สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศชัดเจนว่า หากจำเป็น ธนาคารกลางก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ Credit Suisse อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับทางธนาคาร โดยรายงานข่าวล่าสุดระบุว่า ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ กำลังให้เงินกู้ช่วยเหลือแก่ Credit Suisse จำนวน 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส
ท่าทีและความเห็นจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ มีขึ้นหลังจากที่มีรายงานว่า Credit Suisse สถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของสวิตเซอร์แลนด์กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก จนต้องยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือต่อธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และ FINMA หน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ หวังหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะต้องล้มละลายตามสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐฯ ก่อนหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หุ้นธนาคารหลายแห่งในยุโรปหยุดการซื้อขายชั่วคราว หลังราคาหุ้นปรับตัวลงตอบรับความเสี่ยงร้ายแรงของ Credit Suisse ที่ดิ่งลง 25%
- SVB ล่มเป็นเหตุ ‘Moody’s’ หั่น Outlook ระบบธนาคารสหรัฐฯ เป็นลบ หวั่นเสถียรภาพสั่นคลอน
- รอดหวุดหวิด! ‘ปีเตอร์ ธีล’ ผู้บริหารกองทุน Founders Fund ถอนเงินฝากของกองทุน ออกมาจาก ‘SVB’ ได้ทัน ก่อนธนาคารปิดตัว
ทั้งนี้ นักลงทุนเริ่มพากันเทขายหุ้น Credit Suisse รวมทั้งหุ้นในกลุ่มธนาคาร หลัง Credit Suisse เปิดเผยตัวเลขขาดทุนสุทธิ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสในไตรมาส 4 ปี 2022 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1.32 พันล้านฟรังก์สวิส ส่งผลให้ยอดขาดทุนตลอดทั้งปีที่ผ่านมาของ Credit Suisse อยู่ที่ 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส
ยิ่งไปกว่านั้น แรงเทขายยังเพิ่มมากขึ้นเมื่อธนาคารซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์ (Saudi National Bank) หรือ SNB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Credit Suisse ประกาศว่า SNB ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อ Credit Suisse ได้อีก เนื่องจากจะทำให้ SNB ถือหุ้นใน Credit Suisse มากกว่า 10% ซึ่งผิดกฎระเบียบธนาคาร
นอกจากนักลงทุนจะแห่ขายหุ้นของ Credit Suisse แล้ว ข่าวอื้อฉาวของธนาคารเกี่ยวกับการทำผิดกฎระเบียบ จนเกิดความเสี่ยงในการโดนตั้งข้อหาดำเนินคดี ทำให้ลูกค้าขอธนาคารพร้อมใจกันไปแห่ถอนเงินฝากมากกว่า 1.10 แสนล้านฟรังก์สวิสในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมาเช่นกัน ส่งผลให้ระบบควบคุมทางการเงินภายในของธนาคารอ่อนแอจนถึงขีดสุด และทำให้ต้องตัดสินใจยื่นขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และ FINMA ในที่สุด
ทั้งนี้ แถลงการณ์ร่วมของธนาคารกลางสวิสกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์สวิส ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่วิกฤตธนาคารในสหรัฐฯ จะลุกลามบานปลายมากระทบกับสถาบันการเงินของสวิตเซอร์แลนด์โดยตรง ส่วนในกรณีของ Credit Suisse ยังคงอยู่ในความดูแลของธนาคารกลางที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเช่นเดียวกับสถาบันการเงินทุกแห่งของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรวมถึงการประกันความเสี่ยงอย่าง Credit Default Swap ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารกลางทุกประการ ซึ่งแน่นอนว่า หากจำเป็น ธนาคารกลางย่อมไม่ลังเลที่จะเข้าไปแทรกแซงเพื่อหนุนสภาพคล่องของ Credit Suisse
ท่าทีดังกล่าวของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสวิสในครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อหวังสยบความหวาดวิตกของบรรดานักลงทุน ที่กำลังอยู่ในช่วงอ่อนไหวจากรายงานการล้มละลายของธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ หลายแห่งติดต่อกัน ซึ่งกรณีของ Credit Suisse สถานะแต่เดิมของธนาคารก็อยู่ในสภาพที่น่ากังวลอยู่แล้ว
วิกฤตแบงก์ลามฉุดหุ้นทั้งภูมิภาค
โดยวิกฤตในภาคการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ ฉุดให้ดัชนีหุ้นทั่วตลาดยุโรปปรับตัวลดลงอย่างหนักเช่นกัน โดยเมื่อวานนี้ (15 มีนาคม) ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษลดลง 293 จุด หรือ 3.8% ทำสถิติดิ่งหนักสุดใน 1 วัน นับตั้งแต่ช่วงเริ่มวิกฤตโควิดระบาดในปี 2020
ด้านดัชนี DAX ของเยอรมนี ลดลงมากกว่า 3% ดัชนี CAC 40 ของฝรั่งเศสลดลงประมาณ 3.5% และดัชนี IBEX 35 ของสเปนปิดตลาดลดลงมากกว่า 4%
Andrew Kenningham นักวิเคราะห์จาก Capital Economics กล่าวว่า ปัญหาใน Credit Suisse ทำให้เกิดคำถามอีกครั้งว่านี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตอีกครั้ง หรือเป็นเพียงกรณีศึกษาใหม่ที่เกิดขึ้นอีกกรณีหนึ่งเท่านั้น
ขณะที่ Laurence Fink ผู้บริหารระดับสูงของ BlackRock ยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุน แสดงความเห็นต่อบรรดาลูกค้านักลงทุนของธนาคารว่า ขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงขอบเขตความเสียหายในภาคเงินตอนนี้ว่าเป็นวงกว้างเพียงใด ซึ่งสิ่งที่พอจะอุ่นใจได้บ้างก็คือการตอบสนองด้านกฎระเบียบที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และการดำเนินการอย่างเด็ดขาดได้ช่วยป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีการลุกลามไปในวงกว้าง
ขณะเดียวกัน นอกจากราคาหุ้นที่ปรับตัวดิ่งลงแรงจนทำสถิติต่ำสุดระลอกใหม่แล้ว มีรายงานว่า ค่าประกันความเสี่ยงตราสารหนี้ หรือ Credit Default Swaps (CDS) ของ Credit Suisse อายุ 5 ปีของธนาคาร ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจนทำสถิติแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่เช่นกันที่ 694.83 ดอลลาร์ เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งวัน (วันอังคารที่ 14 มีนาคม) มูลค่าของตราสารดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 88 ดอลลาร์ ขณะที่ราคา CDS ของ JPMorgan Chase อายุ 5 ปี อยู่ที่ 83 ดอลลาร์
รายงานระบุว่า CDS ของ Credit Suisse ขายหมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน
ทั้งนี้ สถิติสูงสุดเดิมของ CDS ของ Credit Suisse อยู่ที่ 255 ดอลลาร์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของ Credit Suisse อายุ 10 ปีก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 9% เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 มีนาคม)
CDS ถือเป็นตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ซื้อกับสถาบันการเงินที่เป็นบุคคลที่ 3 เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ โดย CDS ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยปกป้องการถือครองหุ้นของบริษัทหรือพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุน
อ้างอิง:
- https://www.bbc.co.uk/news/business-64964881
- https://www.cnbc.com/2023/03/15/european-markets-live-updates-stocks-data-news-and-earnings.html
- https://www.cnbc.com/2023/03/15/swiss-national-bank-says-it-will-provide-credit-suisse-with-liquidity-if-necessary.html
- https://www.bloomberg.com/news/live-blog/2023-03-15/credit-suisse-in-crisis?ai=eyJpc1N1YnNjcmliZWQiOmZhbHNlLCJhcnRpY2xlUmVhZCI6ZmFsc2UsImFydGljbGVDb3VudCI6MCwid2FsbEhlaWdodCI6MX0&leadSource=uverify%20wall&sref=CVqPBMVg