จากสถานการณ์เปลี่ยนโลกอย่างวิกฤตโควิค-19 ที่พลิกชะตาหลายธุรกิจภายในชั่วพริบตา โลกหลังจากนี้ไปจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และไม่มีสูตรตายตัวอีกต่อไป สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำ คงไม่ใช่แค่การผลักดันให้ธุรกิจรอดจากแค่สถานการณ์โควิด-19 อีกต่อไป แต่คือการหาหนทางรอดให้ได้อย่างยั่งยืนในทุกสถานการณ์ ถึงเวลาที่ SMEs ต้องเร่งเครื่อง ‘Reskill’ ตนเองและทีมงาน โดยเฉพาะในด้าน Digital Transformation พร้อมปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ และถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของธุรกิจรายอื่นๆ มาเป็นแสงส่องสว่างให้ธุรกิจของเราเดินต่อไปได้อย่างไม่หลงทาง
แนวคิดจากผู้ประกอบการ SMEs 5 รายที่ได้รางวัล ‘Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 16’ จะเป็นคำตอบที่ดีว่าจากนี้ไปเราจะรับมืออย่างไรในยุค Next Normal
‘นิธิฟู้ดส์’ ฝ่าโควิด-19 ล้มแล้วลุกให้เร็ว
สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ
บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด
ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องเทศ และพัฒนาเนื้อจากพืชแบรนด์ ‘Let’s Plant Meat’ เบอร์เกอร์เนื้อจากพืชรายแรกในประเทศไทย
“ผมมองว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบ Supply Chain อุตสาหกรรมอาหารไปในทิศทางบวก เนื่องจากทั่วโลกต้องมองหา Second Sourcing ของแหล่งวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ตอบโจทย์ทั่วโลกได้ ด้วยความสมบูรณ์พร้อมของผลิตผลทางการเกษตร และความไว้วางใจได้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นของคนไทย แต่สิ่งที่ท้าทายคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ยอดขายนิธิฟู้ดส์ดีดขึ้น 40-50% ในช่วงที่มีการตุนสินค้า แต่พอมิถุนายนกลับเป็นเดือนที่มีรายได้ลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ผมมองว่าในความท้าทายก็มีโอกาสซ่อนอยู่ เมื่อเจอวิกฤตสิ่งที่ทำคือล้มแล้วลุกให้เร็ว
เราปรับกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้า ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการบริโภคแบบใหม่ และรักษากระแสเงินสด กระจายความเสี่ยงไปยังตลาดที่หลากหลาย ขยายกำไรด้วยการเรียนรู้วิจัยพัฒนานำมาต่อยอดสินค้า ศึกษาโมเมนตัมของธุรกิจเพื่อนำไปสู่การปรับตัว เราสังเกตเมกะเทรนด์ และตัดสินใจทำในสิ่งที่ยากอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (Plant-Based Meat) ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาผลิตสินค้าเพื่อสนองตอบเทรนด์โลก ทำให้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะเดิมเนื้อสัตว์นั้นมีข้อกำหนดด้านสุขอนามัยที่เคร่งครัด แต่เมื่อเป็นเนื้อที่ผลิตจากพืชจึงมีข้อกำหนดน้อยกว่า ประกอบกับเทรนด์การบริโภคที่รับผิดชอบใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโต การรับประทานเนื้อจากพืชสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าเนื้อสัตว์ นี่จึงเป็นโอกาสใหม่สำหรับเราด้วย ทำให้เรากล้าที่จะกระโจนลงมาในตลาด เพราะมองเห็นว่ามีความเป็นไปได้”
หลักเศรษฐกิจพอเพียง คัมภีร์สู่ ‘Next Normal’
“ไม่ว่าจะปีที่ผ่านมาหรือปี 2021 นิธิฟู้ดส์ยังยึดหลักการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นบรรทัดฐาน เพื่อเติบโตได้อย่างยั่งยืน กล้าที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆ มาต่อยอดธุรกิจ เพราะการไม่ลองลงมือทำอะไรใหม่ๆ เลย นั่นคือความเสี่ยง และที่สำคัญการจะอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ต้องมุ่งการรักษาชื่อเสียงและคุณธรรมมากกว่าการแสวงหาผลกำไร และต้องสื่อสารให้ทีมงานรู้ว่าองค์กรกำลังจะเดินไปในทิศทางไหน เพื่อจะเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน”
‘โอ้กะจู๋’ รอดได้เริ่มที่ Mindset เชื่อทุกปัญหามีทางออก
ชลากร เอกชัยพัฒนกุล CEO
บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด
ผู้ผลิตและจำหน่ายผักสลัดออร์แกนิกและร้านอาหารแบรนด์ ‘โอ้กะจู๋’
“สมัยก่อนโอ้กะจู๋เน้นให้บริการโดยเปิดสาขาให้ลูกค้ามารับประทานที่ร้าน เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เราจึงได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ เพราะร้านอาหารเปิดให้บริการไม่ได้ ผักที่ปลูกไว้ก็เหลือค้างสต๊อก ไหนจะพนักงานที่ต้องดูแล ผมทิ้งทีมงานที่อยู่กับผมไปไม่ได้ นี่คือแรงผลักดันให้เราต้องรอด ผมเชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก ไม่ว่าจะการดำเนินชีวิตหรือการทำธุรกิจก็คือการแก้ปัญหา เราต้องอย่ากลัวปัญหา แต่ต้องเรียนรู้เพื่อแก้ไข ตอนนั้นตัดสินใจเข้าสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรีทันที ผมกับทีมงานมานั่งคุยกันว่าเราจะผ่านไปด้วยกันได้อย่างไร ทุกคนช่วยกันอย่างเต็มกำลัง ใครมีมอเตอร์ไซค์ก็อาสาช่วยส่งเดลิเวอรี โดยไม่คิดจะเหน็ดเหนื่อย มันคือพลังทีมเวิร์กที่ทำให้บริษัทข้ามพ้นวิกฤตไปได้
ขายไม่ได้ ก็มอบ ‘ให้’ สังคมแทน
“เราปลูกผักเหมือนกับการปลูกให้คนในครอบครัวรับประทาน นั่นคือความจริงใจที่เรามีต่อผู้บริโภค เช่นเดียวกับตอนที่เกิดโควิด-19 นอกจากให้บริการเดลิเวอรีแล้ว เรายังนำสินค้าที่ไม่มีโอกาสจำหน่ายไปทำประโยชน์ในโครงการ ‘ปันฮัก’ โดยการนำไปแจกหมอ พยาบาล ซึ่งทำหน้าที่หนักมาก ให้ได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นการให้เพื่อสังคม นั่นคือตัวตนของเรา คือสิ่งที่ทำแล้วยั่งยืน ผมคิดว่านั่นคือความจริงใจที่ลูกค้าและสังคมสัมผัสได้ จึงให้การสนับสนุนแบรนด์โอ้กะจู๋เสมอมา”
‘UF’ สร้างภูมิคุ้มกันวิกฤตด้วยความอดทน
ลาวัลย์ ศรีรุ่งเรืองจิต กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (UF)
ผู้ผลิตเส้นบะหมี่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งสาลี ภายใต้แบรนด์หมื่นลี้ มัมปูกุ เส้นเงิน เส้นไหม โดยไม่ใช้วัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์
“เชื่อว่าทุกธุรกิจต้องเคยผ่านปัญหาต่างๆ มาแล้วก่อนเกิดโควิด-19 บริษัทของเราเองก็เช่นกัน เราเจอปัญหาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง สมัยก่อนเส้นบะหมี่ที่ไม่ใส่สีสังเคราะห์ก็จะสีไม่เหลืองจัดจ้าน สินค้าขายไม่ได้เพราะตลาดไม่คุ้น กัดฟันสู้อยู่ 3 ปี เกือบหมดตัว จนตอนหลังได้เชลล์ชวนชิมและเครื่องหมายรับรองฮาลาลมาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้ ที่ผ่านมาคือภูมิคุ้มกัน
ผลกระทบจากโควิด-19 กระตุ้นเทรนด์การดูแลสุขภาพให้อยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คน โลกบังคับให้คนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต หันมาทำอาหารทานเองที่บ้าน และใส่ใจคัดสรรดูทุกๆ ส่วนผสมในการผลิต กลายเป็นวิถีใหม่ที่สร้างโอกาสให้สินค้าของเรา เพราะสินค้าของเราทุกชนิดไม่ผสมวัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ มุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้สินค้าที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค นี่คือวิชันตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งธุรกิจ และในวันนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเรามาถูกทาง
แม้โลกเปลี่ยน แต่สิ่งเดียวที่ต้องไม่เปลี่ยนคือ ‘ความซื่อสัตย์’
“วิกฤตโควิด-19 เป็นแบบทดสอบความพร้อมของ SMEs ไทย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด แต่ท่ามกลางวิกฤตต้องไม่หยุดพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการลูกค้า สเตปของ Next Normal ผู้ประกอบการต้องตามให้ทันนวัตกรรม ค้นหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาบุคลากร ให้เขามี Multi Skill และเติบโตขึ้น สร้างทีมเวิร์กที่ดี ซึ่งทำให้ธุรกิจไปต่อได้ ที่สำคัญเมื่อวิกฤตมา ให้เรามีสติ ปรับตัวให้เร็ว และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด จงยึดมั่นในความซื่อสัตย์ที่มีต่อลูกค้าเสมอ เพราะเป็นกุญแจสำคัญที่นำพาธุรกิจให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน”
‘UAE’ ใช้วิกฤตสร้างโอกาสปั้นแบรนด์ให้แข็งแกร่ง
ศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์จำกัด
ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และผู้นำการให้บริการสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
“UAE เสมือนเป็น Solution Provider ของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ที่พร้อมให้บริการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ในด้านธุรกิจแม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคอร์ปอเรตใหญ่ โครงการยังดำเนินการต่อได้ แต่สิ่งที่ UAE ต้องเผชิญครั้งนี้นั่นคือ การจัดการรับมือกับวิกฤตภายในองค์กร เมื่อพบว่ามีพนักงานติดเชื้อ
สิ่งที่เร่งทำคือรีบป้องกันพนักงานรายอื่นๆ และต้องรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าให้ได้ เพราะบริษัทของเราต้องเดินทางติดต่อกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน
เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยตั้งวอร์รูมขึ้นมาบริหารจัดการสถานการณ์ ประสานกรมควบคุมโรคมาตรวจคัดกรองให้กับพนักงานที่มีความเสี่ยง และให้การดูแลผู้ที่ติดเชื้ออย่างดีที่สุด เน้นการดำเนินการที่โปร่งใส ด้วยการให้ข้อมูลกับลูกค้า คู่ค้า และแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างชัดเจน เพราะเราห่วงผลกระทบที่บุคคลอื่นอาจจะได้รับต่อจากพนักงานของเรา เราขอเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยป้องกันการลุกลามของปัญหาการแพร่ระบาดครั้งนี้ ซึ่งทำให้ UAE ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเหตุการณ์นี้
จะก้าวไปข้างหน้า ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ในยุค Next Normal มองว่าทุกธุรกิจต้องดึงจุดแข็งของตัวเองออกมา พัฒนาความเป็นมืออาชีพให้ได้ และมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้ได้ และการเป็นผู้บริหารองค์กร เมื่อเกิดวิกฤตต้องคิด How to ว่าจะทำอย่างไรต่อ ทั้งกับลูกค้า คู่ค้า และคนในองค์กร การรอดจากวิกฤตได้ในความหมายของ UAE คือการรอดโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราต้องรอดไปด้วยกัน”
‘นวกาญจน์โลหะชลบุรี’ ปลุกพลังใจให้แข็งกว่าเหล็ก
ภูริทัต และอัชฌาวดี เจียมบรรจง กรรมการผู้จัดการ
บริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด
ผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อฝาท่อระบายน้ำที่มีลวดลายสีสันเป็นรายแรกของประเทศไทย
“ แม้อุตสาหกรรมการผลิตฝาท่อจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ถ้าวิกฤตยืดเยื้อก็เป็นไปได้ว่างบประมาณที่ลูกค้าวางไว้สำหรับการสั่งผลิตก็อาจจะต้องถูกปรับไปกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ แทน นวกาญจน์ต้องยอมรับและเห็นใจลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ เราต้องผ่านวิกฤตไปได้พร้อมๆ กัน สถานการณ์ครั้งนี้สอนให้เราไม่ประมาท และอย่าหยุดนิ่งที่จะพัฒนา เรานำเอาจุดแข็งเรื่องการหล่อเหล็กที่มีมาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ามีคุณค่า ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เรานำเอานวัตกรรมมาสร้างสรรค์ฝาท่อให้มีลวดลายสีสันสะท้อนอัตลักษณ์ของสถานที่หรือท้องถิ่นต่างๆ ให้กลายเป็นสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ยุค Digital ด้วยการฝัง QR Code บนฝาท่อ หรือ AR (Augmented Reality)
ปลุกพลังสร้างไอเดีย โฟกัสเฉพาะปัญหาที่แก้ได้
อย่าจมอยู่กับปัญหานาน คิดเสมอว่าเราไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ต้องเผชิญปัญหา ปลุกพลังขึ้นมาสร้างไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ เตรียมพร้อมสู่ Next Normal เราไม่สามารถรู้ได้ว่าโควิด-19 จะอยู่นานแค่ไหน SMEs จึงไม่ควรหยุดแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ จากช่องว่างของการเปลี่ยนแปลง ด้านสายการผลิตก็มองหาซัพพลายเออร์ที่ไว้ใจได้มากขึ้น ฝากถึงผู้ประกอบการท่านอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาใดๆ อยู่ก็ตาม ให้แยกปัญหาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ ‘แก้ไม่ได้’ กับส่วนที่ ‘แก้ได้’ และให้โฟกัสในส่วนที่แก้ไขได้อย่างทันท่วงที”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์