วันนี้ (12 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบาย ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายนโยบายของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ขอเสนอแนวคิดเพื่อทำให้คำแถลงนโยบายนี้เป็นเหมือน GPS ที่จะคอยบอกเราว่า รัฐบาลจะพานาวานี้แล่นไปทางไหน เป้าหมายอยู่ที่ใด ด้วยวิธีการใด เดินทางในเส้นทางไหน เหมือนหรือต่างกับที่เคยสัญญากับผู้ร่วมเดินทางหรือโปสเตอร์ของพวกเขาอย่างไร และจะเดินทางไปถึงเป้าหมายเมื่อไร
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแพทองธารมีเรื่องยุ่งยากซับซ้อนเพราะต้องผิดสัญญาไปแล้วหนึ่งรอบ จึงเห็นว่าโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีควรใช้การแถลงนโยบายเป็นกลไกช่วยกู้ความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ ควรต้องเป็นสัญญาที่หนักแน่นว่า 3 ปีข้างหน้าจะทำอะไร เพราะคำสัญญาที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นจึงจะแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนได้
ศิริกัญญาชี้ว่า นโยบายของรัฐบาลแพทองธาร เมื่อตรวจแล้วไม่ค่อยต่างอะไรกับรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงเป็น GPS ที่พาเราหลงทาง ใช้คำกว้างๆ พูดลอยๆ พูดอีกก็ถูกอีก ใช้คำว่าเร่งรัดแต่ไม่ได้บอกว่าจะเสร็จเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ให้คะแนนเพิ่มจากการอธิบายรายละเอียดนโยบายลงไปตามมาตรการ และนโยบายย่อยต่างๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมา
ส่วนการกำหนดเป้าหมายที่ระบุไว้ในส่วนท้ายคือ “การสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทยและประเทศไทย” ซึ่งต้องบอกว่าเป้าหมายนี้ไม่มีความชัดเจน เพราะถ้าชัดเจน คงไม่ต้องมีผู้อภิปรายมาช่วยขยายความว่าตกลงมีกินมีใช้คืออะไร
ศิริกัญญาระบุว่า ส่วนตัวชอบมากที่คำว่า ‘เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม’ แสดงว่าแม้คำแถลงนโยบายจะไม่ได้บรรจุคำว่าเหลื่อมล้ำสักเท่าไร แต่ถ้านายกรัฐมนตรีบรรจุคำนี้ไว้เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียม แสดงว่าคงจะมองเห็นประเด็นของความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ซึ่งเป็นผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ทั้งทางด้านรายได้ ทรัพย์สิน การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพโดยไม่ต้องพึ่งพาเส้นสาย เพื่อการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม
“แต่ที่เหลือก็ยังไม่ได้ช่วยให้ประชาชนเห็นเป้าหมายเพิ่มเติมเลย หากเทียบกับนายกรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ดิฉันขอมอบมงให้กับคำแถลงของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องปัดตกไป เพราะนั่นเป็นประเทศไทยที่พัฒนาแล้วในอีก 80 ปี” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญายังเจาะจงไปในคำแถลงนโยบายของยิ่งลักษณ์ที่มีรายละเอียดชัดเจน มีเป้าหมาย มีกรอบเวลาชัดเจน และตรงกับนโยบายที่สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าจะไล่คนเขียนนโยบายคำแถลงนั้นออกไปทำไม เพราะนี่เป็นตัวอย่างว่าหากจะเขียนให้ชัดก็เขียนได้และเคยทำมาแล้ว แต่ไม่ยอมเขียน
“ดิฉันตกใจมากที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตในการแถลงนโยบายรอบนี้ คำว่า ‘10,000 บาท’ หายไป อย่าทำให้ใจเสีย รีบตอบมาว่าตกลงได้ 10,000 บาทอยู่หรือไม่ เพราะประชาชนทวงถามมา รวมถึงการเพิ่มเติมโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทเพิ่มขึ้นมา ที่แปลงร่างเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย 20 บาท ทำไมไม่ใส่เหมือนกับที่เคยหาเสียงไว้แล้ว แต่กลับเหมือนอย่างอื่นแทน คือวิสัยทัศน์ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีความตรงกันทั้งหมด 11 จาก 14 ประเด็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะหลายนโยบายเหมือนกันเป๊ะ” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญาระบุว่า ความเหมือนไม่ใช่ปัญหาเรื่องครอบงำ แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบที่ตกลงไม่รู้ว่าใครเป็นคนวางนโยบายตัวจริง ต้องถามใครหรือเชื่อใครกันแน่ หากสุดท้ายยังเป็นแบบนี้ ต่อไปการประชุม ครม. จะเป็นเพียงพิธีกรรม เรื่องใหญ่ๆ อาจไม่ถูกตัดสินจากที่ประชุม แต่ถูกตัดสินมาแล้วจากที่อื่น เช่น ห้องอาหารในโรงแรมต่างๆ หรือในเซฟเฮาส์
“เราอยากจะเห็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าท่านจะเป็นคนที่ดำเนินนโยบายที่แถลงได้เองจริงๆ ยังไม่สาย เพราะการอ่านก็อ่านไปตามกฎหมาย แต่วันนี้ขอให้ท่านได้มาตอบด้วยตัวเองในรายละเอียดต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร เพราะเราอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่มีแสงสว่างในตัวเอง เป็นดาวฤกษ์ ไม่ใช่ดาวเคราะห์ ไม่ใช่ดวงจันทร์ที่ส่องสว่างโดยใช้แสงจากพระอาทิตย์ และวันที่พระอาทิตย์สว่างจ้าเสียเหลือเกิน เราจะไม่เห็นดวงจันทร์เลย” ศิริกัญญากล่าว
ศิริกัญญากล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่เปลี่ยนแปลงมากมายหลายรอบ และคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงอีก จนถึงตอนนี้เป็นรอบที่ 7 แล้ว แต่ก็ยังได้เงินไม่พอจ่ายให้ครบ 45 ล้านคนอยู่ดี จึงมีการแถลงของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมา วันนี้จึงอยากฟังให้ชัดๆ ว่าตกลงแล้วโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไปสุดที่ตรงไหน เพราะอีก 3 วันคือวันที่ 15 กันยายนนี้ จะหมดเขตลงทะเบียน และหากประชาชนคนใดยังไม่ได้ลงทะเบียนก็ช่วยมาลงทะเบียน จะได้รู้แน่ว่าสรุปแล้วกลุ่มเป้าหมายมีกี่คน และจะหาเงินมาจากไหน จะยังแจกคนละ 10,000 บาทอยู่หรือไม่ และจะแจกเป็นเงินสดหรือดิจิทัล
“สุดท้ายพอเปลี่ยนนายกฯ ทีนี้ไม่มีใครกล้าเสี่ยงทำผิดกฎหมายอีกแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาล ไม่ใช่แค่ ครม. ที่เกี่ยวข้องที่เสียเครดิต แต่ข้าราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้บริหารในกระทรวงใหญ่ๆ เสียผู้เสียคนกันหมด เพราะต้องออกมาแก้ต่างแทนรัฐบาล กลายเป็น 1 ปีที่สูญเปล่า สุดท้ายเงินยังไม่ได้ เสียเวลา เสียสมาธิ เสียโอกาสที่จะใช้งบกลางไปกระตุ้นในด้านอื่นๆ พอไม่ออกมาตรการอื่นๆ ระหว่างทาง แทนที่ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือก็ไม่ได้”
ศิริกัญญายังกล่าวถึงการปฏิรูปราชการว่า รัฐบาลมองเพียงว่าต้องลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริงของความอุ้ยอ้าย ความซ้ำซ้อน และความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ แต่ถ้าดูจากการวิเคราะห์นโยบายที่ออกมา เรื่องการปฏิรูประบบราชการ ไม่เห็นว่าจะเป็นทางออก ทางรอดของการปฏิรูปผ่านถ้อยคำแถลงครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเอง