ตามปกติทั่วไป คำว่า ‘คนแปลกหน้าใต้หลังคาเดียวกัน’ น่าจะหมายถึงคำโปรยเก๋ๆ ในหนังหรือซีรีส์โรแมนติก-คอเมดี้สักเรื่องที่จับเอาคนไม่รู้จักมาสานสัมพันธ์ร่วมกันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง
แต่ไม่ใช่กับ Small Talk ภาพยนตร์สารคดีของผู้กำกับสาวชาวไต้หวันอย่าง หวงหุ่ยเจิน ที่เลือกใช้คอนเซปต์เดียวกัน เพียงแต่ตัวเอกที่มารับบทคนแปลกหน้าที่ว่าคือตัวเธอและ อาหนู ผู้เป็นแม่แท้ๆ ของเธอเอง
ทั้งๆ ที่อาศัยอยู่ด้วยกันเกือบตลอด แต่หวงหุ่ยเจินกลับรู้สึกว่าตั้งแต่เล็กจนโต เธอแทบไม่รู้จักตัวตนของอาหนูในฐานะผู้ให้กำเนิด นอกจากความทรงเก่าๆ เรื่องแม่เป็นเลสเบี้ยน ชอบออกไปนอกบ้านเพื่อเล่นไพ่กับเพื่อน และอาหารมื้อเช้าที่แม่ทำทิ้งไว้ให้ พวกเธอก็แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์อย่างอื่นกันอีกเลย
ที่ผ่านมาหวงหุ่ยเจินเคยคิดหาเหตุผลด้วยตัวเองมาตลอดเกือบ 40 ปีว่าอาจเป็นเพราะเธอไม่ชอบที่ต้องช่วยแม่ทำงานในคณะนักร้องงานศพจนไม่ได้ไปโรงเรียน หรือเพราะอดีตอันแสนขมขื่นที่แม่แบกรับเอาไว้จนทำให้พวกเธอไม่อาจเปิดใจให้กัน ไปจนกระทั่งคิดว่าแม่คงเกลียดเธอถึงได้แสดงท่าทางหมางเมินออกมาเช่นนี้
โดยเฉพาะอดีตอันแสนดำมืดที่อาหนูไม่เคยปริปากบอก และเธอไม่เคยกล้ามากพอที่จะถามความจริงเรื่องนั้น จนกระทั่งปล่อยให้ทุกอย่างค้างคาต่อไปไม่ได้ และตัดสินใจ ‘ทำความรู้จัก’ กับคนแปลกหน้าที่เธอเรียกว่า ‘แม่’ อีกครั้งผ่านการพูดคุยอย่างเปิดใจเป็นครั้งแรก และทุกคำพูด ทุกการเคลื่อนไหว ถูกเธอบันทึกเอาไว้จนกลายมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้
อย่างที่บอกว่านี่ไม่ใช่พล็อตหนังโรแมนติก-คอเมดี้ แต่เป็น ‘ความจริง’ แสนหม่นที่เริ่มต้นจากปัญหาความสัมพันธ์ของสองแม่ลูก แต่ขยายขอบเขตไปถึงปัญหาทางสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ การคลุมถุงชน การทำร้ายร่างกายในครอบครัว และความเท่าเทียมของ LGBT
อาหนูคือคนที่รู้จักรสนิยมทางเพศว่าชอบผู้หญิงมาตั้งแต่เด็ก แต่สุดท้ายไม่มีคนในครอบครัวรับรู้เรื่องนั้น (หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้) เธอถูกคลุมถุงชนให้แต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งโดยไม่มีสิทธิ์ต่อรอง และสุดท้ายผู้ชายคนนั้นก็กลายเป็นคนทำลายชีวิตของเธอ ในวันนั้นเธอทำอะไรไม่ได้นอกจากพาลูกสาวทั้งสองหนีจากผู้ชายคนนั้นให้ไกลที่สุด ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเธอไม่อยากมีลูก แต่ก็รู้ว่าไม่มีทางทิ้งเด็กสองคนนี้ได้ลง และเป็นจุดทำให้ความสัมพันธ์ ‘คนแปลกหน้าใต้หลังคาเดียวกัน’ เริ่มต้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถ้ามองแบบเผินๆ Small Talk คือหนังที่ง่ายมาก เพราะทั้งเรื่องแทบไม่มีอะไรนอกจากการนั่งพูดคุยระหว่างหวงหุ่ยเจินกับอาหนู (มี อาผิง ลูกของหวงหุ่ยเจิน แทรกมาเรียกรอยยิ้มเป็นระยะ) ฟุตเทจเก่าๆ ไม่กี่ตอน และการสัมภาษณ์คนใกล้ชิดอาหนูทั้งพี่น้องอีก 3 คนและบรรดาแฟนเก่าของเธอ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานปกติที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งพึงจะมีอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ยากคือ ‘ความกล้า’ ของผู้กำกับที่ทั้งกล้าถาม กล้าฟัง และกล้ายอมรับ ‘ความจริง’ ทั้งหมด และยอมที่จะนำเสนอออกมาให้คนอื่นรับรู้
อย่างแรกคือการกล้าถามคนอย่างอาหนูที่บางครั้งก็อารมณ์คุ้มดีคุ้มร้าย ปากหนัก ยิ้มยาก (ยกเว้นเวลาอยู่กับเพื่อน) ให้สามารถพูดสิ่งที่ปกปิดเอาไว้ตลอดหลายสิบปีออกมาได้
อย่างที่สองที่เราคิดว่ายากยิ่งกว่าคือนอกจากกล้าถาม หวงหุ่ยเจินต้องกล้ามากๆ ในฐานะคนฟัง เพราะเธอรู้ดีว่าความจริงหลายอย่างต้องทำให้เธอเจ็บปวด แต่เธอเลือกที่จะได้ยินเรื่องทั้งหมดจากปากแม่ด้วยตัวเอง
อย่างสุดท้ายที่ยากยิ่งกว่าความกล้าทั้งสองข้อรวมกันคือหวงหุ่ยเจินกล้ายอมรับความจริง มีความลับดำมืดบางอย่างที่เธอตัดสินใจเปิดเผยออกมาในการสนทนาครั้งสุดท้ายที่เป็นเหมือนระเบิดปรมาณูที่ปล่อยลงมา ‘ตูม’ เดียวแล้วทำลายล้างทุกอย่างด้วยความรุนแรง และทั้งอาหนูรวมทั้งคนดูทำได้เพียงแค่นั่งนิ่งๆ
ถ้ามองในแง่ภาพยนตร์สารคดี หวงหุ่ยเจินไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ผู้กำกับ แต่เธอยังถูกนำเสนอในฐานะ ‘ซับเจกต์’ เช่นเดียวกับอาหนู ยิ่งพวกเธอพูดคุยทำความรู้จักกันมากขึ้นเท่าไร คนที่สังเกตการณ์อยู่ข้างนอกก็ยิ่งรู้จักและเจ็บปวดไปกับสิ่งที่พวกเธอต้องเจอมากขึ้นเท่านั้น
แต่อย่างน้อยเราคิดว่าหวงหุ่ยเจินตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกนำเสนอเรื่องนี้ออกมา เพราะอย่างน้อยการพูดคุยแบบเปิดอกกับอาหนูเหมือนการทลายกำแพงหนาที่กั้นพวกเธอเอาไว้มาเกือบ 30 ปี แน่นอนว่าระหว่างทุบต้องใช้เวลานานและบาดเจ็บบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ก็คุ้มค่า เพราะเมื่อกำแพงทลายลง พวกเธอก็สามารถเรียกและบอกรักกันในฐานะแม่ลูกได้จริงๆ
ไม่ใช่เพียงแค่ในฐานะ ‘คนแปลกหน้า’ อีกต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- Small Talk จะมีรอบฉายอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน เวลา 21.00 น.
- Taiwan Documentary Film Festival in Bangkok 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2561 ณ โรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า สามารถตรวจสอบรอบฉายพร้อมซื้อบัตรชมภาพยนตร์ในเทศกาลได้ที่ www.sfcinemacity.com/movies/film-festival และ web.facebook.com/DocumentaryClubTH/