‘ปีศาจโควิด-19 อาจไม่น่ากลัวเท่าพิษเศรษฐกิจ’ ผู้เขียนได้ยินประโยคนี้หลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 3 และสามารถควบคุมตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 สำเร็จแล้ว แต่ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยจากวิกฤตครั้งนี้ก็ยังต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะความต้องการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย เงินสดติดตัวไว้ซื้อของใช้จำเป็น หรือแม้กระทั่งอาหารปรุงสุกให้อิ่มท้องเพียงหนึ่งมื้อ
‘ถนัดช่วย’ กลุ่มอาสาสมัครที่ก่อตั้งขึ้นมาในยุคโควิด-19 ริเริ่มโดย สุ-สุทิพยาพร ธนะโชติ และ ชู้ต-ธนัสธรณ์ กังวาลสงค์วงษ์ พวกเขาคือกลุ่มคนตัวเล็กที่มีเป้าหมายใหญ่ อยากกระจายความช่วยเหลือเข้าถึงชุมชนในกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด พร้อมเป็นกระบอกเสียงให้ผู้สนใจมาร่วมภารกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน
ก่อนจะมาเป็น ‘ถนัดช่วย’
สุ: แต่เดิมสุและเพื่อนๆ ทำ Facebook Fanpage ชื่อ ถนัดชิม อยู่แล้ว เป็นเพจรีวิวอาหารที่พวกเราเริ่มทำด้วยกันมาตั้งแต่สมัยเรียนปี 4 พอเรียนจบ สุก็ทำอาชีพฟู้ดบล็อกเกอร์เต็มตัว มีรายได้จากร้านที่มาจ้างเพจเราไปรีวิว ทำได้ประมาณ 3 ปี ถนัดชิมก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนมาเจอโควิด-19
จริงๆ เราไม่ได้กระทบอะไรมาก เพราะร้านอาหารที่ปรับตัวมาขายแบบออนไลน์หรือ Takeaway ก็ยังให้เราช่วยโปรโมตอยู่ ซึ่งเราก็จะพูดคุยถามไถ่ร้านที่สนิทกันตลอด ทำให้รู้เลยว่าร้านอาหารได้รับผลกระทบหนัก อย่างวันแรกที่ข่าวออกว่ามีกลุ่มคนติดโควิด-19 จากย่านทองหล่อและเอกมัย ร้านฟีดแบ็กเราทันทีว่ายอดตกฮวบเลย จากขายได้วันละเกือบแสน เหลือยอดไม่กี่พันบาท เราในฐานะคนทำสื่อ ก็พยายามจัดโปรโมชันลดราคาพิเศษให้ร้านค้าที่ต้องการรีวิว และเปิดพื้นที่ใน Instragram Story ให้ร้านน้องใหม่โปรโมตฟรีด้วยอีกทาง
คนละเล็กละน้อย ก็ถือว่าได้ช่วยกัน
สุ: ก่อนหน้าที่จะมีวิกฤตครั้งนี้ ถนัดชิมเคยมีแผนอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยสังคมอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเราโฟกัสเรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังวางแผนสร้างกิจกรรมที่ทำให้คนใช้พลาสติกน้อยลง แต่พอมาเจอโควิด-19 เราก็พับโครงการนั้นไปก่อน และมาคิดกันต่อว่า ในฐานะฟู้ดบล็อกเกอร์ เราจะทำอะไรได้บ้าง
แม่สุชอบทำทานแจกของอยู่แล้ว เราเห็นเขาไปแจกอาหารตามชุมชนต่างๆ เราซึมซับท่านมาตลอด และอยากลองทำบ้าง คิดว่าน่าจะดีถ้าเราได้เอาอาหารปรุงสุกไปแจกผู้คน ช่วยพวกเขาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นอาหารที่ช่วยให้อิ่มท้องได้หนึ่งมื้อ หรือเป็นอาหารแห้งที่พวกเขาต้องซื้อเข้าบ้านในแต่ละสัปดาห์ ก็ถือว่าได้ช่วยกันคนละเล็กคนละน้อย
ครั้งแรกที่ไปแจกอาหาร บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง
สุ: เราไปแจกที่เขตสวนหลวง เริ่มต้นเตรียมตัวด้วยการติดต่อสำนักงานเขตเพื่อให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ผู้นำชุมชนจะรู้ว่าใครที่ควรได้รับของ เขาก็จะช่วยจัดคิวมาให้เรา
ส่วนฝั่งเราก็กระจายเรื่องนี้ไปถึงคนรู้จัก เปิดกว้างสำหรับใครที่อยากมาร่วมโครงการกับถนัดช่วย เพราะมีหลายคนที่อยากทำ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เราเลยตั้งใจให้เพจเป็นเหมือนศูนย์กลางกระจายความช่วยเหลือ พอคนรู้ข่าว พวกเขาก็เริ่มเอาอาหารมาสมทบ ใครมีอะไรก็เอาสิ่งนั้นมาแบ่งปัน บางคนเอามังคุดเอากล้วยมาฝากให้เราช่วยกระจายต่อไปถึงจุดแจกก็มี
ชู้ต: ก่อนหน้าวันที่แจก เราประกาศว่ามีอาหารทั้งหมด 100 ชุด และจะเริ่มคิวแรกตอน 7 โมงเช้า แต่พอไปถึงปรากฏว่าคนมากันครบตามจำนวนตั้งแต่ยังไม่เริ่มแจก เขามานั่งรอกันตั้งแต่ตี 5 คนที่ 101 มาหลังจากนั้นแค่นิดเดียวก็ไม่ทันแล้ว
สิ่งที่ผมได้จากกิจกรรมครั้งแรก มันทำให้เราเห็นถึงผลกระทบจากโควิด-19 ในมุมที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น บางคนแต่งตัวเหมือนคนทำงานปกติ ระหว่างนั่งรอก็เล่นสมาร์ทโฟน แต่เขายอมมาต่อคิวรอถึง 2 ชั่วโมง เพื่อแลกกับอาหารเพียง 1 มื้อ เข้าใจว่าเขาอาจไม่ถึงขั้นไม่มีเงินใช้เลย แต่ถ้ามันทำให้เขาแบ่งเบาเงินส่วนนี้ไปใช้เงินกับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นได้มากขึ้น เขาก็จะทำ
สุ: ทุกสัปดาห์สุจะลงตารางแจ้งว่า ครั้งต่อไปเราจะไปทำที่เขตไหน จากช่วงแรกที่ทำกันเองในกลุ่มเพื่อน ตอนนี้มีคนไม่รู้จักเข้ามาช่วยเยอะมาก ครั้งที่ไปทำกิจกรรมที่เขตบางนา จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งใจว่าจะแจก 100 ชุด ก็มีพี่ๆ เพื่อนๆ นำอาหารมาสมทบร่วมกันจนยอดพุ่งไปเกือบ 300 ชุด บางคนเอาอาหารมา บางคนเอาหน้ากากมา ทุกคนช่วยกันเต็มที่
ชู้ต: นอกจากการสร้างกรุ๊ปถนัดช่วยในเฟซบุ๊ก เรายังไปเจอเว็บไซต์ BKK HELP เป็นศูนย์กลางกระจายข้อมูลจุดแจกของกรุงเทพฯ บอกระบุชัดเจนว่าเราต้องติดต่อใคร มีจุดแจกที่ไหนบ้าง ผมเห็นมันยังเป็นช่องทางที่คนรู้จักไม่มาก เลยพยายามช่วยโปรโมตไปถึงกลุ่มคนที่น่าจะสนใจ จนภายหลังก็มีคนที่เขาเข้าไปติดตามต่อและเริ่มแจกอาหาร 100 ชุดให้หลายๆ ชุมชนในทุกสัปดาห์ มันน่าดีใจที่เราได้มีส่วนร่วมในการสร้างอิมแพ็กตรงนี้ หรือล่าสุดเราเพิ่งทำโครงการ ‘บ้านใกล้เรือนเคียง’ รวบรวมข้อมูลชุนชนต่างๆ กว่า 1,500 แห่ง กลุ่มอาสาสามารถติดต่อกับผู้นำชุมชนได้โดยตรง เป็นอีกหนึ่งระบบที่เราพยายามสร้าง เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเขา
มีการตั้งเป้าหมายของภารกิจครั้งนี้ไว้อย่างไรบ้างไหม
สุ: เป้าหมายคืออยากแจกให้ได้มากที่สุด แต่ละเขตจะมีชุมชนเล็กๆ กระจายอยู่ เราต้องพยายามเข้าหาทุกคนไปเรื่อยๆ โดยเราก็ต้องจัดสรรสิ่งที่จะนำไปแจกให้เข้ากับชุมชนด้วยว่า บางเขตอาจต้องการอาหารปรุงสุก เพราะคนที่มารับส่วนใหญ่เป็นคนจร ไม่มีอุปกรณ์ครัว แต่บางเขตต้องการอาหารแห้ง เราก็พยายามจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละเขตที่สุด
ชู้ต: เราไม่โฟกัสว่าใครทำงานเป็นอย่างไร เราคิดว่ามีอีกหลายเรื่องในสังคมที่เราอยากช่วย แต่ตอนนี้ประเด็นโควิด-19 มันต้องมาก่อน ในอนาคตเราอาจช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม คนพิการ ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งช่วยเหลือสัตว์ เรารู้ดีว่าการแจกของเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อช่วยเหลือคนในช่วงเวลานี้ ในอนาคตผมและพี่สุคุยกันถึงแผนในระยะกลางและระยะยาว ถ้าเรายังคงทำสิ่งที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ไปเรื่อยๆ มันก็คือการวางรากฐานต่อจิ๊กซอว์เพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- ติดตามภารกิจของถนัดช่วยได้ที่
https://www.facebook.com/thanudco/ - จอยกรุ๊ปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ
https://www.facebook.com/groups/992564334479035/