×

เสียงสะท้อนภาคประชาชนต่อการลักลอบขนย้าย ‘กากแคดเมียม’ บทพิสูจน์การแก้ปัญหาที่ต้องใช้ปัญญา

10.04.2024
  • LOADING...
กากแคดเมียม

จากการแถลงข่าวในประเด็น ‘กากแคดเมียม แค่ปิดโรงงาน / ปิดพื้นที่ / ขนย้าย เรื่องไม่จบ ถึงเวลาแก้ปัญหาแบบใช้ปัญญา’ ที่นำโดย เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) พร้อมด้วย ดาวัลย์ จันทรหัสดี ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม วานนี้ (9 เมษายน)

 

มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเพื่อฉายภาพสะท้อนถึงเรื่องร้อนในสังคมตอนนี้คือ กากแคดเมียมหลายหมื่นตันถูกเคลื่อนย้ายกระจัดกระจายไปในหลายส่วนของ 2 จังหวัดคือ สมุทรสาครและชลบุรี โดยที่ของเสียอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังจะมีความเสี่ยงสูงต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

 

THE STANDARD สรุปข้อมูล ข้อสังเกต และข้อเสนอจากเสียงของภาคประชาชนไว้ดังนี้

 

เหตุใดต้องมีการขุดกากแคดเมียมออกจากบ่อที่ถูกฝังกลบแล้วที่จังหวัดตาก เพื่อย้ายไปจังหวัดสมุทรสาคร

 

เพ็ญโฉมเริ่มต้นจากการปูข้อมูลพื้นฐานว่า บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) มีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก พื้นที่บริษัทรวมแล้วกว่า 2,500 ไร่ 

 

บริษัทดังกล่าวครอบคลุมการผลิตแร่สังกะสี แคดเมียม โลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอย และโลหะแคดเมียม ที่ผ่านมาของเสียจากการทำเหมืองหรือกากอันตรายได้ถูกฝังกลบใน 7 บ่อในพื้นที่ เป็นไปตามมาตรการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งบ่อที่ 7 ถูกฝังปิดเรียบร้อยเมื่อปี 2561

 

เพ็ญโฉมตั้งข้อสังเกตว่า การขนย้ายกากของเสียจากบ่อที่ฝังกลบเรียบร้อยแล้วจากจังหวัดตากไปจังหวัดสมุทรสาคร อาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ 2 ข้อ

 

  1. เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ แต่ติดเงื่อนไขที่พื้นที่ดังกล่าวด้านล่างมีการฝังกลบของเสียอุตสาหกรรมไปแล้ว
  2. เพื่อตอบสนองนโยบายเหมืองแร่จากการนำกากของเสียอุตสาหกรรม เปลี่ยนคำนิยามเป็น ‘วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว’ ผ่านการรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG)

 

เพ็ญโฉมขยายความว่า กากแคดเมียมมีพิษที่ร้ายแรงจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีค่ามหาศาลในการทำธุรกิจ หลังการหลอมแคดเมียม 1 ตัน กากจะมีมูลค่าอยู่ประมาณ 100,000 บาท

 

อีกประเด็นเสริมกันที่ทำให้การขนย้ายกากของเสียดังกล่าวทำได้ง่ายคือ ช่องลอด หรือทางรอดของกฎหมาย คือ EIA ไม่มีการติดตามลงโทษ, การอนุมัติการขนย้ายกากทำง่ายตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันเจ้าหน้าที่อนุมัติรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ที่สะดวกขึ้น, โรงหล่อหลอมไม่ต้องทำ EIA หรือมาตรการควบคุมมลพิษ และข้าราชการไทยเกรงอิทธิพลเอกชนและกลัวถูกฟ้องคดี

 

การเตรียมการขุด-ขน-ทิ้งกากแคดเมียม

 

เพ็ญโฉมเปิดเผยว่า บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตให้ทำการขุดและขนย้ายกากแคดเมียมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 โดยเริ่มขนย้ายจริงในเดือนกรกฎาคม 2566 มีการขนย้ายเที่ยวสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 รวมปริมาณกากที่ขนย้าย 13,832.10 ตัน รวมระยะเวลาขนย้ายประมาณ 8 เดือน

 

ส่วนบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ในที่นี้มีสถานะผู้บำบัด (รับกากแคดเมียม) ทำหน้าที่หล่อหลอมโลหะ มีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ทางบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ประกอบกิจการประเภทดังกล่าวมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี มีใบอนุญาต (ร.ง. 4) 3 ใบ คือ 

  • 26 เมษายน 2537 หล่อและหลอมโลหะ 
  • 26 ธันวาคม 2557 หลอมอะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมจากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม 
  • 21 เมษายน 2566 หลอมสังกะสีและแคดเมียม ผลิตโลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอย และโลหะแคดเมียม 

 

