×

พรรคฝ่ายค้านในสิงคโปร์กับการต่อสู้ที่รู้แก่ใจว่าไม่ชนะ

13.07.2020
  • LOADING...

ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ห้วงเวลาของวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้นบนเกาะสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งยังคงหักปากกาเซียนไม่ลง พรรคกิจสังคม (People’s Action Party: PAP) นำโดยนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง ยังคงคว้าชัยชนะอย่างท่วมท้นเหมือนเช่นการเลือกทั่วไปทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยป๊อปปูลาร์โหวตเป็นสัดส่วนสูงถึง 61.24% กวาดไปถึง 83 ที่นั่งจากทั้งหมด 93 ที่นั่งในสภา ส่งให้พรรค PAP สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ต่อเนื่อง 15 สมัย

 

พรรค PAP ผูกขาดอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2502 จนอาจจะไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่าพรรค PAP กับการเมืองสิงคโปร์ได้รวมเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว แต่สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศที่มีพรรคการเมืองแค่พรรคเดียวเหมือนอย่างจีนหรือเกาหลีเหนือ แต่มีมากถึงกว่า 30 พรรค โดยศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้มีพรรคอื่นๆ ที่ลงชิงชัยกับพรรค PAP 10 พรรค กับอีก 1 ผู้สมัครอิสระ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ ครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านสามารถเอาชนะที่นั่งได้มากที่สุดที่เคยได้มา โดยคว้าไป 10 ที่นั่ง 

 

อย่างไรก็ตาม การครองอำนาจทางการเมืองอยู่พรรคเดียวทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสิงคโปร์ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงนัก ยิ่งถ้าไม่ได้เป็นคนสิงคโปร์หรือคนที่คุ้นเคยกับการเมืองสิงคโปร์ดีคงแทบไม่รู้จักพรรคเหล่านี้เลย พวกเขาคือใคร อยู่ตรงไหนของการเมืองสิงคโปร์ และทำไมหนทางที่พวกเขาจะล้มรัฐบาลพรรค PAP ถึงได้ยากเย็นนัก

 

 

ทำความรู้จักพรรคฝ่ายค้านในสิงคโปร์

10 ที่นั่งจาก 3 เขตเลือกตั้งที่พรรคฝั่งตรงข้ามพรรค PAP คว้าชัยมาได้ในการเลือกตั้งทั่วไป 2563 ล้วนเป็นฝีมือของพรรคแรงงาน (Workers’ Party: WP)

 

พรรค WP จัดว่าเป็นพรรคการเมืองหัวหอกสำคัญในบรรดาพรรคฝ่ายค้าน พรรค WP คือพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาพรรคแรกนับตั้งแต่สิงคโปร์แยกตัวเป็นเอกราชจากมาเลเซีย จากการเอาชนะพรรค PAP คว้า 1 ที่นั่งมาได้ในการเลือกตั้งซ่อมปี 2524 หลังจากที่สภาสิงคโปร์ถูกพรรค PAP ยึดครองทุกที่นั่งในการเลือกตั้งทั่วไป 4 ครั้งรวดในปี 2511, 2515, 2519 และ 2523 ชัยชนะของพรรค WP ครั้งนั้นไม่ได้เป็นแค่ก้าวสำคัญของพรรค WP แต่ยังหมายถึงย่างก้าวที่สำคัญของพรรคฝ่ายค้านในการเข้าไปมีที่ยืนในสภาสิงคโปร์ พรรค WP สามารถเก็บที่นั่งฝ่ายค้านเล็กๆ น้อยๆ ได้ในการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งหลังจากนั้น ความสำเร็จของพรรคในการเลือกตั้งเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ จนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่สามารถเจาะที่นั่งจากพรรค PAP เพิ่มได้อีก โดยได้ไปทั้งหมด 10 ที่นั่ง สูงสุดเท่าที่พรรคเคยทำได้

 

พรรค WP เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ของสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2500 โดยมีอุดมการณ์เอียงซ้าย สนับสนุนแนวคิดรัฐสวัสดิการ เอาใจใส่แรงงานและประชาชนรากหญ้ามากเป็นพิเศษ ประเด็นสำคัญที่พรรค WP เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องก็คือการเรียกร้องให้ออกกฎหมายกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำซึ่งไม่เคยมีในสิงคโปร์ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้ พรรค WP ได้โอกาสนำประเด็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลพวงของโควิด-19 มาเป็นเหตุผลสนับสนุนนโยบายส่งเสริมรัฐสวัสดิการของตัวเอง ขณะเดียวกันพรรค WP ก็ถูกโจมตีจากพรรครัฐบาล PAP ว่าเป็นพรรค PAP Lite โดยกล่าวหาว่ามีหลายนโยบายที่คล้ายกับพรรค PAP

 

การเลือกตั้งปี 2563 นี้ยังเป็นครั้งแรกที่พรรค WP มี พริทาม ซิงห์ เป็นผู้นำทีมสู้ศึก โดยรับช่วงต่อจาก โลเถียะเคียง อดีตผู้นำฝ่ายค้านหลายสมัยที่วางมือไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซิงห์รับบทบาทผู้นำฝ่ายค้านในช่วงครึ่งหลังของรัฐสภาชุดก่อนหน้า และเป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าเขาจะยังคงรับหน้าที่นี้ต่อในสมัยถัดไปที่กำลังจะเปิดฉาก

 

อีกพรรคที่เป็นที่จับตามองในศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือพรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า (Progress Singapore Party: PSP) แม้จะเป็นพรรคใหม่แกะกล่องที่เพิ่งก่อตั้งปีที่แล้ว แต่ก็มาแรงไม่น้อย โดยทำป๊อปปูลาร์โหวตทั่วประเทศได้ดีที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากพรรค PAP และ WP ก่อนหน้านี้พรรค PSP ได้สร้างความฮือฮาให้กับชาวสิงคโปร์ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ ลีเซียนหยาง น้องชายไม้เบื่อไม้เมาของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ผู้นำพรรค PAP จนเกือบจะได้เห็นศึกสายเลือด แต่ลีผู้น้องก็หักมุมด้วยการประกาศว่าจะไม่เป็นตัวแทนลงชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศ เพียงแค่จะช่วยสนับสนุนและหาเสียงให้ PSP เท่านั้น แต่เท่านี้ก็ทำให้พรรค PSP กลายเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองในสนามเลือกตั้งทันที

 

พรรค PSP มีจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับสิงคโปร์ โดยตั้งใจเข้าไปเป็นเสียงทางเลือกเพื่อคานอำนาจพรรค PAP พรรค PSP ยังออกนโยบายเพิ่มมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แก่ประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมเพื่อฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 และเรียกร้องให้ทบทวนแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลปิดปากผู้เห็นต่าง

 

แม้พรรค PSP จะไม่สามารถชิงที่นั่งได้เลยแม้แต่เขตเดียว แต่ตามกฎหมายแล้วพรรค PSP จะได้รับการจัดสรรที่นั่งฝ่ายค้านในสภา 2 ที่นั่งภายใต้ระบบสมาชิกสภาแบบแต่งตั้งที่ไม่สังกัดเขตเลือกตั้ง (Non-Constituency Member of Parliament: NCMP) ทำให้พรรค PSP อาจได้เป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาเป็นพรรคที่ 2 นอกเหนือไปจากพรรค WP

 

NCMP ถูกใช้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2527 จากความคิดของ ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ที่อยากให้สภาสิงคโปร์มีฝ่ายค้าน โดยสงวนจำนวนที่นั่งให้ฝ่ายค้านตามจำนวนตัวเลขพึงมี หลังจากที่สภาสิงคโปร์ครองโดยพรรค PAP พรรคเดียวมาถึง 4 สมัยซ้อนก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนั้น จำนวนตัวเลขผู้แทนฝ่ายค้านพึงมีในสภาจะแตกต่างกันไปในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ครั้งล่าสุดนี้กำหนดไว้ที่ 12 คน แต่เนื่องจากพรรค WP ได้ที่นั่งไปแล้ว 10 คน ทำให้สามารถจัดสรรที่นั่ง NCMP ให้กับฝ่ายค้านเพิ่มได้อีก 2 ที่นั่งให้ครบโควตา 12 คน โดยผู้ที่จะได้ตั๋วที่นั่งฝ่ายค้านภายใต้ NCMP ตามกฎหมายคือผู้แพ้ในฝั่งพรรคฝ่ายค้านที่ได้สัดส่วนคะแนนมากที่สุด (The Best Losers) ทำให้ทีมตัวแทนพรรค PSP ในเขตเลือกตั้ง West Coast ที่แพ้พรรค PAP ได้รับโควตาที่นั่ง เพราะได้คะแนนเสียงเป็นสัดส่วน 48.31% ของคะแนนทั้งหมดในเขต ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนคะแนนของผู้แพ้ในเขตอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ตัวแทนพรรคที่ได้รับโควตา NCMP มีสิทธิ์ปฏิเสธที่นั่งได้ และเป็นไปได้สูงว่าตัวแทนพรรค PSP จะตัดสินใจไม่รับที่นั่งครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้โควตาอาจตกไปเติมให้กับพรรค WP ที่แพ้ในเขต East Coast ด้วยสัดส่วนคะแนนสูงสุดรองลงมาแทน ถ้า PSP ตัดสินใจไม่เอาทั้ง 2 ที่นั่งก็จะได้เห็นพรรค WP เป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียว 12 ที่นั่ง หากตัวแทนพรรค WP ในเขตนั้นไม่ปฏิเสธ

 

นอกจากพรรค WP และ PSP ที่กำลังจะเข้าไปเป็นฝ่ายค้านในสภาสิงคโปร์สมัยหน้า ก่อนหน้านี้สิงคโปร์เคยมีพรรคฝ่ายค้านพรรคอื่นเข้าสู่สภานับตั้งแต่เป็นเอกราช ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Party: PSP), พรรคประชาชนสิงคโปร์ (Singapore People’s Party: SPP) และพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยสิงคโปร์ (Singapore Democratic Alliance: SDA) ทั้ง 3 พรรคได้ร่วมลงชิงชัยที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย แต่ก็เป็นอันต้องอกหักไป นอกจากนี้ยังมีพรรคอื่นอีก 5 พรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ได้แก่ พรรคความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ (National Party Solidarity: NSP), พรรคเสียงประชาชน (People’s Voice: PV), พรรคปฏิรูป (Reform Party: RP) พรรคพลังประชาชน (People’s Power Party: PPP) และพรรคจุดแดงสามัคคี (Red Dot United: RDU)

 

 

รู้ว่าแพ้…แต่ก็สู้

วาทกรรมที่พรรคฝ่ายค้านหัวหอกอย่าง WP เอ่ยปากกำชับชาวสิงคโปร์บ่อยๆ ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ‘อย่าเซ็นเช็คเปล่าให้กับพรรค PAP’ ซึ่งมีความหมายเป็นการร้องขอให้คนสิงคโปร์ช่วยกันเติมเสียงให้พรรคฝ่ายค้านมีที่นั่งมากพอที่จะเข้าไปคานอำนาจพรรครัฐบาล PAP โดยพรรค WP ตั้งเป้าจะเห็นพรรคฝ่ายค้านมีที่นั่งในสภารวมกันให้ได้อย่างน้อย 1 ใน 3 ของที่นั่งทั้งหมด หรือคิดเป็นราวๆ 30 ที่นั่ง ซึ่งจะทำให้ฝ่ายค้านมีเสียงเพียงพอที่จะวีโต้ไม่ให้พรรค PAP แก้ไขรัฐธรรมนูญตามใจชอบเหมือนที่ผ่านมา

 

หากมองลึกลงไปในแนวคิดนี้ของพรรค WP จะสังเกตเห็นได้ถึงความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งของการเมืองสิงคโปร์ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านในประเทศส่วนใหญ่ของโลกหาเสียงเพื่อขอเสียงข้างมากในสภาไปจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคฝ่ายค้านในสิงคโปร์ส่วนใหญ่กลับขอเพียงได้คะแนนเสียงมากพอที่จะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง บ่งบอกเป็นความหมายโดยอ้อมว่าพรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์รู้ดีแก่ใจว่าไม่มีทางที่พวกเขาจะล้มพรรครัฐบาล PAP ได้สำเร็จในตอนนี้

 

กับคำถามที่ว่าทำไมโอกาสชนะของพรรคฝ่ายค้านเหนือพรรค PAP จึงแทบจะเป็นศูนย์ ข้อความตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ ซีชูนฮวน เลขาธิการพรรค SDP ต่อสำนักข่าว Bloomberg ในช่วงก่อนเลือกตั้งที่ว่า “ต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่แค่การต่อสู้กับพรรคที่กำลังครองอำนาจ แต่เรากำลังต่อสู้กับกลไกอำนาจรัฐทั้งองคาพยพต่างหาก” คือประโยคสั้นๆ ที่ตอบคำถามนี้ได้ชัดเจน

 

การผูกขาดอำนาจทางการเมืองถึงกว่า 60 ปี เป็นเวลานานพอที่ทำให้พรรค PAP แทรกซึมเข้าไปในภาคส่วนต่างๆ ทางการเมือง พร้อมควบคุมทรัพยากรของรัฐทั้งบุคลากรและเงินทุนได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมไปถึงการเข้าครอบงำสื่อมวลชนและระบบการศึกษาเพื่อชี้นำความคิดประชาชน นอกจากนี้กรมการเลือกตั้งยังถูกวางให้ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นองค์กรอิสระ นั่นแปลว่ารัฐบาลสิงคโปร์สามารถควบคุมกฎกติกาการเลือกตั้งให้เอื้อต่อการรักษาอำนาจของตัวเองได้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบแบ่งเขตยกพรรค (Group Representative Constituencies: GRC) ในหลายเขตเลือกตั้ง ที่กำหนดให้พรรคส่งผู้สมัครลงเขตนั้นๆ เป็นทีม 4-6 คน โดยถ้าชนะก็จะได้เข้าสภายกทีม (Winners Take All) แม้จะชนะแค่ 1 คะแนนก็ตาม ทำให้พรรค PAP มักจะได้ที่นั่งสูงเกินความเป็นจริงและไม่สอดคล้องกับเสียงประชาชน โดยได้ที่นั่งเกิน 90% ทุกครั้งขณะที่ป๊อปปูลาร์โหวตอยู่ที่ 60-70% นอกจากนี้รัฐบาลยังใช้วิธี Gerrymandering หรือการลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อความได้เปรียบให้พรรคตัวเอง รูปร่างหน้าตาเขตเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปทุกครั้งตามโครงสร้างฐานเสียงที่เปลี่ยนไป โอกาสชนะของพรรคอื่นๆ จึงยากขึ้นไปอีก

 

ความอ่อนแอและไร้เอกภาพของกลุ่มพรรคฝ่ายค้านเองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การล้ม PAP เป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างโดยเฉพาะเงินทุน ทำให้พรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวยากที่จะต่อกรกับพรรค PAP ที่สั่งสมทั้งทรัพยากรและบารมีมาอย่างยาวนานได้ หากแต่ต้องรวมตัวกันเป็นหนึ่ง เป็นพลังมดแดงล้มช้าง ถึงจะมีโอกาสมากกว่า แต่พรรคฝ่ายค้านในสิงคโปร์กลับไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเข้มแข็ง มีแค่การรวมกลุ่มย่อยๆ หลวมๆ ไม่กี่พรรค เป็นเพราะบรรดาพรรคฝ่ายค้านมีอุดมการณ์การเมืองที่หลากหลายขวายันซ้ายจนจูนเข้าหากันได้ยาก ที่ผ่านมาสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์ร่วมมือกันได้ดีที่สุดก็คือการแบ่งเขตลงสมัครไม่ให้ตัดคะแนนกันเอง

 

พรรคฝ่ายค้านยังถูกตัดแขนตัดขายิ่งขึ้นอีก โดยมักจะโดนเล่นงานด้วยข้อกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายหมิ่นประมาท ที่ศาลเรียกโทษปรับได้หนักจนมีนักการเมืองถูกฟ้องล้มละลายและลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้มาแล้ว ส่วนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานี้รัฐบาลก็มีอาวุธเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชิ้นคือกฎหมายต่อต้านเฟกนิวส์บนโลกออนไลน์ ซึ่งถูกนำมาใช้สั่งให้พรรคฝ่ายค้านแก้ไขโพสต์ต่างๆ ที่รัฐเห็นว่าไม่ถูกต้อง

 

นอกจากเชิงกฎหมาย พรรคฝ่ายค้านยังต้องเผชิญกับกลยุทธ์ชิงความได้เปรียบของพรรครัฐบาล PAP ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งให้จัดขึ้นหลังจากประกาศยุบสภาเพียงไม่กี่วันจนพรรคฝ่ายค้านแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว เหมือนอย่างปีนี้ที่มีเวลาให้เพียง 10 วัน แถมยังเลือกจัดเลือกตั้งในห้วงเวลาของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การหาเสียงแบบถึงเนื้อถึงตัวประชาชนทำได้อย่างจำกัด การปราศรัยในที่สาธารณะถูกสั่งห้าม ถือว่าเป็นการตัดทอนช่องทางที่พรรคฝ่ายค้านจะได้สื่อสารกับประชาชนแบบเนียนๆ นอกจากนี้กลยุทธ์การเร่งจัดเลือกตั้งในช่วงที่ประเทศเจอวิกฤต อย่างเช่นครั้งนี้ที่รัฐบาลตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่แบบด่วนๆ แม้จะครบวาระในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเพราะกำลังเกิดโควิด-19 ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้ประชาชนยังรู้สึกอยากให้พรรค PAP ครองอำนาจต่อ เพราะไม่กล้าเสี่ยงเปลี่ยนม้ากลางศึก

 

แม้ทุกอย่างจะออกแบบมาเพื่อพรรค PAP แต่หนทางที่พรรคฝ่ายค้านจะชนะเลือกตั้งขึ้นครองอำนาจก็ไม่ได้ปิดตาย หากประชาชนพร้อมใจกันเทคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายค้านอย่างท่วมท้น แต่ไม่ว่าจะการเลือกตั้งทั่วไปกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ก็ไม่นอกใจพรรค PAP ไม่มีสักครั้งที่พรรคจะได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตต่ำกว่า 60% นับตั้งแต่เป็นเอกราช สิ่งสำคัญที่ยึดเหนี่ยวคนสิงคโปร์ไม่ให้หันเหไปหาพรรคอื่นหาใช่อำนาจมืด กระบอกปืน หรือโฆษณาชวนเชื่อ หากแต่เป็นความสามารถในการบริหารประเทศของพรรค PAP จากรุ่นสู่รุ่น แถมการคอร์รัปชันก็แทบไม่มี เพราะฉะนั้นการหาเสียงของพรรค PAP จึงมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์เป็นเครื่องมือชั้นดี ขณะที่บรรดาพรรคฝ่ายค้านซึ่งยังไม่เคยมีโอกาสแม้แต่ปลายเล็บที่จะได้แสดงฝีไม้ลายมือบริหารประเทศจึงหาเสียงได้ด้วยเพียงลมปาก โดยฝั่งพรรค PAP ก็มักจะชอบพูดโจมตีจี้จุดตรงนี้ว่านโยบายแต่ละอย่างของฝ่ายค้านเหมือนสร้างวิมานในอากาศ

 

การคว้าที่นั่งฝ่ายค้านมาได้ 10 ที่นั่งของพรรค WP เมื่อบวกกับอีก 2 ที่นั่งที่ต้องจัดสรรให้พรรค PSP ตามระบบ NCMP จะทำให้รัฐสภาสิงคโปร์สมัยที่จะถึงนี้มีที่นั่งฝ่ายค้านมากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราช แต่นี่คิดเป็นสัดส่วนที่นั่งเพียงราวๆ 1 ใน 10 ของที่นั่งทั้งหมดเท่านั้น ห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะต้องได้ 1 ใน 3 ด้วยจำนวนที่น้อยนิด ทำให้เสียงของผู้แทนฝ่ายค้านในสภาสิงคโปร์แทบจะไม่มีความหมายใดๆ เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในสภาทุกสมัย นอกจากจะวีโต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยซีกพรรครัฐบาลไม่ได้แล้ว ยังไม่สามารถเสนอกฎหมายใดๆ ได้ และแน่นอนว่าจะโหวตคว่ำมติอะไรจากฝั่งพรรค PAP ไม่ได้เลย หน้าที่เด่นๆ ของผู้แทนฝ่ายค้านสิงคโปร์จึงมีเพียงการดูแลเขตเลือกตั้งที่ตัวเองเอาชนะมาได้ รวมไปถึงการลับผีปากโต้กับสมาชิกสภาพรรครัฐบาลเป็นบางโอกาส

 

การมีอยู่ของฝ่ายค้านในสิงคโปร์ได้ทำหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่พรรครัฐบาล PAP ถึงแม้ประชาชนสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะยังพึงพอใจที่พรรค PAP ผูกขาดอำนาจอยู่ แต่พวกเขาก็อยากให้มีผู้แทนฝ่ายค้านในสภาบ้าง เพราะไม่อยากให้ดูน่าเกลียดเกินไป เป็นการลบข้อครหาเผด็จการรัฐสภาเบ็ดเสร็จ การนำเสนอระบบผู้แทนแบบ NCMP โดยอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยูก็ถือว่าตอบโจทย์ในข้อนี้ แต่การกำหนดตัวเลขจำนวนที่นั่งฝ่ายค้านในสภาด้วยระบบ NCMP ทุกครั้งจะกำหนดไว้น้อยมาก แม้ครั้งนี้จะตั้งโควตาฝ่ายค้านไว้สูงสุดกว่าทุกครั้งที่ 12 ที่นั่ง แต่ก็เป็นจำนวนที่ไม่อาจทำให้พรรคฝ่ายค้านทำอะไรได้มาก นอกเสียจากว่าพรรคฝ่ายค้านจะชนะที่นั่งได้มากกว่านั้นด้วยตัวเอง นี่เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่ารัฐบาลจงใจให้มีฝ่ายค้านเพียงเพื่อให้ตัวเองดูน่ายอมรับมากขึ้น อีกด้านหนึ่ง NCMP ก็ถูกวิจารณ์โดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้านเองว่าเป็นกับดักจูงใจไม่ให้คนหันไปเลือกพรรคฝ่ายค้าน เพราะรู้สึกว่าถึงไม่เลือกก็มีฝ่ายค้านอยู่แล้ว ทำให้บางครั้งจะมีตัวแทนพรรคฝ่ายค้านได้รับโควตา แต่ไม่เห็นด้วยกับ NCMP ตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ อย่างเช่นที่ตัวแทนพรรค PSP อาจจะไม่รับในครั้งนี้

 

พรรคฝ่ายค้านยังถูกใช้เป็นเครื่องมือของประชาชนสิงคโปร์เองอีกด้วย การที่คนสิงคโปร์เทคะแนนเสียงให้พรรคฝั่งตรงข้าม PAP มากขึ้นเทียบกับครั้งก่อนๆ มีความหมายบ่งบอกว่าพวกเขากำลังมีความไม่พอใจบางอย่างต่อพรรครัฐบาล PAP ไม่ว่าจะประเด็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลได้ทบทวนแก้ไขอะไรบางอย่าง อย่างเช่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่พรรคฝ่ายค้านแย่งที่นั่งของพรรค PAP ได้เพิ่มอีก 4 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2558 แถมยังได้ที่นั่งมากที่สุดเท่าที่เคยได้มา ขณะที่พรรค PAP ที่แม้จะยังคงชนะขาด แต่สัดส่วนคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตกลับลดลงจากครั้งที่แล้วที่อยู่ที่เกือบ 70% ลงมาอยู่ที่ 61% ในครั้งนี้ โดยประเด็นโควิด-19 ก็ถูกมองว่าน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่ง แม้คะแนนเลือกตั้งที่ฝ่ายค้านได้รับอาจจะไม่กระเทือนบัลลังก์พรรครัฐบาล PAP แต่อย่างน้อยมันก็พอช่วยส่งเสียงให้ PAP รู้ว่าประชาชนกำลังคิดอะไรอยู่

 

พรรคฝ่ายค้านจะเป็นพรรคฝ่ายค้านตลอดไป?

การตั้งเป้าหมายที่นั่งพรรคฝ่ายค้านในสภาไว้ที่ 1 ใน 3 โดย พริทาม ซิงห์ ผู้นำพรรค WP ถูกเน้นย้ำว่ามันคือเป้าหมายระยะกลาง ส่วนระยะยาวเขาไม่ได้พูดถึง แต่ก็คงเดาได้ไม่ยากขนาดนั้นว่าเป้าหมายสูงสุดคือการก้าวขึ้นมาเป็นฝ่ายรัฐบาล

 

อดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยูเคยบอกไว้ในหนังสือเรื่อง Lee Kuan Yew: Hard Truths to Keep Singapore Going ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2554 โดยมีข้อความตอนหนึ่งบอกไว้ว่า “ผมคิดว่าวันหนึ่งจะถึงเวลาที่ประชาชนอยากลองเปลี่ยนไปเลือกพรรคฝั่งตรงข้าม อาจจะเป็นเพราะพรรค PAP มือตก หรือไม่เช่นนั้นพรรคฝ่ายค้านก็สามารถฟอร์มทีมที่เข้มแข็งพอจะต่อกรกับ PAP ได้สำเร็จ” ลีกวนยูยืนยันว่าวันนั้นจะมาถึงแน่ๆ แต่บอกไม่ได้ว่าเมื่อไร

 

ขณะที่ โฮกวนปิง นักธุรกิจและอดีตนักข่าวชื่อดังชาวสิงคโปร์ เคยทำนายในหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 2557 เรื่อง The Ocean in a Drop – Singapore: The Next Fifty Years โดยบอกว่ามีความเป็นไปได้ 3 ประการที่จะทำให้พรรค PAP สูญเสียอำนาจให้ฝ่ายค้าน ได้แก่ ระบบการเลือกตั้งที่ดีไซน์มาเพื่อตัวเอง ที่อาจทำให้พรรค PAP ประมาทจนเสียท่าให้พรรคฝ่ายค้านในที่สุด ประการต่อมาคือความแตกแยกในพรรค PAP เอง แต่ก็ยังดูไม่มีวี่แววในตอนนี้ และสุดท้ายคือปรากฏการณ์ที่ PAP อาจหมดความชอบธรรมอย่างรุนแรง เช่น อาจจะเกิดการคอร์รัปชันครั้งมโหฬาร หรือเกิดเรื่องอื้อฉาวใหญ่โตจนประชาชนหมดศรัทธา

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ดูมีแนวโน้มจะสั่นคลอนกลุ่มอำนาจเดิมได้คือคนรุ่นใหม่ สิงคโปร์ก็ไม่ต่างกับอีกหลายๆ ประเทศในโลกที่กำลังถูกสายธารของพลังคนรุ่นใหม่รุกคืบเข้ามาทุกขณะ คนสิงคโปร์รุ่นหนุ่มสาวไม่ได้มีความทรงจำร่วมกับคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายในห้วงเวลาของการสร้างชาติ เกิดไม่ทันในยุครุ่งเรืองของลีกวนยู พวกเขาเริ่มไม่รู้สึกยึดโยงกับพรรค PAP และวาทกรรมชาตินิยมเหมือนอย่างคนรุ่นเก่าอีกต่อไป แต่มีศรัทธาในอุดมการณ์ประชาธิปไตยโลกตะวันตกและสนใจการเมืองกันมากขึ้น ด้วยผลพวงจากการเข้าถึงสื่อออนไลน์และคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น คนรุ่นใหม่ของสิงคโปร์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกันอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะด้วยปากเปล่าหรือบนช่องทางโซเชียล เรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง ต่อต้านการผูกขาดอำนาจของพรรค PAP และส่งเสียงเชียร์ให้พรรคฝ่ายค้านกันมากขึ้น คนรุ่นนี้กำลังเติบโตขึ้นทุกขวบปี ซึ่งดีไม่ดีจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินสิงคโปร์ได้ในอีกไม่นาน

 

เมื่อปี 2561 พรรคเล็กพรรคน้อยในมาเลเซียจับมือกันเหนียวแน่นในนามของพันธมิตรแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) โค่นล้มพรรคอัมโน (UMNO) และพันธมิตรที่ผูกขาดการเมืองมาเลเซียถึงกว่า 60 ปีได้อย่างปาฏิหาริย์ ถึงแม้พรรคฝ่ายค้านในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ดูจะยังห่างไกลวันนั้น แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์ล็อกถล่มที่เคยเกิดขึ้นไม่ว่าจะในมาเลเซียหรือประเทศอื่นๆ ก็คงบอกประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้อย่างหนึ่งว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising