โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เตือนว่า โลกอาจหนีไม่พ้นภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หากไม่เร่งลดปริมาณการปล่อยมลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
ในรายงานประเมินสถานการณ์ก๊าซเรือนกระจกประจำปีของ UNEP ระบุว่า ทั่วโลกควรลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างน้อย 7.6% ต่อปี จนถึงปี 2030 เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
รายงานระบุว่าทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซตัวการสำคัญอื่นๆ ของภาวะเรือนกระจก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5% ต่อปีตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนแตะระดับสถิติที่ 5.53 หมื่นล้านตันในปี 2018
ถึงแม้ 195 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามในความตกลงปารีสเพื่อลดโลกร้อนเมื่อ 3 ปีก่อน แต่หลายประเทศก็ยังไม่ลงมือแก้ปัญหาหรือออกมาตรการรับมืออย่างจริงจัง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ UN เตือนว่า ถึงแม้ชาติสมาชิกจะปฏิบัติตามความตกลงปารีส แต่ทั่วโลกก็ยังเสี่ยงเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเฉลี่ย 3.2% ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์
แต่กระนั้น UN ระบุว่าเป้าหมายอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาฯ ยังเป็นสิ่งที่สามารถทำสำเร็จได้ ทว่าทั่วโลกต้องยกระดับความร่วมมือในการลดการปล่อยมลพิษในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากทุกประเทศยังพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการ UNEP กล่าวว่า “เรากำลังประสบความล้มเหลวในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเราไม่เร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อลดการปล่อยมลพิษอย่างมีนัยสำคัญ เราก็จะพลาดเป้าหมายอุณหภูมิ 1.5 องศาฯ”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: