×

แรงงานสิงคโปร์ ขอเวลาทำงานยืดหยุ่น เมินบริษัทที่ไม่มีข้อเสนอ Work from Home

17.08.2022
  • LOADING...
แรงงานสิงคโปร์

เว็บไซต์ข่าว Bloomberg รายงานอ้างอิงผลการสำรวจผู้อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ 1,000 คน ที่จัดทำโดย Randstad Singapore บริษัทด้านการจัดหางานและบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในสิงคโปร์ที่พบว่า บรรดาแรงงานในสิงคโปร์จะปฏิเสธบริษัทที่ไม่ให้งานที่มีเวลาการทำงานและสถานที่การทำงานที่ยืดหยุ่น

 

ทั้งนี้ ในรายงานของ Workmonitor Survey พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 40% จะไม่รับข้อเสนองานหากไม่ได้ทำงานจากที่บ้านหรือไม่มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น

 

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัทนายหน้าจัดหางาน Michael Page Singapore ที่พบว่า ราว 3% ของผู้ตอบแบบสำรวจ 1,400 คน ตัดสินใจลาออกในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม เพราะบริษัทไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอในการทำงาน

 

ด้านกระทรวงทรัพยากรมนุษย์สิงคโปร์ ระบุว่า จุดยืนของเหล่าแรงงานนี้มีขึ้นในช่วงที่จำนวนแรงงานค่อนข้างมีจำกัด ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการจ้างงานจะยังมีความแข็งแกร่งในอนาคต และสะท้อนได้ว่าบริษัททั้งหลายจำเป็นต้องมีการปรับตัวและให้ข้อเสนอที่ตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานเพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ สิงคโปร์ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่แรงงานตบเท้าเรียกร้องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น พร้อมเงื่อนไขการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะในสหรัฐฯ ความต้องการดังกล่าวนำไปสู่ Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความโกลาหลอย่างมากในตลาดแรงงาน โดยสหรัฐฯ มีอัตราการลาออกในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970

 

Sachet Sethi ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของ Robert Walters Singapore กล่าว ในขณะที่บริษัทต่างๆ พยายามให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ พนักงานส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจลาออกหรือปฏิเสธงานเพราะเหตุผลที่ให้กลับไปทำงานในออฟฟิศ

 

ด้าน Jaya Dass กรรมการผู้จัดการบริษัท Randstad Singapore กล่าวว่า ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา บรรดาพนักงานได้ทบทวนและประเมินความต้องการในชีวิตและหน้าที่การงานของตนเองใหม่ และตระหนักได้ว่าตนเองต้องการชีวิตการทำงานแบบไหน กระนั้น Dass เข้าใจดีว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะสามารถเสนอตัวเลือก Work from Home ให้กับพนักงานได้ ดังนั้นเหล่านายจ้างที่ต้องการรักษาพนักงานไว้ควรพิจารณาเสนอรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นในหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากการระบาดของโควิด

 

วันเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า พนักงานส่วนหนึ่งของ Amazon อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ พากัน Walk Out ประท้วงผละงานในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สถานีขนส่งสินค้าทางอากาศในเมืองซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเรียกร้องค่าแรงและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น

 

นับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าความพยายามในการจัดระเบียบคนงานยังคงแพร่กระจายไปทั่วเครือข่ายค้าปลีกและโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี

 

กลุ่ม Inland Empire Amazon Workers United ซึ่งริเริ่มการผละงานประท้วงครั้งนี้ ระบุว่า มีพนักงานมากกว่า 150 คน เข้าร่วมและเป็นตัวแทนของพนักงาน 1,500 คน ในสถานประกอบการทางอากาศของ Amazon หรือที่รู้จักในชื่อ KSBD ขณะที่ทาง Amazon แย้งว่ามีพนักงานเพียง 74 คนเท่านั้น

 

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ที่โพสต์ออนไลน์โดยกลุ่มคนงาน ระบุว่าทางกลุ่มได้รวบรวมรายชื่อมากกว่า 800 ราย สำหรับยื่นคำร้องเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นพื้นฐานที่สถานประกอบการดังกล่าวเป็น 22 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง จาก 17 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เนื่องจากค่าครองชีพและค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้น

 

พร้อมกันนี้ทางกลุ่มคนงานยังเรียกร้องเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน พร้อมชี้ว่า สถานปฏิบัติงานบางแห่งมีอุณหภูมิที่ร้อนจัด บางแห่งอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส แรงงานบางคนกล่าวว่า การทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้หายใจแทบไม่ออก และต้องหยุดพักบ่อยเพื่อให้ร่างกายไม่ร้อนจนเกินไป

 

ด้าน Paul Flaningan โฆษกของ Amazon กล่าวในแถลงการณ์ต่อ CNN Business ว่า บริษัท ‘ภูมิใจที่ได้จัดหาพนักงานประจำที่ San Bernardino Air Hub และย้ำว่าค่าแรง 17 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง เป็นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งพนักงานเต็มเวลาสามารถเพิ่มรายได้สูงถึง 19.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง แถมยังมีผลประโยชน์อื่นๆ ที่เชื่อว่าค่อนข้างดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันการดูแลสุขภาพซึ่งคุ้มครองตั้งแต่ทำงานวันแรก เงินบำนาญตามมาตรา 401 (k) โดยบริษัทสมทบให้สูงสุด 50% และการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรสูงสุด 20 สัปดาห์

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising