วันนี้ (14 สิงหาคม) ณีรนุช อาภาจรัส ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมอนามัย กล่าวว่า การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบเหตุนั้น ถือเป็นเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจตราเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังแล้วพบเห็นการกระทำดังกล่าวด้วยตนเอง สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ
หากเจ้าพนักงานตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ไม่เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นยุติเรื่อง แต่หากพบว่าการกระทำนั้นเข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการหรือวิธีการที่ใช้การแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้นระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด
ณีรนุชกล่าวต่อไปว่า จากนั้นเจ้าพนักงานจะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำที่กำหนด หากผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ ในกรณีผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ก่อเหตุรำคาญปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบ หรือยุติเรื่องต่อไป
“ทั้งนี้ วิธีและความพร้อมในการออกคำสั่งฯ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นได้วางระบบตรวจตราเฝ้าระวังในพื้นที่ทั่วไป ตรวจเตือนในพื้นที่หรือกิจการกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจะกระทำ และแนะนำตรวจสอบเมื่อได้รับแจ้งเหตุ เพราะมีแบบคำสั่งฯ เป็นตัวอย่างในคู่มือของกรมอนามัย ที่ท้องถิ่นต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่ตรวจพบได้เลย ส่วนการป้องกันการสูบในบุคคล เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 เป็นกฎหมายที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชา ซึ่งเป็นสมุนไพรควบคุม โดยควบคุมการใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร อยู่แล้ว”