เพ็ญโฉมตั้งข้อสังเกตว่า ณ วันที่ 4 มีนาคม 2567 ไม่พบข้อมูลว่าบริษัทดังกล่าวมีการแจ้งประกอบกิจการต่ออุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งการไม่ได้แจ้งประกอบกิจการนั้น จะทำให้ไม่มีการตรวจสอบว่าบริษัทแห่งนี้มีความสามารถในการหล่อหลอมกากแคดเมียมหรือไม่ และในทางกฎหมายบริษัทนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้

 

ลำดับการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียม

 

สำหรับลำดับการขนย้ายกากแคดเมียมทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพ็ญศรีระบุว่า เริ่มจากการขนย้ายเที่ยวสุดท้ายออกจากจังหวัดตากเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 รวมปริมาณ 13,832.10 ตัน คาดว่ากากแคดเมียมส่งเข้าบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 

 

แต่เรื่องการขนย้ายกากปรากฏเป็นข่าวเมื่อเดือนเมษายน 2567 ผ่านการร้องเรียนของชาวบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ตรวจพบกากแคดเมียมถูกทิ้งไว้ 2,400 ตันในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นพบที่ตำบลคลองกิ่ว จังหวัดชลบุรี 3,000-7,000 ตัน และพบที่ตำบลบางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร อีก 1,034 ตัน

 

เพ็ญโฉมกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) อาจถือเป็นผู้ก่อมลพิษที่ต้องรับผลกระทบทั้งหมด เนื่องจากได้รับอนุญาตให้นำสิ่งปฏิกูล-วัสดุไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน ส่งไปยังบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ในนามผู้บำบัด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ซึ่งช่วงเวลาการอนุญาตคือ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ถึง 9 กรกฎาคม 2567 

 

“ทางบริษัทต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการขุดและการขนย้ายกากแคดเมียมจากต้นทางถึงปลายทางทุกจุดที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนค่าใช้จ่ายของทุกหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา” เพ็ญโฉมกล่าว

 

บทเรียนอันตรายที่ถูกถอด สะท้อนความล้มเหลวการบริหารงานของรัฐบาล

 

ในช่วงท้ายของการแถลง เพ็ญโฉมและดาวัลย์พูดถึงภาพสะท้อนความล้มเหลวของระบบการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมผ่านการตั้งคำถามว่า อุตสาหกรรมจังหวัดมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลเรื่องกากอันตรายหรือไม่ และเรื่องนี้จะสามารถขยายไปถึงเส้นทางการทุจริตต่อหรือไม่ รวมไปถึงระบบราชการไทยที่ปัจจุบันเน้นเพียงความรวดเร็วในขั้นตอน แต่ก่อให้เกิดความหละหลวมและทิ้งความสำคัญของสิ่งแวดล้อมหรือ

 

ข้อเสนอแนะภาคประชาชนมุ่งตรงทั้งสายพาน

 

เพ็ญโฉมฝากข้อเสนอถึงบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ว่า ขอให้ดำเนินการสนับสนุนการติดตามตรวจสอบให้ชัดเจนและครบถ้วนว่ากากแคดเมียมทั้งหมดกระจายไปพื้นที่ใดในสภาพใดบ้าง หากกากทั้งหมดยังคงอยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก ขอให้ดำเนินการประกาศและวางมาตรการป้องกันการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมติดตามเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าว

 

ตรวจสอบกระบวนการดำเนินการที่เกิดขึ้นทั้งในประเด็นด้านกฎหมายหลักวิชาการ และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในกรณีนี้ และให้รายงานเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา

 

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายและระบบ เพ็ญโฉมระบุว่า ขอให้รัฐบาลทบทวนและปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมทั้งระบบ ณ วันนี้ต้องยอมรับความล้มเหลวและช่องโหว่ของระบบในปัจจุบันที่เน้นอำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่ภาคเอกชนหรือโรงงานในการย้ายกำจัดกาก โดยไม่คำนึงถึงผลทางสิ่งแวดล้อม

 

ระงับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิลประเภทต่างๆ โดยเร่งทบทวนนโยบายและมาตรการส่งเสริมการทำเหมืองจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายในการจัดการสิ่งแวดล้อม

 

ปรับปรุงระบบการควบคุมมลพิษการรักษาสภาพแวดล้อม พร้อมยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมการควบคุมมลพิษ, สนับสนุนกฎหมายร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. …. (PRTR) และสำรวจ-ขึ้นทะเบียนพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษที่เสียหายจากการฝังกลบ การหล่อหลอม และการรีไซเคิลของเสียอันตราย

 

เพ็ญโฉมกล่าวต่อว่า ในภาพรวมอื่นๆ ที่อยากเสนอแนะคือ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ที่ทำให้ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับอุตสาหกรรมอันตรายบางประเภท เช่น การรีไซเคิลของเสียโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ, การปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมการอนุญาตการลงทุนอุตสาหกรรม ควรจะให้อำนาจกรมควบคุมมลพิษมากกว่านี้

 

เพ็ญโฉมกล่าวทิ้งท้ายว่า นายกรัฐมนตรีควรจะให้ความสำคัญและใส่ใจกับระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ากับการแก้ปัญหาในภาคเศรษฐกิจ เพราะเรื่องนี้จะกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising