วันนี้ (8 กรกฎาคม) ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายอัตราภาษีนำเข้าซึ่งของประเทศไทยยังคงเดิมที่ 36% โดยระบุว่า เป็นเรื่องค่อนข้างช็อก เดิมที่มีการประกาศว่าจะส่งจดหมาย ไม่ได้คิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในรอบแรก เนื่องจากเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันที่ได้รับจดหมาย
“การที่จบที่ 36% คิดว่าเป็นการบีบต้อนให้เราจนมุม ด้วยเดดไลน์ ทำให้ต้องคายข้อเสนอที่ยังตกลงกันไม่ได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษี 36% ดังนั้น 36% คงเป็นอัตราสูงสุดที่เราจะได้รับ คงไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้แล้ว เพราะหลายประเทศถูกปรับขึ้นภาษีด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น มาเลเซีย จึงถือว่ายังมีช่วงเวลาให้เราได้หายใจ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอใหม่ ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้ เข้าใจว่าถูกส่งไปตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมแล้ว จึงต้องรอท่าทีของทางสหรัฐอเมริกา จะเป็นอย่างไร” ศิริกัญญากล่าว
ต่อให้เทหมดหน้าตักก็อาจลดไม่เกิน 20%
สำหรับข้อเสนอเรื่องสินค้าเกษตรของไทยนั้น ศิริกัญญาระบุว่า ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่า สินค้าเกษตรดังกล่าวมีอะไรบ้าง รวมถึงข้อเสนอที่จะเก็บภาษี 0% ใน 90% ของสินค้าสหรัฐอเมริกาที่นำเข้ามาในไทย เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ประกาศไปแล้วว่า จะลดเหลือ 0% ทุกรายการสำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ ทำให้ลดอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ก็อาจทำให้ข้อเสนอของไทยไม่ดึงดูดนัก
ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน เราคงต้องขอดูทั้ง 90% ของรายการสินค้าสหรัฐฯ ที่ไทยจะลดภาษีให้ มีอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ ดังนั้น โอกาสที่จะกระทบต่อเกษตรกรไทย ก็ค่อนข้างสูง ส่วนจะต้องเทหมดหน้าตักเหมือนเวียดนามหรือไม่นั้น ศิริกัญญามองว่า ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะหากเทหมดหน้าตัก ก็คงไม่ได้ลดไปต่ำกว่า 20 % และยังต้องดูอีกว่าถ้าได้เท่าๆ กับประเทศคู่แข่ง ไม่ใช่ว่าเราจะได้เปรียบ เพราะขึ้นอยู่กับการทำกำไรของผู้ประกอบการ
“ตัวอย่างเช่นเวียดนาม หากเขาทำกำไรได้ ราว 20% เขาก็สามารถลดราคาผู้นำเข้าได้ 20% ทำให้เรื่องภาษีไม่มีผลกระทบต่อเขาเลย ซึ่งในขณะที่ไทย เสียเปรียบในต้นทุนการผลิตสินค้าที่มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น ค่าไฟฟ้า และวัตถุดิบอื่นๆ ทำให้เราไม่สามารถตัดราคาแข่งกับคู่แข่งได้ จึงต้องมาดูรายละเอียดรายสินค้าอีกทีหนึ่ง” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญายังกล่าวว่า ส่วนเรื่องของการย้ายฐานการผลิต ก็เป็นเรื่องที่หนึ่งที่ไทยต้องกังวล ตอนนี้ฝุ่นยังตลบค่อนข้างมาก ยังไม่รู้ว่าภาษีสุดท้ายจะอยู่ที่เท่าไหร่ และความสามารถในการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนก็ไม่เท่ากัน ไม่คงที่ สินค้าที่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ง่ายก็อาจจะตัดสินใจย้าย แต่สุดท้าย ก็ต้องรอการเจรจาให้เสร็จสิ้นลงก่อนทุกประเทศ ซึ่งคู่แข่งอาจจะไม่ใช่ในภูมิภาคเดียวกันด้วยซ้ำไป เพราะอินเดีย ขณะนี้ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักลงทุน เช่น สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์
ยังมีโอกาสลดอัตราภาษี แม้ถูกเดดไลน์ต้อนจนมุม
ศิริกัญญายอมรับว่า ตอนนี้เรายังพอมีหวังที่จะได้ลดอัตราภาษี ครั้งนี้เป็นการขยับเดดไลน์การจัดเก็บภาษี จากที่จะเริ่ม 9 กรกฎาคม ขยับไปเป็น 1 สิงหาคม ถึงแม้เราจะได้เจรจาไปแค่ครั้งเดียว แต่ก็ได้ส่งข้อเสนอใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้ลดอัตราภาษีน้อยลงกว่า 36% ยังมีอยู่ จึงต้องลุ้นว่า ข้อเสนอที่ส่งไปใหม่ สหรัฐฯ จะยอมรับหรือไม่ และต้องคำนึงด้วยว่า สิ่งที่เราเสียสละไปเพื่อที่จะแลกกับการอยู่บนโต๊ะเจรจา มีสินค้าตัวไหนที่ได้รับผลกระทบ
“การบีบการขู่ ด้วยจดหมายแบบนี้ เอาเดดไลน์มาบีบ ให้เราจนมุมขนาดนี้ ก็ทำให้การเจรจามีแรงกดดันสูงมากๆ จึงไม่แน่ใจว่าเราได้ให้อะไรที่ไม่สมควรที่จะให้ ไว้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะเลย เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ก็คงต้องเตรียมแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” ศิริกัญญาระบุ
ศิริกัญญาตั้งข้อสังเกตว่า หลังการเจรจาเดือนเมษายนยังไม่ค่อยเห็นรัฐบาลเตรียมการ เยียวยาผลกระทบให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกร ที่ผ่านมามีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณหมื่นล้านบาทเศษ ให้กับผู้ที่รับผลกระทบกับสงครามการค้า แต่ก็น้อยนิดเหลือเกิน ซึ่งโครงการที่ใหญ่ที่สุด คือให้ประกันสังคมปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อพยุงการจ้างงาน ไม่แน่ใจว่าจะพยุงได้กี่ตำแหน่งงาน ถือมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากหน้าตักทางการคลังก็ลดน้อยลงไปทุกที
รัฐบาลไทยเริ่มเดินเกมเจรจาช้า
สำหรับกรณีการจ้างล็อบบี้ยิสต์เพื่อเจรจากับสหรัฐฯ ศิริกัญญาระบุว่า ตนเองเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่าได้ทำสัญญากันไปครบถ้วนหรือไม่ ทั้งทางฝั่งของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แต่คาดว่าน่าจะยังทำสัญญาได้ไม่เสร็จสิ้น เพราะถ้าจะทำสัญญาแล้ว จ่ายเงินไปกว่า 200 ล้านบาท น่าจะได้ผลการเจรจาที่ดีกว่านี้ ได้พบคนสำคัญมากกว่านี้
“จึงขอภาวนาว่ายังใช้เงินไม่หมด และใช้เงินน้อยกว่า 200 ล้านบาท เพราะผลที่ได้ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่ และก็ยังพูดได้ยากว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เพราะยังไม่เซ็นสัญญาว่าจ้าง ถ้าทำสัญญาเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 หน่วย ก็จะเสียเงินเดือนละ 400,000 บาท ถือเป็นอัตราที่สูงมาก ต้องถือว่าเป็นการตำน้ำพริกมาหลายแม่น้ำจริงๆ” ศิริกัญญาระบุ
นอกจากนี้ ศิริกัญญา ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 เปิดเผยว่า กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคประชาชน เสนอจัดทำงบประมาณใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์เรื่องการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้จะเสนอใหม่อีกครั้ง แต่ต้องให้ พิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ มาอธิบายก่อน
สำหรับการเปรียบเทียบว่าประเทศกัมพูชาได้ลดจาก 49% เหลือ 36% เท่าไทย ศิริกัญญากล่าวว่า ตามที่ประกาศใหม่ ไม่มีประเทศไหนได้เกิน 40% กัมพูชาบอกว่าเจรจาเรียบร้อยแล้วและกำลังจะแถลง แต่ก็โดนจดหมายนี้ด้วย แต่เมื่อดูปริมาณการค้ากับทางสหรัฐอเมริกา กัมพูชา ถือว่าเบาบางมาก และไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไร แต่ที่สำคัญคือกัมพูชาได้เจรจาก่อนหน้าไทย ไปที่สหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ไม่แน่ใจมีความคืบหน้าไปกว่าประเทศไทยหรือไม่
ศิริกัญญายังยอมรับว่า การเริ่มเจรจาช้ามีผลมาก เพราะตอนนี้หลายประเทศเหลือรายละเอียดไม่กี่อย่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ แต่สำหรับประเทศไทยกลายเป็นว่าพูดคุยไปเพียงแค่ครั้งเดียว และโดนบีบให้จนมุมด้วยเดดไลน์ที่กระชั้นชิด ทำให้เราต้องยื่นข้อเสนออะไรบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยอย่างจริงจังในข้อเสนอล่าสุดที่ส่งให้สหรัฐฯ ไป รวมถึงจะต้องได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และจะมีการเยียวยาอย่างไร