×

สิงคโปร์ ประเทศที่นำเข้าอาหารมากกว่า 90% จะวางแผนจัดการกับปัญหาราคาที่สูงขึ้นอย่างไร

21.06.2022
  • LOADING...
สิงคโปร์

ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศอย่างสิงคโปร์ที่ต้องนำเข้าอาหารกว่า 90% กำลังเผชิญกับความท้าทายจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างมาก

 

สิงคโปร์นำเข้าอาหารจากกว่า 170 ประเทศ และด้วยความเปราะบางของประเทศ ที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ออกนโยบายที่เรียกว่า ‘30 by 30’ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตอาหารที่จำเป็นให้ได้ 30% ของความต้องการในประเทศ ภายในปี 2030 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 4.1% ในเดือนเมษายน สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 3.3% เริ่มส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างเห็นได้ชัด 

 

Remus Seow เจ้าของร้านอาหาร Fukudon เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาของวัตถุดิบต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งน้ำมัน ไข่ เนื้อสัตว์ ต่างเพิ่มขึ้น 30-45% ส่งผลให้เขาต้องปรับราคาอาหารขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากเปิดมาได้ 2 ปี และหากราคายังคงสูงขึ้นอีก ลูกค้าประมาณ 20-35% อาจจะไม่เข้ามาที่ร้านอีกแล้ว

 

ล่าสุดสิงคโปร์อนุมัติงบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อช่วยกลุ่มคนรายได้น้อยจากความเดือดร้อนในส่วนของราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการให้เป็นเงินช่วยเหลือ และการให้เงินชดเชยด้านสาธารณูปโภค เช่น คูปองส่วนลดภาษีสำหรับสินค้าและบริการ จำนวน 300 ดอลลาร์สิงคโปร์, เงินชดเชยด้านสาธารณูปโภค จำนวน 100 ดอลลาร์สิงคโปร์, บริษัทในประเทศได้เงินอุดหนุนสูงขึ้น, เงินกู้ยืมสูงสุดสำหรับธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และคนขับแท็กซี่และขับรถรับ-ส่งส่วนบุคคลได้เงินช่วยเหลือ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์คาดว่าราคาอาหารมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปเกินกว่าปีนี้ สอดคล้องกับความเห็นของ Dil Rahut นักวิจัยอาวุโสของ Asian Development Bank Institute ซึ่งคาดว่าภาวะขาดแคลนอาหารจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี เนื่องจากประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถเข้ามาอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซียและยูเครน เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีในการเพาะปลูกขึ้นมาทดแทน

 

ขณะที่ World Bank ออกรายงานมาก่อนหน้านี้ว่า ราคาอาหารมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้ ก่อนจะลดลงในปีหน้า 

 

ขณะที่ Paul Teng ผู้ช่วยนักวิชาการอาวุโส S. Rajaratnam School of International Studies กล่าวว่า แผน 30 by 30 มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ประเทศผลิตอาหารได้เพียงพอในภาวะยากลำบาก แต่คงไม่สามารถทดแทนการนำเข้าได้ทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่ม GDP และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนในประเทศ มากกว่าการลงทุนด้านกิจกรรมการเกษตร 

 

“ตราบเท่าที่เรามีเงิน และห่วงโซ่อุปทานไม่ได้หยุดชะงัก คุณจะยังสามารถซื้ออาหารได้จากที่ไหนสักแห่ง เพราะปริมาณอาหารที่เราต้องการไม่ได้เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ” 

 

แต่ความท้าทายที่สำคัญคือ ผู้บริโภคอาจเลือกที่จะซื้ออาหารจากธรรมชาติมากกว่า แทนที่จะซื้อ ‘อาหารใหม่ (Novel Food)’ ที่ผลิตขึ้นมาจากเทคโนโลยี ซึ่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้ามาดูแลเรื่องราคา คุณภาพ และความต้องการของผู้คน

 

ปัจจุบันสิงคโปร์ผลิตอาหารได้เอง 10% จากความต้องการสารอาหารสำคัญทั้งหมด ทำให้การจะบรรลุเป้าหมาย 30% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก 

 

ทั้งนี้ Teng และ Rahut มีความเห็นตรงกันว่า ในระยะสั้นรัฐบาลควรจะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับประชาชน เช่น การให้เงินสนับสนุนด้านอาหาร นอกจากนี้รัฐบาลควรจะพยายามกระจายการพึ่งพิงการนำเข้าอาหารจากหลายประเทศ แทนที่จะพึ่งพิงประเทศหลักๆ เพียงแค่ 1-2 ประเทศ 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สิงคโปร์นำเข้าไก่จากบราซิลถึง 48% และอีก 34% จากมาเลเซีย โดยไก่ที่นำเข้าจากมาเลเซียส่วนมากเป็นไก่ที่ยังมีชีวิต ขณะที่ไก่แช่แข็งจะนำเข้าจากบราซิล

 

นอกจากนี้รัฐบาลควรจะกระตุ้นให้บริษัทสิงคโปร์ออกไปตั้งธุรกิจผลิตอาหารที่ต่างประเทศ และทำข้อตกลงกับประเทศนั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแบนการส่งออกในอนาคต 

 

Rahut กล่าวต่อว่า ด้วยการเป็นประเทศทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สิงคโปร์ควรมองหาแนวทางในการช่วยประเทศอื่นๆ ในการพัฒนากระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งนั่นไม่เพียงแค่จะช่วยให้สิงคโปร์มีความมั่นคงทางอาหาร แต่ยังช่วยให้เกิดความมั่นคงในระดับโลก

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X