×

ผลทดลองวัคซีน Sinovac ของจีน พบประสิทธิภาพต่างกันใน 3 ประเทศ ข้อมูลในบราซิลชี้ป้องกันโควิด-19 ที่ 50.38%

13.01.2021
  • LOADING...
ผลทดลองวัคซีน Sinovac ของจีน พบประสิทธิภาพต่างกันใน 3 ประเทศ ข้อมูลในบราซิลชี้ป้องกันโควิด-19 ที่ 50.38%

หลายประเทศทยอยสั่งซื้อวัคซีน CoronaVac ที่พัฒนาโดย Sinovac Biotech ของจีน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้นั้นยังคงคลุมเครือ และสร้างความวิตกกังวล เนื่องจากเราได้ตัวเลขที่แตกต่างกันถึง 4 ค่าจากการทดลองใน 3 ประเทศ ขณะที่ข้อมูลการทดลองทางคลินิกล่าสุดในบราซิลพบว่า วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อเพียง 50.4%

 

ที่อินโดนีเซีย ซึ่งเตรียมแจกจ่ายวัคซีน Sinovac ให้กับประชาชนจำนวนมาก เผยข้อมูลการทดลองวัคซีนในคน พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ 65% แต่นั่นเป็นการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครเพียง 1,620 คน ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป หากต้องการข้อมูลที่น่าเชื่อถือกว่านี้

 

ส่วนที่ตุรกี เมื่อเดือนที่แล้วเผยผลการทดลองวัคซีนชนิดเดียวกันมีประสิทธิภาพสูงถึง 91.25% แต่ปัญหาเดียวกันคือกลุ่มทดลองมีขนาดเล็กเกินไปที่จะได้ข้อสรุปที่มีนัยสำคัญ

 

ข้อมูลที่หลายฝ่ายรอคอย คือการทดลองทางคลินิก (เฟส 3) ในบราซิล ซึ่งมีอาสาสมัครเข้าร่วมมากกว่า 13,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ทดลองวัคซีนของ Sinovac แต่ผลการทดลองก็ยิ่งสร้างความสับสน เมื่อสถาบัน Butantan ซึ่งจับมือกับ  Sinovac ในการผลิตวัคซีนในบราซิล เผยข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 78% ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบอาการไม่รุนแรง และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและปานกลาง

 

แต่ยิ่งสร้างความสับสนมากขึ้นไปอีกเมื่อ Butantan เพิ่งเผยข้อมูลประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนเมื่อวานนี้ (12 มกราคม) โดยระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 50.38%

 

ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีที่ได้ข้อมูลประสิทธิภาพแตกต่างกันระหว่าง 60-90% ในวัคซีนของ AstraZeneca ซึ่งพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งค่าที่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการฉีดวัคซีน 2 โดส แต่อัตราประสิทธิภาพทั้งสองล้วนผ่านเกณฑ์ประสิทธิภาพเกิน 50% สำหรับการอนุมัติใช้งานฉุกเฉินโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง

 

ด้านโฆษกของ Sinovac ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับตัวเลขประสิทธิภาพที่แตกต่างในบราซิล, ตุรกี และอินโดนีเซีย แต่ระบุเพียงว่า Butantan จะเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปในสัปดาห์นี้

 

ข้อมูลที่คลุมเครือสร้างความสับสนให้กับบรรดาผู้สังเกตการณ์ โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสังเกตว่า จากข้อมูลการทดลองที่ Butantan เผยนั้น พบว่ามีอาสาสมัครติดเชื้อ 220 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 160 คน และราว 60 คนที่ได้รับวัคซีนจริง ดังนั้นตัวเลขประสิทธิภาพที่ได้ควรอยู่ที่ 62.5% 

 

Butantan ขี้แจงว่า ตัวเลข 78% นั้นมาจากการแบ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง ปานกลาง และรุนแรง แต่เมื่อรวมกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรงเข้าไปด้วยจากอาสาสมัครทั้งหมด 13,000 คนจะได้ข้อมูลประสิทธิภาพที่ 50.4% ซึ่งแบ่งเป็นการพบผู้ติดเชื้อ 167 คนในกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับยาหลอก และผู้ติดเชื้อ 85 คนที่ได้รับวัคซีนจริง

 

นอกจากบราซิลและอินโดนีเซียแล้ว ไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เตรียมนำเข้าวัคซีนจาก Sinovac รวม 2 ล้านโดส โดยคาดว่าวัคซีนดังกล่าวจะจัดส่งถึงไทย 200,000 โดสในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ต่อด้วยอีก 800,000 โดสในช่วงปลายมีนาคม และ 1 ล้านโดสที่เหลือในช่วงปลายเมษายน

 

สำหรับวัคซีนของ Sinovac นั้น ใช้วิธีการพัฒนาโดยนำเอาอนุภาคไวรัสที่ตายแล้ว (Inactivated Vaccine) มากระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสในร่างกายมนุษย์ โดยมีข้อดีคือไม่ต้องเสี่ยงต่อการตอบสนองของโรคขั้นรุนแรง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนแบบ mRNA หรือการใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนของไวรัส ที่กลุ่มวิจัยหัวแถวของสหรัฐฯ อย่าง Pfizer และ Moderna ใช้นั้น วิธีของ Sinovac ดูจะเป็นวิธีพัฒนาวัคซีนตามแบบแผนที่ประสบความสำเร็จ และเคยใช้มาแล้วในการพัฒนาวัคซีนที่เป็นที่รู้จัก เช่น วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

 

ก่อนหน้านี้วัคซีน CoronaVac ได้รับการอนุมัติใช้งานฉุกเฉินกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงในจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยข้อดีอีกอย่างที่เห็นได้ชัดของวัคซีนตัวนี้คือสามารถเก็บในตู้เย็นปกติที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งสะดวกต่อการเก็บรักษาและขนส่ง อย่างไรก็ตาม การขาดข้อมูลด้านประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือ และการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ทำให้คนจำนวนมากเกิดความวิตกกับวัคซีนดังกล่าว

 

ภาพ: STR / AFP

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising