×

ค้นหาตัวตนที่ใช่! ผ่าน 5 หลักสูตรของ ‘คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล’ ในงาน Siriraj Open House 2024 [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
30.08.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘Siriraj Open House 2024’ มหกรรมงานเปิดบ้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศิริราช ปีนี้มาในคอนเซปต์ ‘Find Yourself’ ชวนน้องๆ นักเรียนมัธยมปลายตามหาสิ่งที่ชอบ ค้นหาสิ่งที่ใช่ สืบเสาะหาตัวตน กับกิจกรรมแนะนำ 5 หลักสูตร และทำความรู้จักกับ ‘คณะแพทย์ศิริราช’ ในมิติที่หลายคนไม่รู้
  • THE STANDARD ขออาสาพาไปสืบเสาะค้นหาความน่าสนใจของทั้ง 5 หลักสูตรผ่านกิจกรรมและนิทรรศการของแต่ละหลักสูตรพร้อมเก็บตกภาพความสนุกในโซน Siriraj Play Gown มาฝากกัน

จบสวย! สมกับเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยกับ ‘Siriraj Open House 2024’ มหกรรมงานเปิดบ้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศิริราช โดยปีนี้มาในคอนเซปต์ ‘Find Yourself’ ชวนน้องๆ นักเรียนมัธยมปลายมาเป็นนักสืบตัวน้อยตามหาสิ่งที่ชอบ ค้นหาสิ่งที่ใช่ สืบเสาะหาตัวตน กับกิจกรรมแนะนำ 5 หลักสูตร และทำความรู้จักกับ ‘คณะแพทย์ศิริราช’ ในมิติที่หลายคนไม่รู้

 

 

เห็นว่าปีนี้มีน้องมัธยมปลายสนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 6,137 คน มากที่สุดตั้งแต่จัดงานเปิดบ้านมา เสฏฐวุฒิ บัวดี และ อัครพนธ์ วงษ์มหิศร นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 4 ประธานการจัดงาน Open House เล่าไอเดียการจัดงานในปีนี้ว่า ต้องการเปิดโอกาสให้น้องๆ นักเรียนมัธยมปลายที่สนใจได้ศึกษาข้อมูลก่อนว่าแต่ละหลักสูตรเรียนอะไรกัน ถ้าสนใจต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

 

 

“ปีนี้เราดีไซน์กิจกรรมให้น้องๆ เข้าร่วมกิจกรรมครบทั้ง 5 ฐานหลักสูตร จึงจะได้ Certificate เพราะอยากให้พวกเขาได้รู้จักทุกหลักสูตร แล้วค่อยไปตกตะกอนเองว่าหลักสูตรไหนตรงกับตัวตนของเขาจริงๆ น่าจะช่วยให้น้องๆ ตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าเราเหมาะกับวิชาชีพนี้หรือไม่” เสฏฐวุฒิกล่าว

 

“เราอยากให้งาน Open House มีความเป็นกันเอง น้องๆ กล้าถาม พี่ๆ เต็มใจตอบ ให้ทุกคนเข้าถึงทุกกิจกรรมที่สนใจได้มากที่สุด นอกจากน้องๆ แล้ว ผู้ปกครองก็เข้ามาร่วมชมงานได้เช่นกัน เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้ข้อมูล จะได้ช่วยน้องๆ ตัดสินใจ ปีนี้เราจึงเพิ่มกิจกรรม Siriraj Play Gown ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นปีแรก เพราะเราต้องการให้เห็นมิติอื่นๆ ของคณะแพทย์ศิริราชว่าเราไม่ได้เด่นแค่ด้านวิชาการ แต่กิจกรรมของเราก็ดีไม่แพ้กัน” อัครพนธ์เล่าเสริม

 

Siriraj Open House 2024

 

THE STANDARD ขออาสาพาไปสืบเสาะค้นหาความน่าสนใจของทั้ง 5 หลักสูตรใน ‘คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล’ ผ่านกิจกรรมและนิทรรศการของแต่ละหลักสูตรที่จัดและให้ความรู้โดยรุ่นพี่ของหลักสูตรนั้นๆ และเก็บตกภาพความสนุกในโซน Play Gown มาฝากกัน

 

 

‘หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต’ (SIMD)

 

เริ่มกันที่ ‘หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต’ (SIMD) ใช้เวลาเรียน 6 ปี โดยปีที่ 1-3 จะเรียนในชั้น Pre-Clinic คือการเรียนเตรียมความพร้อมในเรื่องทางการแพทย์ต่างๆ ปีที่ 4-5 จะเป็นระดับ Clinic ได้ขึ้นไปทำงานบนหอผู้ป่วยจริง เป็นการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และปีที่ 6 จะเน้นการเตรียมความพร้อมในการเป็นแพทย์อย่างเต็มตัว เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ให้การดูแลผู้ป่วยจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์รุ่นพี่และอาจารย์หมอ

 

 

เป็นหลักสูตรที่มีฐานกิจกรรมให้เรียนรู้เยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นฐาน Gross ที่พาไปรู้จักกับร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจ ระบบประสาท ระบบกระดูก ได้เข้าไปดูห้อง Gross Anatomy จริงๆ หรือฐาน Lab ทุกคนจะได้เข้าห้องแล็บของนักศึกษา มีรุ่นพี่คอยชี้แนะการทำหัตถการ เช่น ส่องกล้องจุลทรรศน์ ฝึกตรวจร่างกาย ฝึกล้างมือ ฝึกปั๊มหัวใจ

 

 

นอกจากนี้ยังมีฐานกิจกรรมที่จัดบริเวณศาลาศิริราช 100 ปี โดยแบ่งตามภาควิชา อาทิ ศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ อายุรศาสตร์ รังสีวิทยา มีกิจกรรมให้ลองทำเฝือก เย็บแผล เจาะเลือด วัดความดัน สอนฟังคลื่นหัวใจ สอนพ่นยาในเด็ก

 

 

ปาลิตา อติชาตสินธพ คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 5 แชร์ความประทับใจในการเรียนแพทย์ที่ศิริราชว่า “ทั้งหลักสูตรและเนื้อหาเข้มข้นมากๆ และทุกครั้งที่เรียนจบหลายวิชาจะเปิดฟีดแบ็กให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นได้ ทำให้หลักสูตรมีการเปลี่ยนแปลงเข้ากับยุคสมัยเสมอ อย่างปีนี้จะใช้ระบบตัดเกรดแบบ OSU เป็นการตัดเกรดตามเกณฑ์ ไม่ได้ตัดเกรดอิงกลุ่ม ที่ชอบอีกอย่างคือศูนย์ฝึกอบรม SiCSC ที่มีหุ่นจำลองให้เราฝึกก่อนทำหัตถการกับคนไข้จริง”

 

 

‘หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต’ (SITT)

 

สำหรับ ‘หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต’ (SITT) ฟังชื่อทีแรกเข้าใจว่าคงเรียนเน้นหนักไปที่การแพทย์แผนโบราณ แต่จริงๆ แล้วการเรียนจะผสมผสาน 4 ศาสตร์ ได้แก่ ‘เวชกรรมไทย’ หรือการตรวจวินิจฉัยด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ‘หัตถเวชกรรมไทย’ หรือศาสตร์การนวด โดยที่นี่จะสอนแบบสูตรราชสำนัก การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร การแปะยา ‘เภสัชกรรมไทย’ ศาสตร์การปรุงยา ครอบคลุมไปถึงความรู้เรื่องโรงงานผลิตยา กฎหมายโรงงาน และสุดท้ายคือ ‘ผดุงครรภ์ไทย’ การทำคลอดและดูแลคนตั้งครรภ์ และหลังคลอด ไปจนถึงการดูแลเด็กแรกเกิด

 

กิจกรรมของหลักสูตรนี้ฐานมีตั้งแต่การแนะนำหลักสูตร กิจกรรมเรียนรู้มาตราชั่ง ตวง วัด กิจกรรมตรวจปกติลักษณะ (ฐานเจ้าเรือน) กิจกรรมการทำยาดมด้วยสมุนไพร กิจกรรมร้อยพวงมาลัยตามฐานเจ้าเรือน กิจกรรมทายภาพสมุนไพร กิจกรรมให้ความรู้เรื่องอาหารสำหรับคุณแม่หลังคลอด กิจกรรมทำหม้อเกลือ ไปจนถึงกิจกรรมแนะนำการบริหารร่างกายสำหรับคนที่เป็นออฟฟิศซินโดรม

 

 

จบหลักสูตรนี้สามารถเป็นแพทย์แผนไทยประยุกต์ในโรงพยาบาล หรือจะเปิดคลินิกเวชกรรม คลินิกดูแลคุณแม่หลังคลอด หรือจับตลาด Health & Wellness เลยก็ยังได้ ไม่ก็เดินสายโรงงานยา ควบคุมการผลิตยา เป็นนักวิจัยยาและวิจัยสมุนไพร

 

 

ธีรเจต รวมทำ คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต ชั้นปีที่ 3 บอกเหตุผลที่เลือกเรียนที่ศิริราชเพราะเป็นที่แรกในไทยที่เปิดสอนหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต “อยากเรียนหลักสูตรนี้ที่ศิริราชตั้งแต่ ม.3 เข้าร่วมงาน Open House มันช่วยยืนยันว่าถ้าเราเลือกเรียนที่นี่เราจะได้อะไรบ้าง นอกจากอาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ตอนนี้ทางคณะยังมีโปรแกรมแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไต้หวัน และอิหร่าน ยิ่งทำให้ภูมิใจที่ได้เรียนที่นี่”

 

 

‘หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล’ (SIPN)

 

ต่อกันที่ ‘หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล’ (SIPN) หลักสูตร 1 ปี เป็นหลักสูตรที่เปิดกว้างทั้งนักเรียนสายสามัญและสายอาชีพ หลักๆ จะเรียนเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น 6 เดือนแรกจะเรียนทฤษฎี และ 6 เดือนหลังจะฝึกปฏิบัติงานจริงที่หอผู้ป่วย

 

หน้าที่ของผู้ช่วยพยาบาล เช่น ช่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นและทำการตรวจวัดสัญญาณชีพ วัดความดันโลหิต วัดค่าออกซิเจนในเลือด ดูแลผู้ป่วย เช็ดตัว ป้อนอาหาร น้ำ และยา ทำความสะอาดเตียงผู้ป่วย ช่วยพยาบาลใส่สายน้ำเกลือ ทำความสะอาดแผล เตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อมใช้งาน สังเกตอาการผู้ป่วยเพื่อบันทึกและรายงานให้กับพยาบาล ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนี้สามารถทำงานในโรงพยาบาล คลินิกผู้สูงอายุ ศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด หรือต่อยอดเรียนเป็นพยาบาลก็ได้

 

 

ในฐานนี้น้องๆ จะได้ลองวัดสัญญาณชีพทั้งแบบดิจิทัลและแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ความชำนาญมากขึ้น ทดลองให้อาหารทางสายยางผ่านหุ่นจำลองที่ใช้เรียนจริง ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยไม่สำลัก ไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วย สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยใกล้ตัวที่ต้องให้อาหารทางสายยางได้ นอกจากนี้ยังได้ฝึกปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ออกซิเจนผู้ป่วยด้วยเครื่องมือแพทย์

 

 

ภัชราภรณ์ กาลเขว้า คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล บอกเหตุผลที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้ว่า “เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่นค่ะ แต่กว่าจะรู้ตัวว่าอยากเป็นพยาบาลก็เรียนสายอาชีพไปแล้ว ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้เราสามารถต่อยอดไปเรียนพยาบาลได้ ที่เลือกเรียนศิริราชเพราะเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ เป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงค่ะ”

 

 

‘หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายอุปกรณ์’ (SIPO)

 

ใครที่กำลังสนใจวิชาชีพ ‘นักกายอุปกรณ์’ อีกหนึ่งสายงานที่ยังต้องการบุคลากรอีกมาก ‘หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายอุปกรณ์’ (SIPO) น่าจะตอบโจทย์ เพราะหลักสูตรนี้จะเรียนเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายภายนอก ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์เทียม ทดแทนอวัยวะ เช่น ขาเทียม แขนเทียม และอุปกรณ์เสริม สำหรับคนที่ไม่ได้สูญเสียอวัยวะแต่มีความผิดปกติ เช่น คนเป็นโปลิโอ ร่างกายผิดรูป กระดูกสันหลังคด อุปกรณ์ดามหลัง

 

 

กิจกรรมในฐานมีตั้งแต่การเรียนรู้วิธีประเมินการลงน้ำหนักเท้าเพื่อวิเคราะห์อาการและความผิดปกติของเท้าที่ต่างไปในแต่ละบุคคล ฐานกระดูกสันหลัง น้องๆ จะได้เห็นว่ากระดูกสันหลังที่ผิดรูปเป็นแบบไหน และอุปกรณ์เสริมจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ละอุปกรณ์มีการทำงานอย่างไร หรือในฐานฟิตติ้ง เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะอุปกรณ์ที่ดีจะต้องออกแบบมาได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ใช้งาน สำหรับฐานขาเทียม จะได้เห็นอุปกรณ์ขาเทียมหลากหลายแบบที่ออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานที่ต่างกัน เช่น ขาเทียมสำหรับนักวิ่ง หรือขาเทียมสำหรับการเดินในชีวิตประจำวัน

 

นอกจากจะเรียนไปเพื่อเป็นนักกายอุปกรณ์แล้ว จะเลือกเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือจะไปเป็นนักวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ทางแพทย์เลยก็ได้

 

 

ธนัญญา ศรีเจริญชัยกุล คณะแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากายอุปกรณ์ ชั้นปีที่ 3 ว่าที่นักกายอุปกรณ์บอกว่า ฝันอยากจะเป็นนักกายอุปกรณ์เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่ยังขาดแคลน ซึ่งในเมืองไทยหลักสูตรนี้เปิดสอนที่ศิริราชเท่านั้น “ตอนนี้นักกายอุปกรณ์ในเมืองไทยมีหลักร้อย แต่ผู้พิการและผู้ที่ต้องการอุปกรณ์เสริมมีมากกว่า 1 ล้านคน ถือว่ายังขาดแคลนมากๆ น้องๆ ที่สนใจแต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบจริงๆ หรือเปล่า อยากให้ลองมางาน Open House ที่ศิริราช เพราะเราเองก็ได้มางานก่อนสมัครเรียนเหมือนกัน ได้ลองทำกิจกรรมที่รุ่นพี่เตรียมไว้ให้ ยิ่งทำให้มั่นใจว่าเราชอบสิ่งนี้จริง”

 

 

‘หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์’ (SIET)

 

มาถึงฐานสุดท้าย ‘หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์’ (SIET) ซึ่งศิริราชเป็นที่แรกที่เปิดสอนหลักสูตรนี้ด้วยนะ สปอยล์ก่อนเลยว่าเป็นหลักสูตรที่เหมาะกับ ‘มนุษย์เป็ด’ แถมวิชาเรียนก็แทบจะเหมือนเรียนนิเทศศิลป์เลยเอาจริง เพราะหลักสูตรนี้จะเรียนทำสื่อด้านการแพทย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงของการสื่อสารองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เช่น สื่อการเรียนการสอนทางการแพทย์ สื่อให้ความรู้ในโรงพยาบาลและสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งสื่อโฆษณาในรูปแบบสิ่งพิมพ์ คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย การปั้นโมเดล ไปจนถึงภาพวาด

 

การเรียนจึงผสมผสานระหว่างศาสตร์ด้านศิลปกรรม เทคโนโลยีการศึกษา นิเทศศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เข้าด้วยกัน เช่น โครงสร้างร่างกายมนุษย์ ปรสิตวิทยา

 

 

โดยฐานกิจกรรมของหลักสูตรนี้จะได้เห็นตัวอย่างภาพวาด ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน การปั้นโมเดล มีตั้งแต่โมเดลอาหาร โมเดลปลา โมเดลบ้าน และโมเดลอวัยวะต่างๆ การทำกราฟิกดีไซน์ ทั้งการออกแบบสื่อโฆษณา อินโฟกราฟิก ไปจนถึง 3D และ Animation รวมไปถึงการถ่ายภาพทางการแพทย์ ซึ่งจะเรียนกันตั้งแต่พื้นฐานอุปกรณ์ไปจนถึงการจัดแสง การถ่ายภาพในสตูดิโอ ถ่ายภาพพอร์ตเทรต และถ่ายภาพในห้องนิติเวช

 

เห็นว่าตอนนี้มีหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งเปิดเมื่อปี 2565 เพิ่มหน่วยกิตและวิชาเรียนรองรับคนที่ต้องการเพิ่มทักษะ 3D ปั้นโมเดลทางการแพทย์ หรือทักษะการเขียนโค้ด เขียนโปรแกรม เรียกได้ว่าใครจบหลักสูตรนี้จะมีอาวุธครบเครื่องสำหรับการทำงานในโลกยุคใหม่แน่นอน

 

อาชีพที่ตอบโจทย์คนเรียนหลักสูตรนี้ เช่น ช่างภาพการแพทย์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ นักสร้างโมเดลทางการแพทย์ ครีเอทีฟทางด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีมีเดียทางการแพทย์ ผู้ช่วยนักวิจัย หรือออกนอกกรอบไปเป็นกราฟิกดีไซน์ ช่างภาพ หรือผู้ผลิตรายการโทรทัศน์

 

 

ณัฐภูมิ บุญเพิ่มพูล คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มาช่วยยืนยันว่าหลักสูตรนี้เหมาะสำหรับมนุษย์เป็ดที่อยากมีอาวุธครบมือจริงๆ “เป็นหลักสูตรที่ได้เรียนหลายศาสตร์ เหมาะกับเด็กกิจกรรมแบบผม ได้เรียนทั้งถ่ายภาพ ทำสคริปต์ เขียนบท ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ วาดรูป ปั้นโมเดล ถ้าอยากเป็นเป็ดโปรต้องหลักสูตรนี้เลย รับรองว่าครบเครื่อง จริงๆ ตลาดยังต้องการคนที่จบด้านนี้อีกมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนตัวผมอยากทำงานในโรงพยาบาล ทำสื่อทางการแพทย์ให้กับอาจารย์แพทย์ครับ”

 

ทุกหลักสูตรจะมี ‘ฐาน Q&A’ ให้น้องๆ ถามคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับหลักสูตรนั้นๆ เพิ่มเติม การเรียนการสอน การใช้ชีวิตในคณะแพทย์ หรือจะขอคำแนะนำในการเตรียมตัวเพื่อสอบก็ได้

 

 

ปิดท้ายกันด้วยภาพความสนุกที่โซน Siriraj Play Gown มีทั้งเวทีคอนเสิร์ต ซุ้มเล่นเกมแจกรางวัล ซุ้มอาหาร และบอร์ด Share Your Dream ให้ว่าที่แพทย์มาประกาศความฝันให้โลกรู้

 

กิจกรรม Open House ของศิริราชจะจัดทุกปี ใครพลาดปีนี้ไม่ต้องนอยด์ไป ถ้าปีหน้าประกาศจัดงานเมื่อไร THE STANDARD จะแจ้งข่าวให้ทราบอย่างแน่นอน หรือเกาะติดความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/siopenhouse

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X