×

‘เครือข่ายยูนุส’ จัดงาน Social Business Day 2019 ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม ร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืนผ่านโมเดล Social Business

โดย THE STANDARD TEAM
04.07.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ร่วมกับองค์กรภาคี จัดงาน Social Business Day 2019 ครั้งที่ 9 ในไทย ต้อนรับผู้ร่วมงานกว่า 1,500 คน จาก 58 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นประวัติการณ์ที่มีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดตั้งแต่จัดงาน โดยมีองค์กรภาคเอกชนไทยร่วมสนับสนุน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บางจาก และ C asean
  • ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นศูนย์กลางอันดับต้นๆ ของการขับเคลื่อน Social Business 
  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศเจตนารมณ์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านแพลตฟอร์ม ‘Corporate Action Tank’ มุ่งเน้น 3 ด้าน Micro Finance, การพัฒนาการศึกษา และ Village Startups

ตัวชี้วัดความยิ่งใหญ่ของงานประชุมระดับโลก Social Business Day 2019 ซึ่งจัดโดย ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ริเริ่มแนวคิด Social Business หรือธุรกิจเพื่อสังคม และ Yunus Foundation ร่วมกับศูนย์ยูนุสเซ็นเตอร์ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Yunus Center at AIT) ศูนย์ยูนุสเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Thailand Social Business Initiative (TSBI) แม้งานนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดงาน และยังเป็นการจัดงานที่ใหญ่กว่าทุกปี ตลอดการประชุมของวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน จาก 58 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นประวัติการณ์ที่มีผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดตั้งแต่จัดงาน Social Business Day 

 

 

ทำไมประเทศไทยจึงถูกเลือกให้เป็นศูนย์กลางการจัดงาน Social Business Day 2019

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพิพัฒน์ และผู้ร่วมก่อตั้งยูนุสประเทศไทย (Yunus Thailand) กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย และประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์” ในขณะที่ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุสเองก็เล็งเห็นว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นศูนย์กลางอันดับต้นๆ ในการขับเคลื่อน Social Business การประกาศจัดตั้ง Yunus Thailand พร้อมทั้งประกาศจัดตั้ง Corporate Action Tank แพลตฟอร์มที่ใช้ในการขับเคลื่อน Social Business ร่วมกับภาคเอกชนในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ คงเป็นเครื่องการันตีว่าเครือข่ายยูนุสเล็งเห็นศักยภาพในประเทศไทยอย่างแท้จริง 

 

 

งานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Making Money is Happiness, Making Other People Happy is Super Happiness’ (การสร้างรายได้คือความสุข แต่การสร้างความสุขให้คนอื่นคือความสุขที่แท้จริง) ตอกย้ำไปถึงเป้าหมายของศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ที่ต้องการผลักดันให้เกิดชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมในทุกประเทศทั่วโลก และเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด Social Business ให้เป็นต้นแบบในการช่วยแก้ปัญหาสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และตระหนักถึงความสุขที่แท้จริง พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาในเป็นประเด็นสำคัญของโลก 4 ด้าน ได้แก่

1. Banking & Microfinance ธนาคารและไมโครไฟแนนซ์

2. Pollution & Climate Change มลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. Plastic Waste & Circular Economy ขยะพลาสติกและเศรษฐกิจหมุนเวียน

4. Social Business & Sports ธุรกิจเพื่อสังคมและการกีฬา 

 

งาน Social Business Day ในทุกปี เครือข่ายยูนุสมุ่งเน้นเป้าหมายสำคัญไปที่การผลักดันให้เกิดชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมในทุกประเทศทั่วโลก ตามแนวคิดที่ว่า นอกจากจะสร้างผลกำไรให้แก่ธุรกิจแล้ว ธุรกิจนั้นๆ ยังส่งต่อความสุขให้กับสังคม ในระยะยาว และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตามองของการทำงานระหว่างเครือข่ายยูนุสและภาพธุรกิจคือ แนวคิดเรื่อง Social Business จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงกีฬาได้อย่างไร ภาพลักษณ์ของธุรกิจกีฬาจากเดิมที่เน้นสร้างผลกำไรมากกว่าช่วยเหลือสังคม ผู้นำในภาคธุรกิจก็ดี แม้แต่นักกีฬาก็ตาม เริ่มนำแนวคิด Social Business มาปรับใช้ และเราจะได้เห็นความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้ธุรกิจกีฬากลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเป็นครั้งแรกในงานโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

 

 

ตลอดทั้งสองวันของงานประชุมระดับโลก Social Business Day 2019 บรรยากาศบนเวทีอัดแน่นไปด้วยแนวคิดในการดำเนินธุรกิจและแรงบันดาลใจจากหัวข้อที่น่าสนใจด้านธุรกิจเพื่อสังคม อาทิ การประชุมกลุ่มย่อย (Breakout Session) 9 กลุ่ม, การประชุมกลุ่มประเทศ (Country Forum) 7 กลุ่ม, การประชุมกลุ่มเยาวชน (Youth Workshop) 6 กลุ่ม และการประชุมคู่ขนานสำหรับภาคการศึกษา (Academia Conference) ในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา เกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร สุขภาวะ การเงิน สิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธุรกิจเพื่อสังคมกับการกีฬา กิจการขนาดใหญ่กับธุรกิจเพื่อสังคม เทคโนโลยีกับธุรกิจเพื่อสังคม ภาวะผู้นำเยาวชนกับธุรกิจเพื่อสังคม สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์กับธุรกิจเพื่อสังคม ฯลฯ และผู้ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์มีตั้งแต่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมระดับนานาชาติ ระดับท้องถิ่น นวัตกร นักศึกษา รวมถึงผู้คร่ำหวอดด้านการนำปรัชญาของธุรกิจเพื่อสังคมมาประยุกต์ใช้

 

ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมการประชุมในวันนั้นได้เห็นความสุขมุมใหม่แทนที่จะวัดปริมาณความสุขด้วยจำนวนเงิน แต่นิยามความสำเร็จเป็นการสร้างความสุขแก่เพื่อนมนุษย์แทน

 

ดั่งปณิธานของ ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส กับแนวคิดตั้งต้นในการจัดงาน Social Business Day 2019 ว่า “การจัดงานครั้งนี้เป็นการรวมตัวของชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมจากนานาประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจที่ชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นว่าธุรกิจเพื่อสังคมจะนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมโลก ตอนนี้ Yunus Centre กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมุ่งเน้นธุรกิจเพื่อสังคม วันนี้คงจะยังไม่เห็นผลทันที ต้องใช้ความอดทน ความพยายาม การช่วยเหลือจากทุกคนที่เห็นความสำคัญ สร้างความเข้าใจ และช่วยกันแบ่งปันแนวคิดนี้ไปสู่ผู้คน ยิ่งทำมากเท่าไรก็ยิ่งมีโอกาสที่เมล็ดพันธุ์จะเติบโต” 

 

 

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานวันแรก (28 มิ.ย.) ในส่วนประเทศไทย นอกเหนือจากการตั้งศูนย์ Yunus Thailand อย่างเป็นทางการแล้ว การประชุมระดับโลกครั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หนึ่งในองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย โดยมี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นตัวแทนประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ Yunus Thailand ผ่านแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘Corporate Action Tank’ มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่

 

1. Micro Finance ทำงานร่วมกับ TrueMoney บริษัทในเครือฯ ให้กลุ่มผู้ว่างงานหรือผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

2. การพัฒนาการศึกษาผ่านโครงการทรูปลูกปัญญา และโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED) ส่งเสริมและฝึกอบรมผู้ประกอบการภายในโรงเรียน

3. Village Startups ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสร้างธุรกิจของตัวเองในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่ต้องย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่

 

ทั้ง 3 ด้านที่เครือซีพีประกาศเจตนารมณ์ก็สอดคล้องกับนโยบาย 3 ประโยชน์ในเครือซีพีที่ว่า ‘การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและสังคม สุดท้ายจึงจะเป็นประโยชน์ขององค์กร’ 

 

 

ในขณะที่ไฮไลต์งานวันที่สอง (29 มิ.ย.) ในส่วนของประเทศไทย คือการขึ้นกล่าว Closing Ceremony ของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมตอกย้ำความเชื่อมั่นในแนวคิด Social Business ที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมและทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า

 

“เราทุกคนกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ทั้งข้อมูล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ทำแล้วเห็นผลทันที แต่หากทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ก็ถือเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

 

“เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ที่มีธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยกว่า 40 แห่ง ตระหนักถึงบทบาทสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ เริ่มต้นจากภายในองค์กร หรือ Inside Out ตั้งแต่การดูแลพนักงานในเครือกว่า 350,000 คนที่อาศัยอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลกที่เครือซีพีเข้าไปลงทุน เราต้องดูแลพนักงานทุกคนเหมือนเป็นคนในครอบครัว ต้องดูแลพาร์ตเนอร์และซัพพลายเออร์ในฐานะครอบครัวของเรา เครือซีพียังต้องตระหนักอยู่เสมอในฐานะที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถึงบทบาทในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมได้ ที่สำคัญเรายังเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรชั้นนำ” ศุภชัยกล่าว

 

นอกจากนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย หรือ GCNT ศุภชัยยังให้ความสำคัญไปถึงการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับสี่เสาหลัก ได้แก่ ปกป้องสิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชน, แรงงาน และต่อต้านการทุจริต เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับโลก ปัจจุบันมีสมาชิกจาก 40 บริษัทในประเทศทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักการของสหประชาชาติ ด้วยการกระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ ดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ การประชุมสัมมนา ปรึกษาหารือ และการอบรม รวมไปถึงความเชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ผ่านการสนับสนุนโครงการ One Young World ผลักดันและพัฒนาผู้นำรุ่นเยาว์ไปสู่เวทีโลก”

 

ประเด็นสำคัญที่ศุภชัยยกให้เป็นปัญหาเร่งด่วนก็คือ สถานการณ์ขยะและมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน ปีที่ผ่านมามีขยะมากกว่า 2 พันล้านตันต่อปี ถ้าไม่รีบแก้ไข ในปี 2050 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น 70% หรือ 3.4 พันล้านตันต่อปี

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ทุกปีมีผู้เสียชีวิต 7 ล้านคนจากโรคร้าย เช่น มะเร็ง หลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคหัวใจและโรคปอด ซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ โดย 90% ของจำนวนผู้เสียชีวิต พบในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจากโรงงานอุตสาหกรรมและภาคเกษตร สิ่งเหล่านี้กำลังจะบอกให้เรารู้ว่า มลพิษทางอากาศเป็นตัวการสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกำลังทำลายระบบนิเวศของโลก

 

ศุภชัยเน้นย้ำอีกว่า สิ่งที่องค์กรระดับผู้นำอย่างซีพีต้องทำก็คือ “เราต้องเป็นแบบอย่างในการเดินหน้าแก้ปัญหา เช่น ลดขยะ หรือทำให้ขยะเป็นศูนย์ ที่ CP Group เรามี ‘นโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน’ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นเตือนให้กลุ่มธุรกิจของเราตระหนักถึงความสำคัญของการนำบรรจุภัณฑ์มารีไซเคิล หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ” และยังมีอีกหลายวิสัยทัศน์ที่ซีพีให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม อาทิ การวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับใช้วิธีการทำฟาร์มแบบยั่งยืนที่ไม่มีขยะ การก้าวสู่การเป็นองค์กรปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นต้น

 

และเนื่องด้วยซีพีเป็นองค์กรที่มีบุคลากรจำนวนมาก บุคลากรถือเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำอย่างยั่งยืน เช่น CP Leadership Institute หรือสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่และผู้นำระดับหัวหน้างานกว่า 4,000 คนทุกปี ทั้งเรื่องการบริหารงาน ความรับผิดชอบต่อสังคมและจริยธรรม

 

ศุภชัยเชื่ออย่างยิ่งว่า “การมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยเครือซีพีได้ร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย ถึงแม้การประสบความสำเร็จในธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเป็นองค์กรที่ดีมีจริยธรรมและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุสได้พิสูจน์มาแล้ว และเครือซีพีมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ควบคู่กับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน

 

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการเยียวยาปัญหาของสังคมโลกร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ศุภชัยกล่าวทิ้งท้าย

 

 

นอกจากนั้น นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘ความท้าทายของธุรกิจเพื่อสังคม’ ยังชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นโมเดลเพื่อหาทางออกในการช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นแก้ปัญหาที่เป็น Pain Point ของสังคม ยึดแนวทางการรับรู้และความเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาในระดับสังคมอย่างยั่งยืน เช่น ส่งเสริมการปลูกกาแฟแทนการปลูกข้าวโพดให้คนในชุมชนทางภาคเหนือ เป็นต้น การทำธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

 

 

 

ก่อนปิดงาน Social Business Day 2019 ในครั้งนี้ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ขึ้นเวทีกล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมงาน ผู้สนับสนุน และสปีกเกอร์ทุกคนที่มาร่วมสร้างแนวคิดและให้แรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน “ไม่ว่าใครก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อย่าบอกว่าคุณไม่มีทางเลือก ทุกคนมีทางเลือก และ Social Business คือหนึ่งทางเลือกของคุณ มีเครื่องมือมากมายให้คุณเลือกใช้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ถึงเวลาที่จะมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมโลก ด้วยการ New Civilization ที่ไม่ได้วัดความสำเร็จด้วยสินทรัพย์หรือเงินตราเหมือนในอดีต แต่ความสำเร็จนั้นคือการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และมวลมนุษยชาติ ซึ่งจะสร้างคุณค่าและเป็นความสุขที่แท้จริง” ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส กล่าวทิ้งท้าย

 

หากสรุปรวมแก่นแกนของงานทั้งหมด ทุกคนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในสังคมของตนในแง่ Social Business คือทำอย่างไร จะมีการแก้ปัญหาสังคมด้วยวิธีที่ยั่งยืนได้อย่างไร ทางเลือกหนึ่งก็คือ การใช้โมเดลธุรกิจในการแก้ไขปัญหา หากภาคธุรกิจให้ความสนใจ เปลี่ยนจากการทำธุรกิจเพื่อมุ่งหวังผลกำไร หันมาใส่ใจช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น แรงกระเพื่อมเพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X