วันนี้ (7 มกราคม) ทางคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย (TBA), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารออมสิน
ทั้งนี้มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย เกิดขึ้นเพื่อดูแลผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการค้าโลกที่ชะลอตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยออกนโยบายด้านเงินทุน เช่น โครงการสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง การลงทุน รวมถึงการปรับภาษีในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กลุ่ม SMEs ที่ต้องการสภาพคล่อง ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้
- โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ทาง บสย. มีวงเงินค้ำประกัน 60,000 ล้านบาท (จะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกิน 40% ของวงเงินค้ำประกัน) ซึ่งจะค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพ แต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
- โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ผ่านธนาคารออมสินซึ่งมีวงเงินโครงการ 15,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ 0.1% ต่อปี และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs 4% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี โดยเพิ่มเงื่อนไขทั้งการให้กู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างเดียว คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อในธุรกิจที่เป็น Supply Chain และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve และสามารถให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่เป็น NPLs ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
- โครงการ GSB SMEs Extra Liquidity โดยธนาคารออมสินจะให้สินเชื่อเพื่อผ่อนปรนภาระการจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี (MLR) -1% ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
2. กลุ่ม SMEs ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที
จะใช้ขยายระยะเวลาการค้ำประกันโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 ออกไปอีก 5 ปี โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับ SMEs และจะให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
3. กลุ่ม SMEs ที่มีศักยภาพจะมีมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ที่ออกมาแล้ว ได้แก่
- โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ซึ่งให้สินเชื่อทั้ง SMEs ที่มีศักยภาพ และกลุ่มที่เป็น NPLs แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว
- โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของ ธพว. วงเงินคงเหลือ 20,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้ลูกหนี้ SMEs ที่เป็น NPLs ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วสามารถเข้าโครงการได้
- โครงการสินเชื่อ SMEs ประชารัฐสร้างไทยของธนาคารออมสิน มีวงเงินคงเหลือ 45,000 ล้านบาท (ณ 16 ธันวาคม 2562) คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปีใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี
- โครงการสินเชื่อกรุงไทย SME ทางธนาคารกรุงไทยเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 10,000 ล้านบาท เป็น 60,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี
- โครงการ PGS 8 ของ บสย. สำหรับวงเงินค้ำประกันโครงการที่เหลือ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับ SMEs ก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี รวมถึงขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลีสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริงได้อีกด้วย
- โครงการ Direct Guarantee ของ บสย. วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท โดยวงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย. เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (Risk Based Pricing) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
4. มาตรการอื่นๆ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันไม่ให้เป็น NPLs และกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPLs และมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
- สมาคมธนาคารไทย จากความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะกำหนดเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้และลดดอกเบี้ยเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
- มาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ
2. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับการโอนหรือขายทรัพย์สิน การให้บริการ และการกระทำตราสารเพื่อชำระหนี้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน (เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ)
4. ยกเว้นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนดสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
5. ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุดจาก 2% เหลือ 0.01% สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์