วันนี้ (2 ตุลาคม) ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมขึ้นเวทีปราศรัยของเครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร ที่มาเรียกร้องข้อเสนอ 10 ข้อเกี่ยวกับความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย โดยทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม.
ชัชชาติกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมขบวนว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการเพิ่มโอกาสการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและหลากหลายรูปแบบให้กับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทั่วไป ภายใต้การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวคิดบ้านมั่นคง การพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว การจัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูก และการพัฒนาที่พักให้คนไร้บ้าน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และการเคหะแห่งชาติ เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเพิ่มมากขึ้น
ชัชชาติกล่าวต่อว่า กิจกรรมรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2566 เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้มีข้อเสนอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินสาธารณะ และการพัฒนาชุมชนภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มคนจนเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเสนอให้กรุงเทพมหานครตั้งกลไกการทำงานร่วมกัน โดยมีองค์ประกอบของหน่วยงานภายในกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถนำเสนอเนื้อหา แนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง พร้อมทั้งร่วมผลักดันขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครให้มีความก้าวหน้า กรุงเทพมหานครพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่มมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และเข้าถึงสวัสดิการในด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง
โดยกรุงเทพมหานครจะประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตนเองด้านที่อยู่อาศัย โดยจะดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งรัดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร เพื่อประสานการทำงานร่วมกันตามข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย ซึ่งจะทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยของกรุงเทพมหานครดำเนินไปด้วยความก้าวหน้า เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม บรรลุเจตนารมณ์ที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง
ด้วยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมโลกและรัฐบาลนานาประเทศให้ความสำคัญและหาทางแก้ไขปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง หรืออยู่อาศัยในสภาพที่ไม่เหมาะสม รวมถึงปัญหาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนยากจนในทุกภูมิภาคของโลก สอดคล้องกับเป้าหมายระดับสากล ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานของมนุษย์ที่ยั่งยืน ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน สอดคล้องกับวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda) จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยที่อยู่อาศัย (UN-Habitat) และสอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (ปี 2560-2579) ที่มีวิสัยทัศน์คือ คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing for All)
ทั้งนี้ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เลขานุการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร มีข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ดังนี้
- ให้กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานในการขอใช้ที่ดินสาธารณะและที่ดินของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ชุมชนจัดสร้างที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเข้ามาสนับสนุน
- กรุงเทพมหานครต้องหยุดการใช้กฎหมาย ปว.44 ที่มาจากอำนาจเผด็จการ และลิดรอนสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม และให้มีกระบวนการยกเลิกกฎหมาย ปว.44 นี้
- ให้มีมาตรการที่ชัดเจนให้ชุมชนสามารถปรับปรุงสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยที่เดิมได้ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ ต้องเป็นชุมชนที่ไม่ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง หรืออยู่ในสภาพที่ขัดขวางการระบายน้ำ และมีพื้นที่ในการปรับปรุงจัดผังการอยู่อาศัยใหม่ให้เป็นระเบียบ ไม่ขัดขวางการระบายน้ำ เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่สามารถใช้ในการระบายน้ำได้ ให้ชุมชนสามารถจัดผังการอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม
- ในกรณีชุมชนที่ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ ให้กรุงเทพมหานครขอใช้ที่ดินสาธารณะในเมืองเพื่อเป็นพื้นที่รองรับการย้ายไปสร้างชุมชนใหม่
- ให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนและสำรวจชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะริมคลองในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อมูลชุมชนที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา
- ให้ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถจดแจ้งชุมชนได้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยและแรงงานที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครได้เข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐาน และกรุงเทพมหานครสามารถนำข้อมูลใช้ในการทำแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ให้มีนโยบายการเก็บภาษีแบบรายแปลงย่อยตามการอยู่อาศัยจริง หรือตามทะเบียนบ้านของผู้เข้าร่วมโครงการ
- จัดทำข้อมูลชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกัน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรุงเทพมหานคร และองค์กรชุมชน)
- ต้องการการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครในการอำนวยการการจัดสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง และการพัฒนาสาธารณูปโภค
- ให้แจ้งนโยบายการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงและประสานงานกับสำนักงานเขต ให้มีการสนับสนุนและมีแผนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ร่วมกันระหว่างองค์กรชุมชน สำนักงานเขต และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน