×

ย้อนรอยดูสิงคโปร์-เวียดนาม กว่าจะได้วัคซีนโควิดของ Pfizer-BioNTech เขาผ่านกระบวนการอย่างไร

18.07.2021
  • LOADING...
Pfizer-BioNTech

ในช่วงที่ผ่านมา เสียงเรียกร้องในประเทศไทยให้มีการจัดหาวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาใช้งานในประเทศเป็นวัคซีนหลัก เรียกร้องวัคซีน Pfizer-BioNTech ให้กับบุคลากรด่านหน้า รวมไปถึงการจับตาการนำเข้าวัคซีนทั้งของ Pfizer-BioNTech และ Moderna โดยภาคเอกชน กลายเป็นเสียงที่ดังและส่งแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เราจึงพาไปดูตัวอย่างสถานการณ์ที่แตกต่าง 2 ประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์และเวียดนาม ที่จัดซื้อวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ไปเรียบร้อยแล้ว ว่ากว่าจะได้วัคซีนตัวนี้มา พวกเขาผ่านกระบวนการ พบปัญหา และมีวิธีการตัดสินใจอะไรมาบ้าง

 

เริ่มต้นที่สิงคโปร์ที่ยังไม่เข้าปี 2021 ก็เป็นชาติแรกในเอเชียที่ได้รับการจัดส่งวัคซีน Pfizer-BioNTech เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2020 หลังจากอนุมัติให้ใช้วัคซีนชนิดดังกล่าว 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น

 

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักข่าว The Strait Times ของสิงคโปร์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.เบนจามิน ซีท ประธานคณะกรรมการคัดเลือกวัคซีนของสิงคโปร์ ที่ระบุเบื้องหลังการจัดหาวัคซีนว่า พวกเขาตระหนักได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหอพักคนงานต่างชาติ ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 54,500 รายในเดือนเมษายน 2020 การระบาดในกลุ่มผู้พักอาศัยในหอพักทำให้สื่อต่างชาติอย่าง BBC เคยสะท้อนไว้ว่า คนทำงานบางส่วนถูกล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นภายใต้ภาวะการอยู่อาศัยที่ไม่สู้ดีนัก

 

ดร.ซีท เล่าว่า ผลการตัดสินใจคือ “ทันทีที่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สิงคโปร์ควรเข้าถึงวัคซีนเหล่านี้ได้” มีการตั้งคณะกรรมการที่มีสมาชิก 18 คนจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทยาที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาและผลิตยา เป็นต้น เขาบอกว่า การเลือกวัคซีนทำให้เกิดภาระงานอันหนักหน่วง การอ่านเอกสารนับพันหน้า ตลอดจนการติดต่อไปยังบริษัทวัคซีนเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

 

เขายังบอกอีกว่า พวกเขาตัดสินใจตีวงของชนิดวัคซีนที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าให้เหลือเพียง 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA, ไวรัลเวกเตอร์, เชื้อตาย, และโปรตีนซับยูนิต และจนถึงขณะนี้สิงคโปร์มีการนำวัคซีนเข้ามาแล้ว 3 ตัว ได้แก่ วัคซีนของ Pfizer-BioNTech, Moderna และ Sinovac

 

“เราตระหนักว่าเราไม่สามารถหวังพึ่งพาเฉพาะวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งได้ ดังนั้นเราจึงต้องการวัคซีนชนิดเก่าบางตัวและชนิดใหม่บางตัว เรายังพิจารณาในแง่ของความตรงต่อเวลาว่าวัคซีนตัวไหนจะมาเร็วกว่ากัน” ดร.ซีท ระบุ เขายังกล่าวด้วยว่า แม้จะต้องการวัคซีนที่ ‘มาเร็ว’ แต่ทีมงานของเขารู้ว่าตัวที่มาเร็วสุดอาจไม่ใช่ตัวที่ดีที่สุด ดังนั้นพวกเขาจึงตัดสินใจเลือกตัวที่มีแนวโน้มจะ ‘มาเร็ว’ และตัวที่พวกเขา ‘คิดว่าคงจะดี’

 

ดร.ซีท บอกว่า สิ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจก็คือ วัคซีนที่มาตัวแรกกลับกลายเป็นวัคซีนที่ดีกว่าตัวอื่นๆ ในแง่ของประสิทธิภาพ ซึ่งเขาอ้างถึงประสิทธิภาพ (Efficacy) ของวัคซีนชนิด mRNA ทั้ง Moderna และ Pfizer-BioNTech และพวกเขาเองก็ยังไม่รู้ถึงระดับประสิทธิภาพนี้ในวันที่สิงคโปร์จ่ายเงินดาวน์เพื่อชำระค่าวัคซีนล่วงหน้าด้วยซ้ำ

 

เมื่อคณะกรรมการสามารถเข้าถึง ‘บุคคลที่ถูกต้อง’ สำหรับการติดต่อในบริษัทวัคซีนแต่ละบริษัท ซึ่งพวกเขาหามาจากเครือข่ายที่มีทั่วโลก และมีการเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลกันไปแล้ว คณะกรรมการก็สามารถพูดคุยกับบุคคลระดับสูงของโครงการพัฒนาวัคซีน อาทิ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ทำการทดสอบทางคลินิก และหากจำเป็น เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลในสิงคโปร์ก็สามารถไปเยี่ยมแหล่งผลิตเพื่อตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการผลิตได้ ดร.ซีท ยืนยันว่า ก่อนจะตัดสินใจใดๆ ทีมของเขาจะพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งรวมถึงผลการทดลองในสัตว์ด้วย นอกจากนี้กระบวนการขนส่งก็ต้องถูกพิจารณาเช่นกัน แต่สำหรับวัคซีน Pfizer-BioNTech การนำเข้าและเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ไม่ใช่ปัญหาของสิงคโปร์

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการชำระเงินล่วงหน้านั้นเกี่ยวข้องกับการชำระเงินหลายครั้งเมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ซึ่งหากในที่สุดแล้ววัคซีนพัฒนาไม่สำเร็จ เงินที่จ่ายไปก็จะสูญเปล่า แต่หากการพัฒนาวัคซีนประสบความสำเร็จ สิงคโปร์ก็จะมั่นใจได้ว่าจะได้รับวัคซีนบางตัวตั้งแต่เนิ่นๆ

 

สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงจัดซื้อวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเดือนสิงหาคม 2020 และวัคซีน Pfizer-BioNTech ล็อตแรกของสิงคโปร์ก็จัดส่งมาถึงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2020 นับเป็นเวลาราว 11 เดือนหลังจากวันที่พบโควิดเป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ และตามที่ ดร.ซีท ระบุไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ สิงคโปร์เองก็ยังมีการหารือกับบริษัทวัคซีนอื่นอยู่ ซึ่งเป็นแผนฉุกเฉินหากมีการหยุดชะงักหรือความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีน หรือแม้แต่ความจำเป็นที่ต้องมีวัคซีนเข็มกระตุ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า BioNTech เตรียมตั้งศูนย์ภูมิภาคและโรงงานในสิงคโปร์ โดยส่วนของโรงงานคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ในปี 2023

 

แต่ทั้งนี้ ใช่ว่าสิงคโปร์จะไม่มีปัญหาในเชิงกระบวนการเลย เราสืบค้นย้อนหลังและพบว่า เคยมีรายงานปรากฏในสื่อทั้งในและต่างประเทศว่ามีการแสดงความกังวลถึงปริมาณวัคซีนที่จัดหาเข้ามายังสิงคโปร์ได้อย่างจำกัด แม้รายงานดังกล่าวจะไม่เจาะจงชนิดวัคซีน ทว่า ก็มีรายงานที่ชัดเจนอย่างน้อย 1 ครั้ง ว่าสิงคโปร์ประสบกับภาวะชะงักงันในระยะสั้นๆ ภายหลังจาก Pfizer ปิดโรงงานเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัคซีน Pfizer-BioNTech มาใช้เช่นกัน

 

มาที่อีกหนึ่งประเทศอย่างเวียดนามที่เพิ่งจะประกาศการได้รับวัคซีนจาก Pfizer อีก 20 ล้านโดส เพิ่มเติมจากที่ลงนามสั่งซื้อไปก่อนหน้าจำนวน 31 ล้านโดส เวียดนามถูกตั้งข้อสังเกตถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ค่อนข้างช้า สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างบทความจากเว็บไซต์ของรัฐบาลเวียดนามที่ไม่ได้อ้างอิงเจ้าหน้าที่รายใด ระบุว่า เวียดนามมีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน (ซึ่งตามรายงานไม่ได้ระบุว่าเป็นรายใด) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 แต่บทความดังกล่าวก็ระบุเช่นกันว่า “เวียดนามได้แสดงให้เห็นถึงความช้าใน ‘การแข่งขัน’ ในการได้มาซึ่งวัคซีน เนื่องจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลไก นโยบาย ขั้นตอนอันยุ่งยาก และแม้แต่ความกลัวในความรับผิดชอบ”

 

ย้อนกลับไปเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว Reuters รายงานคำกล่าวของ หวูดึ๊กดาม รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะทำงานด้านโควิดของเวียดนาม ในวันที่เวียดนามลงทะเบียนซื้อวัคซีนจากรัสเซียไปแล้วราว 50-150 ล้านโดส กำลังจะซื้อวัคซีนจากสหราชอาณาจักร มีวัคซีนของเวียดนามเองที่อยู่ระหว่างการพัฒนาภายในประเทศ และยืนยันว่าจะใช้กลยุทธ์ที่มีอยู่ในขณะนั้นรับมือกับโควิด เขากล่าวว่า วัคซีนเป็นเรื่องของอนาคต “อุปสงค์สูงกว่าอุปทานมาก และเราต้องจ่ายเงินมัดจำจำนวนมากเพื่อรักษาตำแหน่งของเรา ซึ่งผมมองว่ามีความเสี่ยงสูงและเป็นการเสียเงินและเวลา” ขณะนั้นสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เวียดนามได้รับการชื่นชมจากการรับมือกับการระบาดของโควิดภายในประเทศ

 

เวลาผ่านไป ในเดือนธันวาคม 2020 – มกราคม 2021 รายงานของสื่อเริ่มระบุว่า เวียดนามกำลังเจรจากับผู้ผลิตรายอื่นๆ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ Reuters ก็รายงานว่า เวียดนามจะจัดหาวัคซีนผ่านโครงการ COVAX และเพียงไม่ถึงเดือนต่อมา หน่วยงานด้านยาของเวียดนามได้ขอให้ผู้นำเข้าหลายรายพยายามจัดหาวัคซีนจากหลายแหล่ง ทั้ง AstraZeneca, Pfizer, Johnson & Johnson, Sputnik V, Moderna และ Sinovac ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และรัฐบาลยอมรับผ่านแถลงการณ์ว่าการจัดหาวัคซีนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอันซับซ้อนของโควิด

 

เกี่ยวกับวัคซีน Pfizer-BioNTech ในเวียดนามนั้น เมื่อพยายามสืบค้นย้อนหลัง เราพบรายงานข่าวจาก Bloomberg ที่อ้างอิงว่า ทางการเวียดนามอยู่ในการเจรจากับ Pfizer แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่เวียดนามลงนามข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีน Oxford-AstraZeneca จากนั้นในเดือนมีนาคมก็มีรายงานจากสื่อท้องถิ่นอีกว่าการเจรจายังคงดำเนินอยู่ และ Pfizer อาจจะจัดหาวัคซีนให้เวียดนามได้ 30 ล้านโดสภายในปี 2021

 

มาถึงกลางเดือนพฤษภาคมมีรายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า รัฐบาลกำลังรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีน Pfizer-BioNTech แต่รัฐมนตรีสาธารณสุขเวียดนามระบุว่า Pfizer ปฏิเสธที่จะเจรจาเรื่องราคาและเงื่อนไขอื่นๆ ในสัญญา และบอกว่า เวียดนามจำเป็นจะต้องให้คำตอบกับ Pfizer ภายในวันที่ 18 พฤษภาคม ภายใต้คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่า เรื่องวัคซีนเป็นเรื่อง ‘สำคัญและเร่งด่วน’ จังหวะนี้เป็นจังหวะเดียวกับที่เวียดนามพบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสู่หลักลายร้อยคนต่อวันจนเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่มีการระบาด และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงขณะนี้

 

และวันที่ 19 พฤษภาคม เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของรัฐบาลเวียดนามก็ประกาศว่า รัฐบาลได้เซ็นข้อตกลงซื้อวัคซีนโควิดของ Pfizer-BioNTech เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยปริมาณ 31 ล้านโดส โดยจะได้รับการจัดส่งมาในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้

 

ในที่สุดวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา วัคซีน Pfizer-BioNTech ของเวียดนามล็อตแรกจำนวนมากกว่า 97,000 โดส ก็ถูกส่งมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่ายในกรุงฮานอย เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ของรัฐบาลเวียดนามระบุว่า วัคซีน Pfizer-BioNTech ล็อตนี้จะถูกเก็บไว้ในห้องเย็นที่สถาบันสุขอนามัยและระบาดวิทยาแห่งชาติเวียดนาม ก่อนจัดสรรให้กับท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโควิดระลอกที่ 4 ในปัจจุบัน

 

และอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ถัดมา เวียดนามก็ประกาศว่า Pfizer จะจัดหาวัคซีนให้เวียดนามเพิ่มเติมอีก 20 ล้านโดส ซึ่งจะนำมาใช้กับเยาวชนอายุ 12-18 ปี ทำให้จำนวนวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่เวียดนามจะได้รับภายในไตรมาส 4 ของปีนี้อยู่ที่รวม 47 ล้านโดส

 

แต่ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมยังมีรายงานอย่างต่อเนื่องว่า เวียดนามกำลังมองหาความเป็นไปได้ที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด mRNA หรือหาทางตั้งแหล่งผลิตวัคซีน Pfizer-BioNTech เองภายในประเทศ เนื่องจากการจัดหาวัคซีนที่ทำได้อย่างจำกัด โดยในเดือนพฤษภาคม Reuers รายงานว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขของเวียดนามได้พบกับตัวแทนจากองค์การอนามัยโลกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาเกี่ยวกับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และจนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม Reuters ก็รายงานโดยอ้างคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามว่า กำลังทำงานร่วมกับ Pfizer ในเรื่องนี้

 

จนถึงตอนนี้นอกจากวัคซีน Pfizer แล้ว เวียดนามยังได้รับวัคซีนชนิดอื่นผ่านกระบวนต่างๆ ได้แก่ Oxford-AstraZeneca, Sinopharm, Sputnik V และ Moderna

 

นี่คือภาพรวมกระบวนการได้มาซึ่งวัคซีน Pfizer-BioNTech ของทั้งสองประเทศ

 

ภาพ: Artur Widak / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising