“ถ้าไม่ได้เรียนทำหนังก็คงเรียนหมอมั้งคะ คงต้องเรียนอะไรสักอย่างที่มันซัพพอร์ตชีวิตเราได้ จริงๆ เราว่าเรียนคณะไหนก็ Suffer มันขึ้นอยู่กับว่า Suffer แล้วยังมีความสุขไหม สำหรับเราเรียนทำหนังมัน Suffer แต่เรามีความสุข”
Invisible Murder ภาพยนตร์สั้น กำกับ และอำนวยการสร้างโดย ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา นิสิตเอกการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่งสร้างชื่อให้กับประเทศไทย หลังจากคว้ารางวัล Silver Award ในสาขา Woman Filmmaker จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติประจำกรุงนิวยอร์กมาได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายนที่ผ่านมา
และล่าสุด Invisible Woman เพิ่งคว้ารางวัลตัดต่อภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม (Best Editing in Short Film) และรางวัลนักแสดงนำหญิง ภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม (Lead Actress Honorable Mention in a Short Film) จาก South Film and Arts Academy Festival ประเทศชิลี มาครองได้สำเร็จ
จุดเปลี่ยนจากความเชื่อและชอบในโลกภาพยนตร์
ย้อนกลับไปในปี 2558 ปราง-ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา คืออดีตนักเรียนแอดมิชชันอันดับ 1 ของประเทศไทย หลังจากนั้นเธอตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นอะไรที่พลิกออกจากกรอบค่านิยมทางการศึกษาของสังคมไทยพอสมควร
ปรางเล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อด้านภาพยนตร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อแพชชันด้านภาพยนตร์ของเธอ เพราะแม้ว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่จะเป็นหมอ แต่ด้วยเพราะครอบครัวของเธอมีวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ร่วมกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของความชื่นชอบก่อนจะกลายเป็นแรงบันดาลใจในเวลาต่อมา
“รู้สึกว่าดูหนังทุกทีมันไม่ใช่ได้แค่ความสนุก แต่มันได้แรงบันดาลใจ ได้อะไรหลายอย่าง เราเคยรู้สึกล้ม ล้มแรงมาก และก็ถูกฉุดขึ้นมาด้วยหนัง ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกที่เราอยากส่งต่อ”
ปรางเล่าว่าช่วงแรกหลังจากตัดสินใจเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ เอกการภาพยนตร์และภาพนิ่ง ครอบครัวค่อนข้างกังวล ด้วยเหตุผลว่าประสบการณ์ด้านการทำหนังของเธอเท่ากับ ‘ศูนย์’ อีกทั้งที่ผ่านมาปรางยังเรียนสายวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความเชื่อว่าทำได้ สุดท้ายพ่อและแม่ก็ยอมรับในการตัดสินใจของเธอ
“เหมือนพ่อแม่พยายามทดสอบว่าเราสู้แค่ไหน พอเห็นเราดื้อ ไม่ยอมไปสอบหมอ เขาก็เลยยอม” ปรางเล่าเสริมถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตการศึกษา ซึ่งเสาหลักสำคัญยังคงเป็นครอบครัวที่ยอมรับและเชื่อมั่นใจการตัดสินใจของเธอ
เมื่อเชื่อในเส้นทางที่ ‘ใช่’ จงกล้าจะตามฝัน
กระทั่งเมื่อเข้าศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ได้ 2 ปี ระหว่างปิดเทอมก่อนขึ้นปี 3 ปรางได้รับคำชวนจากเพื่อนที่นิวยอร์กให้ลองมาเรียนคอร์สทำหนังช่วงซัมเมอร์ เธอรีบตอบตกลงเพราะต้องการหาประสบการณ์บนเส้นทางที่เชื่อ
ปรางสมัครคลาสสอนทำภาพยนตร์ที่สถาบัน Sarah Lawrence College ของ International Film Institute of New York ซึ่งเป็นคอร์ส Intensive ระยะสั้น สอนขั้นต้องการสร้างภาพยนตร์ทุกอย่าง ตั้งแต่เขียนบท กำกับ ถ่ายทำ และตัดต่อ สำคัญที่สุดก่อนจบคอร์ส นักเรียนแต่ละคนจะต้องพัฒนาโปรเจกต์ ‘ภาพยนตร์สั้น’ ของตนเอง และสร้างมันออกมาให้เป็นจริง ซึ่งนั่นเป็นที่มาของ Invisible Murder ผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกที่วันนี้ได้พาเธอเดินทางไปไกลจากจุดเริ่มต้นอย่างคาดไม่ถึง
“Invisible Murder เป็นหนังโปรดักชันใหญ่ที่ลงมือทำจริงๆ จังๆ ครั้งแรก ความยากอีกอย่างคือภาษา เพราะต้องกำกับด้วยภาษาอังกฤษตลอดเวลา”
ขั้นตอนต่างๆ เริ่มต้นด้วยการเขียนบทเป็นอันดับแรก ปรางมีเวลาประมาณ 1 เดือนที่จะพัฒนาบท ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำจริง Invisible Murder เล่าเรื่องราวของหญิงสาวผู้ไร้ตัวตนในสายตาคนรอบข้าง กระทั่งเธอตัดสินใจก่อเหตุอาชญากรรมลึกลับบางอย่าง เพื่อหวังให้คนอื่นสนใจเธอสักครั้ง
ปรางเล่าถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังพล็อตเรื่องดังกล่าวว่า มาจากความรู้สึกของเธอเมื่อเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย การเปลี่ยนแปลงจากสังคมมัธยมปลายทำให้เธอต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากสังคมที่ใหญ่ขึ้นทำให้เธอประสบปัญหาในการทำความรู้จัก หรือพยายามสนิทกับเพื่อนทุกคน ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นความรู้สึกที่เด็กมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องเผชิญ
“ช่วงที่เกิดไอเดียหนังเรื่องนี้ขึ้นมา คือช่วงที่เรารู้สึกว่าพูดอะไรไปทำไมไม่มีใครตอบเราเลยวะ ทุกคนทำเหมือนเราเป็นอากาศ เรารู้สึกไม่ Fit In จนกระทั่งมารู้สึกว่าตัวเองพยายามมากเกินไป ถ้าเราเรียนรู้ที่จะช่างแม่งบ้าง อาจจะพบว่าตัวเองคิดมาก แคร์กับอะไรมากเกินไป”
เมื่อบทเสร็จเรียบร้อยก็เข้าสู่ขั้นตอนของการถ่ายทำ ปรางดำเนินการเตรียมตัวทุกอย่างด้วยตนเอง ตั้งแต่คัดเลือกนักแสดง เขียนสตอรีบอร์ด จัดหาอุปกรณ์ประกอบฉาก และเข้าไปปรึกษาซูเปอร์ไวเซอร์ประจำคลาสเป็นระยะ เพื่อขอยืมอุปกรณ์ถ่ายทำจากสถาบัน และเลือกโลเคชันซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในบริเวณโรงเรียน
เธอบรรยายความรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ทั้งเหนื่อยและกดดัน เพราะต้องร่วมงานกับเพื่อนในคลาสซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ทำให้ต้องมีความรับผิดชอบสูง ขั้นตอนการถ่ายทำเป็นในลักษณะเรียงตามคิว ซึ่งนักเรียนแต่ละคนต้องไปช่วยเพื่อนคนอื่นๆ ในกองถ่ายด้วยเช่นกัน
สาวไทยเทกคอร์ส ‘ฟิล์ม’ ในต่างแดนเล่าบรรยากาศวันถ่ายทำของเธอให้ฟังว่า “เราได้ถ่ายคนแรก และไม่ใช่ทุกคนในคลาสจะมีพื้นฐานการทำหนัง ใช้อุปกรณ์ก็ยังไม่ค่อยเป็น ทุกคนเลยมางมกันวันแรก กลายเป็นกินเวลาที่นัดนักแสดงมาทำให้เขาต้องนั่งรอ สักพักนักแสดงขอคุยกับเรา และซูเปอร์ไวเซอร์บอกว่าเราดูไม่ Professional และรู้สึกว่าเสียเวลาเลยขอเดินออกจาก Set ตอนนั้นคือช็อกไปเลย แต่ก็ต้องแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว กลายเป็นว่าหนังเรากว่าจะเสร็จก็สองสามวันเพราะต้องหานักแสดงใหม่”
จากแรกฝัน จากแรกทำ สู่แรกบิน!
เมื่อการถ่ายทำจบลง เข้าสู่ขั้นตอนตัดต่อ นักเรียนแต่ละคนจะแยกย้ายเข้าห้องตัดเพื่อจัดการกับโปรเจกต์ของตัวเอง ที่สุดหลังจากใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ Invisible Murder ฉบับสมบูรณ์จึงเสร็จสิ้น
ก่อนถึงวันปิดคลาสที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เชิญชวนครอบครัว คนรู้จัก นักแสดง มารับชมภาพยนตร์ที่ตนสร้าง ปรางเล่าให้ฟังว่ามีฟีดแบ็กหนึ่งที่ทำให้เธอประทับใจจากพ่อของเพื่อนร่วมคลาสที่มาดูหนัง เขาบอกว่าเข้าใจในสิ่งที่เธอต้องการสื่อสารและอยากให้เธอทำหนังต่อไป จนมาถึงความเห็นจากซูเปอร์ไวเซอร์ที่บอกว่างานของเธอยังไปได้อีกไกล อีกทั้งยังแนะนำให้ส่งผลงานไปตามเทศกาลต่างๆ
ปรางทำตามคำแนะนำโดยเริ่มค้นหาเทศกาลที่น่าสนใจและส่งผลงานเข้าไปคัดเลือก แต่ชีวิตคนทำหนังมือใหม่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ปรางเล่าให้ฟังว่ากว่าจะถึงวันนี้ที่ได้ก้าวขึ้นเวทีไปรับรางวัล Invisible Murder เธอถูกปฏิเสธเยอะมากจนเริ่มถอดใจ กระทั่งวันหนึ่งมีอีเมลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติประจำกรุงนิวยอร์กส่งมาแจ้งว่า หนังสั้นของเธอได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาล แน่นอนที่สุด ปรางดีใจกับข่าวดีครั้งแรก ก่อนที่อีกหลายข่าวดีจะตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการถูกคัดเลือกให้ไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆ อาทิ Women’s Only Entertainment Film International, South Film and Arts Academy Festival ที่ประเทศชิลี ได้รับรางวัล Silver Award สาขา Woman Filmmaker จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติประจำกรุงนิวยอร์ก และล่าสุดกับรางวัลตัดต่อภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม (Best Editing in Short Film) และนักแสดงนำหญิงในภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม (Lead Actress Honorable Mention in a Short Film) จาก South Film and Arts Academy Festival
ปรางบอกทิ้งท้ายว่าความสำเร็จเหล่านี้ทำให้เธอปลาบปลื้มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เห็นพ่อกับแม่บินไปรับรางวัลพร้อมเธอ อีกทั้งยังรับรู้ได้ว่าพวกเขาภาคภูมิใจในตัวเธอ
“องค์ประกอบความสำเร็จของเราคือความดื้อ ดื้อที่จะเชื่อว่าทำได้ เราเข้านิเทศศาสตร์ทั้งๆ ที่ตอนนั้นทำหนังไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่เราเชื่อว่าทำได้แล้วมันก็ทำได้จริงๆ การทำหนังหรืออะไรก็ตามมันจะไปสู่ความสำเร็จได้ต้องเริ่มทำก่อน ถ้ามัวคิดแต่ไม่เริ่มสักทียังไงก็ไม่สำเร็จ มันต้องลองก่อน ลองจากผิดไปถูก จากถูกไปสำเร็จ และเราไม่มีทางรู้ว่าอนาคตจะนำไปสู่อะไร ดังนั้นจงเชื่อมั่นในตัวเองให้มากๆ อย่าไปคิดว่า เฮ้ย เราทำไม่ได้ ขอให้เชื่อเถอะว่าสุดท้ายเราจะพาตัวเองไปสู่จุดมุ่งหมายอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าที่เราคาดหวัง”
Photo: ปราง ศิรดา