สิงคโปร์ประกาศเตรียมจัดเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาโลกร้อน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปีหน้า คาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้เข้าคลังเพิ่ม 1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในช่วง 5 ปีแรก
เฮง สวี เกียต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ กล่าวในระหว่างเปิดเผยแผนงบประมาณประจำปี 2018 ว่า มาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมใหม่จะเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 25,000 ตันต่อปี
โดยในปี 2019-2023 รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 5 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 120 บาท) ต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ตัน แต่หลังจากนั้นจะมีการทบทวนอัตราภาษีใหม่ ซึ่งคาดว่าอาจเพิ่มระหว่าง 10-15 เหรียญสิงคโปร์ต่อตันภายในปี 2030
การตัดสินใจใช้มาตรการภาษีคาร์บอนยังมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของบริษัทสิงคโปร์บนเวทีโลก หลังจากที่ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีผลบังคับใช้
ขุนคลังแดนลอดช่องกล่าวว่า การทำเช่นนี้จะทำให้สิงคโปร์มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้น อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของสิงคโปร์ในการบรรเทาปัญหามลพิษ ขณะเดียวกันก็สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ด้วย
ทั้งนี้รัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีคาร์บอนได้ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในช่วง 5 ปีแรก โดยรัฐบาลจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในโครงการที่ส่งเสริมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์
ภาษีคาร์บอนเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลหลายประเทศนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหามลพิษ ปัจจุบันมีประมาณ 67 ประเทศที่ได้บังคับใช้หรือเตรียมประกาศใช้มาตรการดังกล่าว รวมถึงจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
อ้างอิง: