ราคาหุ้น บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (หุ้น SINGER) ในวันนี้ (2 พฤษภาคม) ร่วงต่ออีก 9.15% มาอยู่ที่ 12.90 บาท ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 1 ปี จากราคาสูงสุดเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ที่ 57.50 บาท หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 77.57% ขณะที่มูลค่ามาร์เก็ตแคปล่าสุดก็ลดลงมาตามราคาหุ้นเหลือราว 1.07 หมื่นล้านบาท จากที่เคยสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 4.77 หมื่นล้านบาท หมายความว่ามาร์เก็ตแคปหายไปถึง 3.7 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาเพียง 1 ปี
ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ SINGER แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ‘กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์’ ลาออกจากตำแหน่ง ‘กรรมการผู้จัดการใหญ่’ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2566 เป็นต้นไป จนถึงวันนี้ทางบริษัทยังไม่ได้ชี้แจงสาเหตุของการลาออกเพิ่มเติม
ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สบาย เทคโนโลยี หรือ SABUY เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในช่วงภาวะตลาดหุ้นไทยถูกผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมีนาคม ส่งผลให้บริษัทมีการปรับพอร์ต โดยขายหุ้นของ SINGER ออกมาสัดส่วนประมาณ 4.5% ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากระดับที่เคยถือสัดส่วน 5% จนส่งผลให้ปัจจุบันเหลือถือหุ้นใน SINGER จำนวนประมาณ 4.9 ล้านหุ้น หรือสัดส่วนราว 0.4% ของหุ้นทั้งหมด ส่งผลให้บริษัทจะมีการบันทึกผลการขาดทุนจากการขายหุ้นในครั้งนี้ประมาณ 37 ล้านบาทในงบการเงินไตรมาส 1/66
“การตัดขายหุ้น SINGER ออกเป็นการปรับพอร์ตลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศตั้งแต่ช่วงที่มีปัญหาวิกฤตแบงก์ในสหรัฐฯ ที่ล้ม ไม่ใช่เพิ่งมาขายหลังจากรับรู้เรื่องการลาออกของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SINGER เพราะหากมาขายตอนนี้ บริษัทอาจจะขาดทุนถึง 300 ล้านบาท”
อย่างไรก็ดี บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนในหุ้น SINGER ตามที่ผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ซื้อได้สูงสุดรวมสัดส่วนไม่เกิน 15% แต่รอจังหวะที่เหมาะสม หลังจากล่าสุดวันนี้เริ่มมีนักวิเคราะห์ปรับราคาเหมาะสมลงมาอยู่ที่ 11.60 บาทต่อหุ้น
“เราพยายามส่งสัญญาณขอเข้าไปพูดคุยกับทาง SINGER กับกลุ่มเจ มาร์ท เพื่อขอข้อมูลถึงกรณีที่คุณกิตติพงศ์ลาออกจากตำแหน่งเอ็มดี แต่ทาง SINGER กับกลุ่มเจ มาร์ท น่าจะยังไม่สะดวกที่จะมาให้ข้อมูลในตอนนี้”
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ของ บมจ.สบาย เทคโนโลยี ในวันนี้ (2 พฤษภาคม) มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เพื่อบริหารสถานะทางการเงิน วงเงินโครงการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 5% ของหุ้นทั้งหมด หรือไม่เกิน 1.09 พันล้านบาท หรือไม่เกิน 87.20 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท กำหนดระยะเวลาที่จะซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม – 14 กรกฎาคม 2566 โดยบริษัทมีสภาพคล่องสูง และมีกำไรสะสมสูงถึง 2.04 พันล้านบาท
โดย SABUY ให้เหตุผลในการซื้อหุ้นคืนดังนี้
- เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าราคาหุ้น (Shareholder Value)
- เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) อัตรากำไรสุทธิ (EPS) และเพิ่มมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น โดยหุ้นที่บริษัทได้ซื้อคืนจะนำมาหักลดจากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วในการคำนวณผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยรวม
- เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้น โดยที่บริษัทได้นำความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Consensus) ที่ได้ประเมินมูลค่าบริษัทไว้ มาประกอบการพิจารณาแบบระมัดระวังที่สุด ซึ่งเงินทุนที่นำมาใช้ในการซื้อหุ้น เรามี Cash Flow อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเงินคนละส่วนกับการลงทุนใน AS และ SINGER ซึ่งบริษัทได้คำนึงถึงการบริหารสภาพคล่องและช่วงเวลาในการซื้อคืนที่เหมาะสมแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังซื้อหุ้นคืน ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นอยู่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากหุ้นที่บริษัทซื้อคืนกลับไปจะไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล รวมถึงอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) และกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings per Share) จะสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนหุ้นที่จะนำมาคำนวณลดลง จึงทำให้ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะได้รับเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว สำหรับผลต่อภาพรวมบริษัทคือ จะทำให้บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องและมูลค่าทางบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ และสำหรับการลงทุนอื่นๆ ที่ได้วางแผนไว้ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (AS) หรือ SINGER ทางบริษัทได้มีการจัดการบริหารเงินทุนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนธุรกิจ การลงทุน และการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ระส่ำ! หุ้น SINGER ร่วงทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปี ก่อนเอ็มดีแจ้งลาออก 3 วัน ด้าน SABUY ไม่รีบซื้อเพิ่ม แม้ราคาหุ้นร่วงหนักกว่า 75%
- ผู้ถือหุ้นกู้ STARK โหวต ‘ยกเว้นเหตุผิดนัด’ รอดการถูกเรียกคืนหนี้ทันที มูลค่า 9.19 พันล้านบาท
- ตลท. ดีเดย์เริ่มใช้ระบบเทรดใหม่ 8 พ.ค. นี้ ส่งคำสั่งได้เร็วขึ้นอีก 5 เท่า พร้อมเพิ่มเครื่องหมาย Pause หุ้นรายตัว 1 วันที่ซื้อ-ขายผิดปกติ