไม่ผ่านการประเมิน (อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) จำนวน 357,021 คน เด็กที่ขาดแคลนมักเรียนไม่ทันเพื่อนและได้คะแนนรั้งท้ายในทุกช่วงชั้นเรียน ช่องว่างของการเรียนรู้นอกจากจะส่งผลต่อการหางานทำและรายได้ในอนาคต งานวิจัยของผู้เขียนพบว่า เยาวชนประมาณ 18% ไม่มีหนังสือเป็นของตัวเองแม้แต่เล่มเดียว และเยาวชนยากจนในชนบท โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความคาดหวังต่ออนาคตของตนเองต่ำ มองโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะมีชีวิตในอนาคตที่ดีน้อยกว่าเด็กฐานะดีและเด็กในเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

 

ทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาสำคัญกว่าเทคโนโลยี 

​ปัญหาเข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีอาจไม่สำคัญเท่ากับการปลูกสร้างทัศนคติหมั่นเพียรเรียนรู้ ทัศนคติด้านบวกต่อการศึกษาจะหล่อเลี้ยงความสนใจใฝ่รู้ของนักเรียนไม่ให้เหือดหายยามโรงเรียนต้องปิด และเป็นพลังผลักที่สำคัญต่อความสำเร็จทางการเรียนรู้ ทัศนคติเชิงบวกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อได้รับการเสริมส่งจากผู้ปกครองและความกระตือรือร้นเอาใจใส่จากคุณครู แต่กระนั้นผู้ปกครองที่หาเช้ากินค่ำ ดิ้นรนทำงานอาจมีเวลาเอาใจใส่ดูแลได้น้อยกว่าผู้ปกครองที่ฐานะดี มีความรู้และมีสายสัมพันธ์เป็นทุนเดิม กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ซ้อนทับเวียนวนเป็นวงกลม จึงเป็นภาระและหน้าที่ของคุณครูที่จะช่วยเยียวยาความเหลื่อมล้ำ ลดความแตกต่างระหว่างผู้ปกครองที่มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมต่างกัน การปิดโรงเรียนเป็นการโอนและโยนภาระด้านการศึกษาไปให้ผู้ปกครองที่จำนวนมากไม่มีความพร้อม นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการปิดโรงเรียนจึงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากได้พิจารณาทางเลือกอื่นๆ หมดแล้ว

 

การเตรียมความพร้อมแบบมองไปข้างหน้า

 

 

​ประเทศยากดีมีจนต่างประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Divide) ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ล้วนมีนักเรียนจำนวนหนึ่งขาดแคลนเครื่องมือเทคโนโลยีด้วยกันทั้งสิ้น แต่ประเทศที่มีความพร้อมทางการเงินให้ความช่วยเหลือโรงเรียน ครู และนักเรียน ในรูปแบบต่างๆ ได้รวดเร็วและทั่วถึงกว่า เช่น จัดหาแล็ปท็อปและอุปกรณ์ดิจิทัลเทคโนโลยีให้นักเรียนยืม ให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรี จัดทำคู่มือให้ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือบุตรหลานในการใช้งานเพื่อการเรียน และระดมทรัพยากรเสริมสร้างทักษะคุณครู เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอน

 

ประเทศไทยให้เงินช่วยเหลือคนละ 2,000 บาท แก่นักเรียนและนักศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมถึงระดับอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน เป็นงบประมาณมากกว่า 23,000 ล้านบาท และยังมีมาตรการอื่นๆ ที่แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง แต่เงินและวิธีการช่วยเหลือเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาหัวใจของการเรียนที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ และการสอนไม่จบกระบวนท่าในสถานการณ์โควิดได้ มาตรการช่วยเหลือด้านการศึกษาควรเยียวยาแบบขนมชั้น กล่าวคือให้ความช่วยเหลือมาก-น้อยหลากหลายตามความเหมาะสมกับสถานภาพและเงื่อนไขของเด็กแต่ละกลุ่ม โดยควรดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางมากเป็นพิเศษ ไม่ให้พวกเขาต้องอยู่รั้งท้ายไปตลอดหรือถูกทิ้งไปในที่สุด

 

ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การเตรียมความพร้อมแบบระยะยาว โดยการให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างแรงบันดาลใจและบ่มเพาะเจตคติด้านบวกต่อการเรียนรู้ สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีความหมาย การที่คุณครูจะทำเช่นนั้นได้ต้องลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนนักเรียนลง เช่น การทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะและรายงานต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

 

​และที่สำคัญที่สุดคือ การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ผลที่ได้ไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายด้วยอนาคตเด็กนักเรียนไทย เวลาและการเรียนรู้ของหนูๆ ได้สูญหายไปมากพอแล้ว

FYI
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Comparative Assessment of the Pandemic Responses in Australia and Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจาก The Australia-ASEAN Council, Australia-ASEAN Council COVID-19 Special Grants Round กระทรวงการต่างประเทศและการค้าประเทศออสเตรเลีย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X