×

สิงคโปร์และมาเลเซียสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐยะโฮร์ ตามรอย ‘เซินเจิ้น’ ซิลิคอนแวลลีย์แดนมังกร

08.01.2025
  • LOADING...
เศรษฐกิจพิเศษ

สิงคโปร์และมาเลเซียลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบนพื้นที่ชายแดน 2 ประเทศ ในรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าเซินเจิ้นถึง 2 เท่า คาดสร้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่งภายในปี 2030

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ร่วมกับ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็นประธานในพิธีลงนามเปิดโครงการเศรษฐกิจพิเศษในรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ที่มีการค้าผ่านแดน (Cross Border) พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

หว่องกล่าวว่า นี่เป็นโครงการสำคัญที่สร้างขึ้นบนโครงสร้างความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และรัฐยะโฮร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เสริมจุดแข็งของทั้งสองประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 50 โครงการตั้งแต่ช่วง 5 ปีแรกของการก่อสร้าง และจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 100 โครงการภายใน 10 ปี

 

นอกจากนี้ ยังเตรียมพิจารณาเสนอสิทธิประโยชน์ดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะด้านภาษี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำที่สุดในอาเซียนที่ 17% ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 24%

 

ด้านอิบราฮิมกล่าวว่า โครงการดังกล่าว “เป็นโอกาสที่หาได้ยากมากที่ทั้งสองประเทศจะสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบนี้”

 

ทั้งนี้ ในอนาคตเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่แห่งนี้จะสร้างงานเพิ่มอีก 100,000 ตำแหน่ง สร้างเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีก 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 8.9 ล้านบาท) ภายในปี 2030 จากการลงทุนใหม่ และการย้ายฐานการผลิตมายังรัฐยะโฮร์ ซึ่งมีที่ดินและการจ้างงานที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ และมีพื้นที่กว่า 3,500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 4 เท่า เทียบเท่าเกือบ 2 เท่าของเซินเจิ้น ประเทศจีน

 

นอกจากนี้ พื้นที่นี้มีนักท่องเที่ยวกว่า 300,000 คนต่อวัน เดินทางข้ามประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในรัฐยะโฮร์และทำงานในสิงคโปร์ และได้รับเงินเดือนเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้มีกระแสเงินที่ไหลเข้าเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ค่าเงินสิงคโปร์แข็งค่าขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับสกุลเงินริงกิตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

 

ตามรอยเซินเจิ้น?

 

ย้อนไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน เซินเจิ้นเป็นเพียงเมืองชายฝั่งเล็กๆ ที่เป็นด่านชายแดนจีนแผ่นดินใหญ่กับเขตฮ่องกง แต่เมื่อ เติ้งเสี่ยวผิง อดีตประธานาธิบดีผู้มีวิสัยทัศน์ในการใช้แนวทางเศรษฐกิจตลาดเสรีมาพัฒนาเศรษฐกิจจีน เปิดเมืองชายฝั่งทางภาคใต้ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ในปี 1979 เพื่อรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ในบรรดาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เมืองแรก ได้แก่ เซินเจิ้น, จูไห่, ซัวเถา และ เซียเหมิน เมืองเซินเจิ้นซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชัยภูมิสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเมืองเกษตรกรรมเป็นเมืองเทคโนโลยี

 

“จากเมืองที่ทำการประมง ซึ่งมีคนอาศัยอยู่ไม่ถึง 30,000 คน กลายมาเป็นเมืองเทคโนโลยีแนวหน้าของโลกที่มีประชากรกว่า 13 ล้านคน”

 

ปัจจุบันเซินเจิ้นพัฒนาภายใต้นโยบายการส่งเสริมเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่น นโยบาย AI 2023 เซินเจิ้นในวันนี้ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘Silicon Valley of China’ เพราะเป็นบ้านของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของแดนมังกร อย่าง HUAWEI ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่, Tencent เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย WeChat และ QQ, BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, BGI บริษัทวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, DJI ผู้ผลิตโดรนและเทคโนโลยีทางอวกาศ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติอย่าง SenseTime ซึ่งดำเนินธุรกิจด้าน AI จากฮ่องกง

 

นับวันเซินเจิ้นยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความพร้อมทั้งทางด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ต่างจากซิลิคอนแวลลีย์ของสหรัฐอเมริกาที่มีจุดแข็งเฉพาะด้านซอฟต์แวร์เท่านั้น และก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลจีนประกาศทดลองใช้เงินดิจิทัลสกุลหยวน เซินเจิ้นก็เป็น 1 ใน 4 เมืองนำร่องการใช้เงินดิจิทัลหยวน และยังเป็นสถานที่ทดลอง 5G ที่แรกของโลกอีกด้วย

 

ภาพ: Seungyeon Kim, Wong Yu Liang, Getty Images / Iskandar Malaysia

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X