×

2 ท่าทีการเมืองร้อนปมดิจิทัลวอลเล็ต ก้าวไกลแนะรัฐบาลรับผิดชอบถ้าไปต่อไม่ได้ เพื่อไทยย้ำยังไม่เห็นจุดที่ต้องยุติโครงการ

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 มกราคม) ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตนได้อ่านรายงานของ ป.ป.ช. ฉบับนี้ ในรายงานข่าวว่า ตนเองคิดว่าเป็นคำแนะนำที่รัฐบาลอาจจะรับฟังเอาไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม เรื่องของการดำเนินนโยบายมันเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง 

 

ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามและไม่ได้เป็นข้อกฎหมายที่จำเป็นอะไร และตนก็ขอให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตามกรอบของตัวเอง ซึ่งเท่าที่อ่านมาก็ไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ด้วยซ้ำไป แต่หากคิดว่าเป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลก็ควรรับฟัง พร้อมย้ำว่า แต่ก็ไม่ควรนำมาเป็นจุดอ้างอิง

 

“หากเราไม่ได้ทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นว่า ป.ป.ช. ได้พูดแบบนั้นแบบนี้ หรือกฤษฎีกาพูดแบบนั้นแบบนี้ อยากให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ถ้าโครงการเงินดิจิทัลจะไปต่อไม่ได้ ไม่ต้องเอาหลังไปพิงองค์กรอิสระ” ศิริกัญญากล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพรวมของรายงานฉบับดังกล่าวที่มีการระบุว่ามีความเสี่ยงในหลายด้านนั้น ศิริกัญญากล่าวว่า ป.ป.ช. ระบุว่าไม่มีวิกฤต ซึ่งก็มีรายงานอ้างอิงวิกฤตจากธนาคารโลก แต่สถานการณ์ของประเทศยังไม่เข้าขั้นนั้นแม้แต่ข้อเดียว ส่วนจะเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ตนเองเคยพูดไว้หรือไม่นั้น ถ้าเป็นฝ่ายค้านพูดน้ำหนักอาจจะดูน้อย อาจคิดว่าเราแฝงไปด้วยการเมือง แต่จริงๆ แล้วหลายเรื่องที่ระบุอยู่ในรายงานของ ป.ป.ช. ก็เป็นเรื่องที่ตนเคยพูดไปแล้ว แต่ถึงแม้จะเห็นตรงกัน ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้ตัวรายงานฉบับนี้ของ ป.ป.ช. มาเป็นตัวหลังพิง อยากให้รัฐบาลยืดอกรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่ว่าทำไมถึงไปต่อไม่ได้

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากมีการทบทวนวิธีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน และเปลี่ยนไปใช้เป็นงบกลางปี 2568 เพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อ จะยังมีปัญหาอะไรที่มองเห็นหรือไม่ ศิริกัญญาบอกว่า ไม่มี ทางหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการเปลี่ยนไปใช้งบประมาณปี 2568 แต่งบประมาณปี 2568 ก็จะเข้าแบบเดียวกันกับงบประมาณปี 2567 คือไม่มีที่ว่างเหลือให้ใส่โครงการขนาด 5 แสนล้านบาทเข้าไป ถ้าเรายังไม่แก้โครงสร้างงบประมาณให้แล้วเสร็จ แต่หากลดขนาดของโครงการลงมาให้เล็กลง ก็พอที่จะยัดเข้าไปในปี 2568 ได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุดแล้วที่ทำได้

 

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า สามารถจำลองได้หรือไม่ว่าทางที่ปลอดภัยที่สุดของรัฐบาลคือการยุติโครงการ ศิริกัญญากล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ามีโอกาสที่จะทำได้ คืออาจจะลดไซส์โครงการให้เล็กลง และใช้แนวทางที่เป็นไปได้ตามกฎหมายก่อน หรืออาจเป็นอีกวิธีหนึ่งคือการแก้ไข พ.ร.บ.การเงินการคลัง ในกรณีที่รัฐบาลอยากจะกู้เงินไม่จำเป็นต้องมีวิกฤตก็ได้อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลก็เป็นกลุ่มเสียงข้างมากในรัฐสภาอยู่แล้ว 

 

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการต่อโดยใช้เงื่อนไขเดิมจะมีผลอย่างไร ศิริกัญญากล่าวว่า ก็จะมีผลแน่นอน เพราะทุกคนก็ทราบดีว่าจะติดล็อกทางกฎหมาย ตนไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่อะไร อาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะคนที่จะฝ่าฟันลุยไฟไปด้วยกันไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ก็คือรัฐสภาที่ต้องโหวตกฎหมายอันสุ่มเสี่ยงไปด้วย รวมถึงข้าราชการต่างๆ ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายไปจนถึงคณะอนุนโยบายก็ต้องถูกดึงมาอยู่ในร่างแหนี้ไปด้วย จึงอยากให้คิดทบทวนหาทางออกกับโครงการนี้ให้ดี 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า ความเห็นของ ป.ป.ช. ออกมาในลักษณะนี้อย่างเป็นทางการ กำลังมองว่ารัฐบาลอาจใช้เป็นข้ออ้างในการยุติโครงการใช่หรือไม่ ศิริกัญญาตอบว่า ก็อาจจะเป็นอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นทำไมต้องมีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตออกไป ทั้งๆ ที่ความเห็นของ ป.ป.ช. คือความเห็น คิดว่าสามารถพิจารณากันได้เอง ไม่ต้องใช้ความเห็นของ ป.ป.ช. ถามว่าต้องรับฟังไหม ก็ควรต้องรับฟัง แต่มันก็ไม่ใช่จุดเปลี่ยนหรือเงื่อนไขสำคัญที่โครงการนี้จะไปต่อหรือไม่ไปต่อด้วยความเห็นของ ป.ป.ช.

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่าหากไม่ฟังความเห็นของ ป.ป.ช. ก็อาจซ้ำรอยเดิมคือโครงการรับจำนำข้าว ศิริกัญญากล่าวว่า กรณีนี้เทียบเคียงกับโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ แต่หากจะเทียบเคียงก็ให้เทียบเคียงกับกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท สุดท้ายถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่มีใครได้รับผลกระทบทางกฎหมายอะไรเลย ยกเว้นคนที่เสียบบัตรแทนกัน

 

ศิริกัญญากล่าวแนะนำรัฐบาลว่า อยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆ อยากให้คิดให้ถี่ถ้วนอีกครั้งว่ามันมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ด้วยวิธีการใดบ้าง ตอนที่หาเสียงเลือกตั้งยังไม่มีอำนาจรัฐ ยังไม่มีแขนขาที่เป็นข้าราชการ อาจจะยังคิดไม่ออกว่าต้องทำด้วยวิธีการใด แต่วันนี้มีข้าราชการคอยมาเป็นแขนขา คอยช่วยคิดให้แล้ว ก็อยากให้อยู่นิ่งๆ แล้วคิดก่อนว่าจะเดินหน้าอย่างไรได้บ้าง โครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือจำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด 

 

ศิริกัญญากล่าวยืนยันว่า ตนเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจมันไม่ดี มันเติบโตต่ำ ซึ่งอาจจะไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็มีปัญหาที่จะต้องแก้ในระยะสั้นและต้องแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว ดังนั้นเรื่องใดที่ต้องเริ่มทำทันทีก็เริ่มทำได้แล้ว อย่ามัวแต่รอดิจิทัลวอลเล็ต เพราะไม่รู้เมื่อไรจะได้ทำสักที เพราะหากมีวิกฤตจริงมันก็รอไม่ได้ 

 

“ถึงแม้วันนี้จะยังไม่เกิดวิกฤต แต่มันก็รอไม่ได้แล้วเหมือนกันที่รัฐบาลจะต้องทำอะไรสักอย่างให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้แล้ว และที่ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคมมันก็อาจจะล่าช้าเกินไป แถมยังต้องมาลุ้นอีกว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่มันต้องทำทันทีด้วยงบกลางที่มีอยู่ตอนนี้ ก็ต้องออกโครงการมาให้ประชาชนรู้สึกว่าการจับจ่ายใช้สอยมันคล่องตัวมากขึ้นแล้ว” ศิริกัญญากล่าว

 

จุลพันธ์ชี้ ไม่ถึงจุดยุติโครงการ

 

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​การคลัง​ แถลงยอมรับว่าเห็นเอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่หลุดออกมาและได้ดูเนื้อหาโดยละเอียดแล้ว ซึ่งถือว่าเขียนได้ชัดเจนและแรงพอสมควรในการคัดค้านการเดินหน้าโครงการนี้ 

 

รัฐบาลก็จะรับฟังเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา แม้ตอนนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าเป็นเอกสารของจริงที่จะส่งให้รัฐบาลหรือเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ติดตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของ สุภา ปิยะจิตติ บุคคลที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดอยู่แล้ว น่าจะส่งความเห็นนี้ไว้ก่อนเกษียณ จึงต้องรอดูว่าคณะกรรมการชุดใหญ่ของ ป.ป.ช. จะมีมติส่งความเห็นมาให้รัฐบาลอย่างเป็นทางการเมื่อใด แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีหน้าที่รับฟังทุกความเห็น และต้องยอมรับว่าไม่มีใครเห็นพ้องต้องกันในทุกเรื่อง แต่อยากให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน

 

จุล​พันธ์กล่าวต่อว่า ตอนที่ได้เห็นถึงหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือเป็นคำตอบเชิงกฎหมาย ไม่ห้ามแต่ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่หากหนังสือของ ป.ป.ช. ที่ออกมาเป็นความจริง ก็ชัดเจนว่ามีการวางธงว่าโครงการนี้เดินหน้าไม่ได้ 

 

สะท้อนให้เห็นว่า มีบางกลุ่มบางองค์กร เช่น ป.ป.ช. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีความเห็นต่าง อาจยังไม่เห็นวิกฤตเศรษฐกิจ​เหมือนที่รัฐบาลเห็นจากการที่ลงพื้นที่ไปทั่วประเทศ เราไม่ได้ทำงานในห้องแอร์ รัฐบาลไม่ได้มองเศรษฐศาสตร์เป็นแค่หนังสือแบบเรียน แต่มองในมิติของความเป็นจริง เป็นชีวิตของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 

 

“วันนี้ถ้าดูกรอบเวลาไม่น่าจะทันเดือนพฤษภาคม หากไม่ทันก็ต้องเรียนด้วยความเคารพ แต่รัฐบาลยืนยันว่าเราจะต้องเดินหน้านโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป” จุลพันธ์กล่าว 

 

ขั้นตอนต่อจากนี้จุลพันธ์กล่าวว่า ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งหนังสือถึงรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นฉบับนี้ ฉบับแก้ไข หรือฉบับใดก็ตาม ก่อนจะเชิญคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลฯ มาประชุมพิจารณาความเห็นกฤษฎีกาและ ป.ป.ช. ไปในคราวเดียวกัน จึงจะเริ่มกระบวนการในการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจให้กับหน่วยงานและองค์กรใดๆ รัฐบาลจะพยายามทำจนกว่าทุกฝ่ายจะมีความเห็นตรงกันและเดินหน้าโครงการนี้ได้ในที่สุด

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ทันกรอบงบประมาณปี 2567 ยาวไปถึงปี 2568 จุล​พันธ์กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ ต้องรอหารือเรื่องนี้ในที่ประชุมก่อน พร้อมปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่ายังคงจะออกเป็น พ.ร.บ.​กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หรือจะใช้แหล่งที่มาอื่น ขอให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายก่อน โดยจะรอจนกว่าจะได้ความเห็นจาก ป.ป.ช. แม้ว่าจะต้องรอนานกว่า 1 เดือน และตอนนี้ยังไม่มีตัวเลือกที่จะยุติโครงการหรือล้มโครงการ 

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่เห็นจุดที่ต้องยกเลิกโครงการ แต่จะมีโอกาสไปถึงจุดนั้นใช่หรือไม่ จุล​พันธ์กล่าวว่า “ผมยังไม่เห็นจุดนั้นครับ” ส่วนใครจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะเดินหน้าหรือยุติโครงการ จุล​พันธ์ย้ำว่า ต้องรอการพูดคุยกัน

 

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ฝ่ายการเมืองรวมไปถึงวุฒิสภากำลังมองว่ารัฐบาลดันทุรังเดินหน้าโครงการนี้ จุล​พันธ์กล่าวว่า ไม่ใช่การดันทุรัง แต่เรามองเห็นปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงต้องชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง กลับมาอยู่ในระดับศักยภาพของประเทศไทยอีกครั้ง จึงใช้คำว่าดันทุรังไม่ได้ มันเป็นความตั้งใจที่จะทำเพื่อประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจนถึงที่สุดที่จะเดินหน้าโครงการนี้ตามที่ได้หาเสียงไว้

 

ขณะเดียวกันจุล​พันธ์ยังได้โต้แย้งศิริกัญญาที่ระบุว่า รัฐบาลจะใช้ความเห็นของ ป.ป.ช. เป็นหลังพิงล้มโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีหน้าที่รับฟังความเห็นรอบด้านไม่ว่าจะอยู่ภาคส่วนใดของสังคม ก็ต้องนำมาปรับให้เกิดความเหมาะสมที่สุด เสียงฝ่ายค้านเราก็ฟัง จะมาใช้คำว่า ป.ป.ช. เป็นหลังพิงไม่ใช่ แต่เมื่อมีข้อมูลเข้ามาเราก็ต้องรับฟัง และตนก็ไม่อยากให้พรรคฝ่ายค้านใช้ ป.ป.ช. เป็นเครื่องมือในการทำลายรัฐบาล

 

“รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง มองเห็นและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคืออะไรและความพยายามคืออะไร ถึงต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย” จุลพันธ์กล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X