ในประเทศสิงคโปร์ การระบาดใหญ่ของโควิดได้ทำหน้าที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการยอมรับฟินเทค, ผลักดันความต้องการในบริการชำระเงินแบบดิจิทัล (Digital Payment), สร้างประสบการณ์ธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) และธุรกิจซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now, Pay Later: BNPL)
โดยจากรายงานของ Fintech News Singapore และ Alibaba Cloud ฉบับล่าสุด ที่มีชื่อว่า Singapore Fintech Report 2022 ได้ระบุว่า ในกลุ่มธุรกิจฟินเทคและสตาร์ทอัพที่มีจำนวนเกือบ 500 บริษัทในสิงคโปร์นั้น กลุ่มเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซีมีสัดส่วนใหญ่สุด ราว 20% ตามมาด้วยธุรกิจด้านการชำระเงิน (17%), การลงทุน/ความมั่งคั่ง (13%) และ RegTech (10%)
จากรายงาน Singapore Fintech Report 2022 ที่กล่าวถึงสถานะของฟินเทคในสิงคโปร์ รวมถึงพัฒนาการสำคัญในปีที่ผ่านมา และมองแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 พบว่าผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างยอมรับและใช้บริการธนาคารดิจิทัลอย่างแพร่หลาย ขณะที่ผู้ให้บริการ BNPL ในสิงคโปร์กำลังระดมทุนครั้งใหญ่เพื่อนำเงินทุนมาขยายธุรกิจ ส่วนธุรกิจ PayNow ซึ่งเป็นบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แบบทันทีของสิงคโปร์ มีธุรกรรมจำนวนมาก เหล่านี้สะท้อนว่าการรับชำระเงินทางดิจิทัลมีความแข็งแกร่งอย่างมาก
ธนาคารเสมือนจริงเริ่มต้นขึ้นแล้ว
รายงานระบุว่า ผู้บริโภคและธุรกิจ SMEs เปิดรับธนาคารเสมือนจริงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมการธนาคารมีวิวัฒนาการและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2020 มีลูกค้าสมัครใช้งานแอปมือถือ Digibank ของ DBS Bank เพิ่มขึ้น 216% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ Digibank มีลูกค้า 3.5 ล้านคน
ส่วนธนาคาร OCBC (Oversea-Chinese Banking Corporation) ก็มีการเติบโตที่คล้ายคลึงกัน โดยธุรกิจ SMEs มีจำนวนการเปิดบัญชีออนไลน์ใหม่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ธนาคาร UOB (United Overseas Bank) มีการซื้อผลิตภัณฑ์การลงทุนออนไลน์เพิ่มขึ้น 406% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2020
ในรายงานระบุว่า การเติบโตของการใช้งานธนาคารเสมือนจริงนั้นมาจากความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปและความต้องการบริการทางการเงินดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับงานวิจัยที่จัดทำโดยบริษัทซอฟต์แวร์ด้านการวิเคราะห์ระดับโลกอย่าง FICO ที่พบว่า 68% ของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ต้องการใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อมีส่วนร่วมกับธนาคารของตนในช่วงที่ประสบปัญหาทางการเงิน และ 28% ของผู้บริโภคระบุว่าต้องการสื่อสารผ่านธนาคารทางอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ประเทศสิงคโปร์กำลังเตรียมเปิดตัวธนาคารเสมือนจริงแห่งแรกของประเทศ โดยบริษัท Grab-Singtel, SeaMoney, Ant Group และกลุ่มบริษัท Greenland Financial Holdings กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเปิดตัวธนาคารเสมือนจริงในปี 2022
บริการ ‘ชำระเงินดิจิทัล’ เติบโตรวดเร็ว
รายงานระบุว่า การเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์ การเปลี่ยนไปสู่การชำระเงินแบบไร้เงินสดในร้านค้าจริง และการพัฒนาการชำระเงินแบบเรียลไทม์ กำลังผลักดันให้บริการชำระเงินดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง e-wallet
ในปี 2020 e-wallet เป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 สำหรับการซื้อขายออนไลน์ (E-Commerce) ในสิงคโปร์ โดยยังเป็นรองจากบัตรเครดิต และจากรายงาน Global Payments Report จัดทำโดย FIS เมื่อปี 2021 ระบุว่า ภายในปี 2024 e-wallet จะแซงหน้าบัตรเครดิต และจะมีสัดส่วนราว 27% ของธุรกรรมการซื้อออนไลน์ทั้งหมด
PayNow ซึ่งเป็นบริการโอนเงินระหว่างธนาคารแบบ Peer to Peer (P2P) ของสิงคโปร์ ที่ทำงานบนระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารแบบทันที Fast And Secure Transfers (FAST) มีการลงทะเบียนรายบุคคลเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคนในปี 2020 ทำให้ยอดลงทะเบียนรวมเป็น 4.9 ล้านคน ในขณะเดียวกันการจดทะเบียนบริษัท PayNow เพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือเพิ่มเป็นประมาณ 240,000 บริษัท
นอกจากนี้การริเริ่มด้านการเชื่อมโยงระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่กำลังคืบหน้า ก็สะท้อนภาพความเป็นผู้นำของสิงคโปร์ในด้านการชำระเงินข้ามพรมแดนระดับภูมิภาคได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยแบบเรียลไทม์ของ PayNow ของสิงคโปร์กับพร้อมเพย์ของไทยประสบความสำเร็จในการเปิดตัวในเดือนเมษายน 2021 เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ตามมาด้วยการเชื่อมโยงกับ DuitNow ของมาเลเซีย และภายในเดือนกรกฎาคม 2022 PayNow คาดว่าจะเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์ของ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดีย
นอกจากนี้ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) ยังมีส่วนร่วมใน Project Dunbar ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มโดย Bank for International Settlements (BIS) เพื่อใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดน
ตลาด ‘ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ ร้อนแรง
อีกธุรกิจฟินเทคที่เฟื่องฟูในสิงคโปร์คือธุรกิจ Buy Now, Pay Later หรือ BNPL ซึ่งเป็นบริการจัดหาเงินทุนระยะสั้นประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อและชำระเงินเป็นงวดได้
ในสิงคโปร์ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการยืดเวลาถือครองเงินดอลลาร์สิงคโปร์ และพ่อค้าออนไลน์พยายามเปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย
ข้อมูลจากการวิจัย Milieu Insight พบว่า 30% ของชาวสิงคโปร์ในช่วงอายุ 25-40 ปีใช้บริการ BNPL ขณะที่ 67% ของผู้บริโภคอ้างว่ารางวัลหรือเงินคืนเป็นแรงจูงใจหลักในการใช้บริการ BNPL
ผู้ให้บริการ BNPL ระบุว่าเห็นการเติบโตที่สำคัญ โดยในช่วงการระบาดใหญ่นั้น Hoolah หนึ่งในผู้เล่นที่โดดเด่นที่สุดในสิงคโปร์ รายงานว่าธุรกรรมมีการเติบโตมากกว่า 1,500% และมูลค่าการขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 800%
นอกจากนี้ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง Standard Chartered ได้ลงนามในความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ 10 ปีกับ Atome Financial เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดย Atome Financial เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการด้านแพลตฟอร์ม BNPL ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ธนาคารยังให้คำมั่นสัญญามูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุน Atome Financial ขยายกลุ่มผู้ค้าและลูกค้า
และเมื่อปลายปี 2021 Pace อีกหนึ่งผู้ให้บริการ BNPL ในสิงคโปร์ ได้ปิดการระดมทุน Series A ด้วยมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Pace ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน และพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายมูลค่ารวมสินค้า (GMV) ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022 และเพิ่มฐานผู้ใช้ 25 เท่าในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยมองการขยายตัวไปที่ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP