สิงคโปร์นำเสนอร่างกฎหมายใหม่ที่มุ่งหมายกวาดล้างข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงเฟซบุ๊ก ซึ่งวิตกกังวลว่ามาตรการดังกล่าวอาจขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
กระทรวงกฎหมายของสิงคโปร์เปิดเผยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า Protection From Online Falsehoods and Manipulation Bill จะมอบอำนาจให้ทางการสิงคโปร์เผยแพร่ข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองแก้ไข ควบคู่กับข้อมูลพาดพิงหน่วยงานหรือสถาบันของรัฐที่พวกเขามองว่าเป็นเท็จ
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติให้เว็บไซต์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ตรวจแก้ข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ พร้อมมาตรการปรับเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 23.4 ล้านบาท) และจำคุกสูงสุด 10 ปี หากพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดๆ โดยผู้ถูกดำเนินคดีจากข้อกล่าวหาเผยแพร่ข่าวปลอมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงของสิงคโปร์ได้
คาดว่ากฎหมายฉบับใหม่จะประกาศบังคับใช้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ของนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ออกมาแสดงความกังวลต่อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชีย วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นหายนะต่อสิทธิมนุษยชน
นอกจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนแล้ว บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กก็วิตกกังวลเช่นกัน โดย ไซมอน มิลเนอร์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่าเฟซบุ๊กได้พูดคุยกับรัฐบาลสิงคโปร์และให้คำมั่นว่าจะช่วยจัดการกับข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียดังกล่าว
แต่เขาระบุว่าเฟซบุ๊กมีความกังวลเกี่ยวกับลักษณะของกฎหมายซึ่งมอบอำนาจให้ทางการสิงคโปร์สามารถบังคับบริษัทเทคโนโลยีให้ลบคอนเทนต์ที่พวกเขาคิดว่าเป็นข้อมูลเท็จ และส่งคำเตือนจากรัฐบาลถึงผู้ใช้ได้ด้วย
แต่กระนั้นกระทรวงกฎหมายระบุว่ากฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อขจัดข่าวปลอม ไม่ใช่เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่าจะช่วยสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องโดยไม่ถูกบิดเบือน เพราะการแพร่สะพัดของข่าวปลอมจะบ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตยและสังคม
เค ชานมุกัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายของสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเรื่องนี้ว่ากฎหมายใหม่มุ่งจัดการกับข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือน แต่ไม่ได้จำกัดข้อคิดเห็น ดังนั้นประชาชนจึงสามารถแสดงมุมมองต่างๆ ได้ ไม่ว่ามุมมองนั้นจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ตาม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: