ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เร่ง กกต. รับรองผลเลือกตั้ง ระบุงบประมาณปี 2567 อาจดีเลย์ถึงไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ จ่อกระทบ GDP ฉุดเม็ดเงินลงทุนของรัฐและเอกชนวูบ 2 ไตรมาส
วันนี้ (25 พฤษภาคม) ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณจะต้องประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป อาจล่าช้าไปถึงในไตรมาส 2 (มกราคม-มีนาคม) และไตรมาส 3 (เมษายน-มิถุนายน) ของปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ การจัดงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) แบบเต็มรูปแบบในปีงบประมาณ 2567 ยังไม่น่าทำได้ เพราะมีเงื่อนระยะเวลามาบังคับ
“ยิ่งเราทำช้า ก็ยิ่งทำให้งบประมาณออกช้าไปอีก โดยตอนนี้น่าจะดีเลย์ไป อย่างน้อยน่าจะออกได้ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2567” ศิริกัญญากล่าว พร้อมระบุอีกว่า “ถ้าตามกำหนดเวลารัฐบาลต้องถวายสัตย์ฯ ภายในเดือนสิงหาคม รื้องบอีกสัก 2 เดือน ตั้งรัฐบาลภายใน 105 วันก็น่าจะเสร็จประมาณไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเร็วกว่าการเลือกตั้งปี 2566 ถึง 2 เดือน แต่ พ.ร.บ.งบประมาณยังออกได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม”
ผลกระทบหากงบประมาณปี 2567 ‘ดีเลย์’
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่างบประมาณปี 2567 ที่คาดว่าจะประกาศใช้ล่าช้าจะเกิด Government Shutdown หรือไม่ ศิริกัญญามองว่าจะไม่ถึงขั้นนั้น เนื่องจากตามระเบียบแล้ว รัฐบาลใหม่ยังสามารถใช้งบประมาณปี 2566 ไปพลางๆ ก่อนได้ แต่จะใช้ได้แต่รายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุนยังใช้ไม่ได้ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิด Government Shutdown หรือรัฐบาลขาดสภาพคล่องไม่มี
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณไปพัฒนาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะหายไป 2 ไตรมาส เนื่องจากงบลงทุนตรงนี้เป็นตัวสำคัญที่จะไปเหนี่ยวนำการลงทุนของเอกชนด้วยจะหายไป
เตรียมรื้อ (เล็ก) งบประมาณปี 2567
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของก้าวไกลมีแนวโน้มจะรื้องบประมาณ 2567 แค่ไหน ศิริกัญญาระบุว่าจะรื้อแน่นอน แต่เป็น ‘รื้อเล็ก’ ก่อน เนื่องจาก ติดเรื่องข้อบังคับที่ว่า การตัดออกและเพิ่มเข้าต้องอยู่ในโครงการที่เสนอมาตั้งแต่ต้นปี 2566
สำหรับงบประมาณส่วนที่จะรื้อแน่นอน ศิริกัญญาระบุว่า ได้แก่ งบทหาร และงบเล็กงบน้อย เช่น งบอบรมสัมมนา ที่ไม่สามารถยืนยันถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นได้ รวมถึงงบประมาณที่ไปลงในจังหวัดต่างๆ ให้เปลี่ยนไปลงท้องถิ่นแทน
“แน่นอนว่างบที่ตัดทอนไม่ได้ ก็คืองบที่ตัดทอนไม่ได้ เช่น รายจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการต่างๆ ซึ่งเป็นข้อบังคับตามกฎหมาย งบท้องถิ่นซึ่งมีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งเราก็ไม่มีเจตจำนงจะตัดอยู่แล้ว และอยากให้เพิ่มงบที่จะใช้คืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยก็ตัดไม่ได้ งบผูกพันก็ตัดไม่ได้ งบสวัสดิการต่างๆ เช่น งบบัตรทอง สวัสดิการผู้สูงอายุก็ไม่ตัด สรุปแล้วจะเหลืองบที่รื้อได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทนิดๆ เท่านั้น” ศิริกัญญากล่าว
จ่อรื้อนิยาม ‘งบลงทุน’
ศิริกัญญายังระบุอีกว่า เนื่องจากงบลงทุนของประเทศส่วนใหญ่เป็นการสร้างตึก-ตัดถนน เราก็คงต้องมานั่งพิจารณากันจริงๆ ว่าจำเป็นต้องสร้างตึก-ตัดถนนกันขนาดนั้นหรือไม่ แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่า งบลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า 20% เราจึงอาจต้องมาแก้นิยามในอนาคตว่า นับอะไรเป็นการลงทุนบ้าง โดยปัจจุบันไทยนับแค่รายจ่ายการลงทุน (Capital Expenditure) เช่น การลงทุนไปกับสินทรัพย์ถาวร แต่การลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) เช่น การศึกษา ก็ยังไม่นับ