×

สิริพรรณ วิเคราะห์เบื้องหลังสูตรหาร 100 กับ 8 ปีประยุทธ์ จะเป็นสินค้าหมดอายุ หรือเครื่องวัดอารมณ์ประชาชน

11.08.2022
  • LOADING...
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

วานนี้ (10 สิงหาคม) สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์รายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD

 

กรณีสูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะใช้สูตรหารด้วย 500 หรือ 100

 

และกรณีการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไร เพราะหากนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยุค คสช. หลังรัฐประหารปี 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จะเกินวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แต่หากไม่นับการดำรงตำแหน่งก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 การดํารงตําแหน่งก็จะยังไม่เกิน 8 ปี 

 

  • หลังสภาล่ม ชัดเจนว่าจะมีการใช้สูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอีก 

 

จะปิดประตูการใช้สูตรหาร 500 จริงๆ คือ วันที่ 15 สิงหาคม ตอนเที่ยงคืน เพราะครบ 180 วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะสำเร็จคลอดออกมา ดังนั้น เราจะเห็นทางพรรคจิ๋วดิ้นรนกดดันให้ประธานสภาเรียกประชุม แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เพราะ ส.ส. พลังประชารัฐ หลายคนบินกลับบ้านแล้ว ไม่ประชุมแล้ว 

 

แนวโน้มจึงเป็นไปได้สูง จะกลับไปใช้สูตรหาร 100 

 

  • การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ. ประยุทธ์ จะนับจากยุค คสช. หรือนับจากหลังเลือกตั้งปี 2562 

 

พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ 2 ครั้ง คือปี 2557 กับหลังเลือกตั้ง 2562 การจะนับตั้งแต่ 2562 ซึ่งจะครบ 8 ปีในปี 2570 จะเป็นการขยายขอบเขตที่หาคำอธิบายยาก แต่รัฐธรรมนูญก็เขียนคลุมเครือ เพราะมาตรา 158 มีประโยคว่า นายกรัฐมนตรี หมายถึงผู้ที่ได้รับเลือกมาจากรัฐสภา เขาอาจจะตีความว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้รับเลือกมาจากสภาในปี 2557 ซึ่งมาจากการรัฐประหาร 

 

ส่วนหากจะให้ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่อีก 2 ปี ตามที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลุดออกมา ความหมายคือ นับวาระเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ คือวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบ 8 ปี 6 เมษายนปี 2568 

 

  • การที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะอยู่ต่อหรือไม่ จะส่งผลทางการเมืองขนาดไหน 

 

เกมนี้เป็นเกมที่ พล.อ. ประยุทธ์ เจอหลายดอกมาก และเป็นเกมสกัด พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ให้กลับมาได้อีกหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า 

 

ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ หมดวาระปี 2568 ก็มีคำถามอีกว่าพรรคไหนจะเสนอกลับมาเป็นนายกฯ เพราะถ้าได้รับเลือกก็เป็นได้อีก 2 ปี ต้องสรรหาใหม่เมื่อครบวาระปี 2568 ความสำคัญของ พล.อ. ประยุทธ์ จึงลดลง เป็นสินค้ามีวันหมดอายุ จะถูกใช้อีกไหม 

 

อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมหลังจากนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่อารมณ์ของคน ความรู้สึก ความชอบธรรมของ พล.อ. ประยุทธ์ จะมีมากพอหรือเปล่า ที่พรรคการเมืองจะเสนอ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ในอนาคต

 

ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือการตั้งพรรคอะไหล่ พรรคสำรอง เป็นพรรคที่ออกมาบอกว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ แต่ไม่ง่าย เพราะจะเสนอชื่อให้มีสิทธิถูกนำมาพิจารณาเลือกเป็นนายกฯ ได้ ต้องเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงอย่างน้อย 5% หรือ 25 ที่นั่งในสภา ซึ่งไม่แน่ใจว่าพรรคใหม่ๆ จะได้ที่นั่งถึงจำนวนนี้หรือไม่

 

เกมนี้เป็นเกมระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ กับ พล.อ. ประวิตร ในพลังประชารัฐ ที่จะกัน พล.อ. ประยุทธ์ ให้ออกจากเส้นทางการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า 

 

ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ ได้โอกาสเป็นนายกฯ ต่อไปหลังการประชุมเอเปค หรือจนยุบสภาก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า การกลับมาหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า คิดว่าแสงริบหรี่เหลือเกิน 

 

  • ตอนแรกสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แทบทุกพรรคจะใช้สูตรหาร 100 จู่ๆ ก็มีสูตรหาร 500 ขึ้นมาระหว่างทางโดยพลังประชารัฐจะเอาด้วย แต่สุดท้ายกลับมาที่สูตรหาร 100 อีกแล้ว มีการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่าเพราะ ร.อ. ธรรมนัส ออกจากพรรค จึงทำให้มองว่าหาร 100 พลังประชารัฐจะเสียเปรียบจึงมาหาร 500 แต่วันนี้กลับมาหาร 100 อีกเพราะอะไร ทั้งที่ ร.อ. ธรรมนัส ไม่ได้อยู่พลังประชารัฐ

 

มีตัวแปรที่วิเคราะห์เอาไว้คือ การเปลี่ยนจาก 100 มาเป็น 500 เกิดขึ้นก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วรัฐบาลไม่มั่นใจว่าจะสามารถคุมเสียงข้างมากที่จะทำให้ทุกคนพ้นขีดอันตรายได้ ต้องอาศัยพรรคจิ๋ว ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14-15 เสียง สุดท้ายเป็นจุดที่พรรคจิ๋วมีอำนาจต่อรองมากที่สุด แล้วพรรคจิ๋วรู้ว่าตัวเองจะหายไปอย่างสิ้นเชิงภายใต้สูตรหาร 100 

 

จึงเป็นเกมของพลังประชารัฐที่อยากจะบอกว่าเขาเลี้ยงลิงมาตลอด ขณะที่พลังประชารัฐโดยเฉพาะ พล.อ. ประวิตร ไม่อยากให้มีพรรคจิ๋ว เพราะว่ามีต้นทุนทางการเมืองสูง เนื่องจากปลูกกล้วยเลี้ยงลิงมาตลอด แล้วต้องมาเสียค่าเลี้ยงลิงทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน 

 

ฉะนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผ่านไปแล้ว การปรับสูตรจึงเกิดขึ้น นี่คือคำอธิบายหลัก 

 

คำอธิบายที่สองคือ วันนั้นเกิดขึ้นอย่างโกลาหล หลัง พล.อ. ประยุทธ์ เรียกประชุมพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น กระแสคว่ำ 100 เพื่อมาหาร 500 เป็นฝั่งที่ปรึกษาของ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่ฝั่ง พล.อ. ประวิตร ตอนนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วเพราะคิดว่าเป็นสัญญาณจากพลังประชารัฐ แต่เมื่อลมสงบฝุ่นหายฟุ้ง ข้อเท็จจริงจึงปรากฏว่า พลังประชารัฐรู้ว่าตัวเองได้ประโยชน์จากสูตรหาร 100 มาตลอด ถ้าหาร 500 พลังประชารัฐอาจจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะชนะในระบบ ส.ส. เขตเยอะไปแล้ว 

 

ตอนนี้มีพรรคเดียวที่ยังไม่ได้สติ อาจจะยังเมากัญชาอยู่ ก็คือพรรคภูมิใจไทย พรรคคุณต่างหากจะเสียประโยชน์จากสูตรหาร 500 

 

ขณะที่พรรคที่ได้ประโยชน์จริงๆ จากหาร 500 คือเสรีรวมไทย หรือก้าวไกล แต่ก้าวไกลเขาคงยืนตามหลักการประชาธิปไตย ยืนสูตรหาร 100 มาตลอด เพราะเป็นเจตนารมณ์แรกเริ่มที่แก้รัฐธรรมนูญ ในแง่นี้ถือว่าเป็นสุภาพบุรุษ เพราะรู้ว่าสูตรหาร 500 เขาได้ประโยชน์ แต่เขาก็ยังยืนกับสูตรหาร 100 อยู่ 

 

  • นักวิชาการที่ถูกมองเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยมก็กลับมากดดันให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่ง โดยบอก 8 ปีพอได้แล้ว เพราะอะไรจึงกลายเป็นแบบนี้ 

 

ต่อให้มองว่านักวิชาการเหล่านี้เป็นอนุรักษ์นิยม แต่ก็มีหลายเฉดหลายจุดยืน ถ้าจะให้พูดกว้างๆ มี 2-3 ประเด็น 

 

ประเด็นแรก การคงอยู่ของ พล.อ. ประยุทธ์ หลัง 24 สิงหาคม นอกจากจะทำให้คุณค่าของ พล.อ. ประยุทธ์ ด้อยลง เสื่อมราคาแล้ว จะเป็นการฉุดรั้งการจัดระเบียบสังคมของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเอง จะเกิดการวางหมากทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย หรือบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นต้นทุนที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมกำลังกังวลใจ 

 

พูดง่ายๆ ว่า การที่ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ต่อ อาจจะลากยาวด้วยเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสังคมจะยอมรับ ดังนั้น กลุ่มที่เคยสนับสนุนก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันจะคุ้มค่าไหม กับต้นทุนที่จะรักษา พล.อ. ประยุทธ์ ไว้อาจจะไม่คุ้มค่าอีกต่อไป อันนี้อธิบายอย่างกว้างโดยภาพรวม

 

ถ้าอธิบายย่อยๆ อนุรักษ์นิยมบางกลุ่มอาจจะยึดถือตัวบุคคล ยอมรับบางคนไม่ได้ หรือบางกลุ่มก็ไม่ได้ประโยชน์จากระบอบประยุทธ์ ก็ออกมาเขย่าตลอดเวลา พอมีกระแสสังคมเขย่าก็ออกมาร่วมด้วย 

 

แต่โดยภาพรวม โจทย์ใหญ่ของอนุรักษ์นิยมกระแสหลัก คือมองว่าการดำรงอยู่ของ พล.อ. ประยุทธ์ เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะนับแบบไหน นอกจากจะเสื่อมราคาของประยุทธ์เองแล้ว มันทำให้โครงสร้างอนุรักษ์นิยมทั้งหมดเสื่อมถอยลงไปด้วย ฉุดกันเหมือนลูกโซ่และโดมิโน ซึ่งโดมิโนนี้ถ้าล้มเพราะขาดความชอบธรรมก็ไม่รู้ว่ามันจะดึงอะไรล้มตามไปด้วย 

 

  • มีคนวิจารณ์ว่า เพื่อไทยกับพลังประชารัฐแอบจับมือกัน ร่วมมือใช้สูตรหาร 100 อาจารย์ว่าจริงหรือไม่ 

 

อันนี้ไม่ทราบ แต่โดยหลักการ การที่พรรคการเมืองต่างพรรคต่างขั้วคุยกันเป็นเรื่องปกติมาก ถ้าไม่คุยกันนี่สิแปลก เพียงแต่เป็นการฮั้วหรือดีลกันในทางการเมืองไหม คิดว่าประเด็นนี้ตอบไม่ได้ แต่ถ้าให้มองจากสิ่งที่เกิดขึ้น มองว่าทั้งหมดเป็นเกมของพลังประชารัฐโดยตัวเอง เป็นเกมกลไกอำนาจภายในพลังประชารัฐ แต่เผอิญผลประโยชน์ของพลังประชารัฐกับเพื่อไทยมันลงรอยกัน จึงดำเนินไปในทิศทางเหมือนกัน แต่ทุกพรรคก็คุยกันหมด มองแบบนี้ 

 

  • เพื่อไทย พลังประชารัฐ จะจับมือกันร่วมตั้งรัฐบาลสมัยหน้า เป็นไปได้หรือไม่ 

 

เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ว่าเพื่อไทยต้องคิดหนัก ถ้าจับมือพลังประชารัฐ อาจจะได้เป็นรัฐบาล ขึ้นอยู่กับเสียง ส.ว. ด้วย แต่เสียงสนับสนุนในอนาคตทางการเมืองอาจจะสูญเสีย พังทลายลงไป เพื่อไทยคิดหนักและต้องมองการเมืองระยะยาว ไม่ใช่แค่ครั้งหน้า 

 

เพราะเลือกตั้งครั้งหน้ามาแน่ในปีหน้า แต่มีโอกาสที่จะยุบสภาเร็ว เพราะอย่าลืมว่าตัวแปรหนึ่งในทางการเมืองคือ ส.ว. จะหมดวาระ 

 

หลัง ส.ว. หมดวาระ การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนใหม่ ดังนั้น หลังจากนั้นจะเป็นเกมพลิกทางการเมืองที่แหลมคมมาก 

 

ดังนั้น ถ้าดิฉันเป็นเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคที่เป็นพรรคฝ่ายค้านตอนนี้ แล้วก็ทำให้คะแนนสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะกดดัน ส.ว. ให้มาโหวตให้ และรอให้เกมกติกาทางการเมืองเปลี่ยน จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม แต่อำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. จะหมดลง แล้วหลังจากนั้นเกมจะเปลี่ยน 

 

ขณะที่หากเพื่อไทย เลือกโจทย์ระยะสั้น ไปจับมือกับพลังประชารัฐตอนนี้ โอเคก็ได้ แต่เลือกตั้งหลังจากนั้น คะแนนเสียงจะหายไปเยอะ จะคุ้มกันไหม 

 

  • อะไรจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า ฝ่ายไหนจะได้ตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งรอบหน้า 

 

ยังคิดว่าตัวแปรสำคัญที่สุดคือเพื่อไทย ว่าจะใช้ยุทธศาสตร์อย่างไรในการหาเสียง ซึ่งเท่าที่ฟัง ดีใจมากที่บอกว่าพับวิธีคิดตั้งพรรคอะไหล่ พรรคสำรองไปแล้ว เพราะอันนั้นไม่เป็นผลดีในระยะยาวกับพรรคและสถาบันพรรคการเมืองโดยรวม จะแลนด์สไลด์หรือไม่ เพื่อไทยก็ยังจะมีเสียงมากอันดับ 1 อยู่ดี ดังนั้น โดยมารยาททางการเมืองย่อมเป็นพรรคแรกที่จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ต่อจากนั้นจะร่วมกับพรรคไหน ตรงนี้คือจุดสำคัญที่สุด ถ้าร่วมกับพรรคพันธมิตรได้ แล้วเสียงเกิน 251 ที่นั่งในสภา จะเป็นแรงกดดันไปยัง ส.ว. ว่าจะโหวตสวนคะแนนเสียงประชาชนหรือเปล่า 

 

ยังให้ตัวละครเอกทางการเมืองเป็นเพื่อไทยอยู่ดี แต่เป็นเพื่อไทยที่ต้องระมัดระวัง รอบคอบ ไม่หวือหวาวู่วาม มองการเมืองระยะยาว รักษาจุดยืนและฐานเสียงหลักในอนาคตไว้ให้ดี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising