×

ผ่าภารกิจสิงคโปร์สร้างตึก 8 ชั้นทำ ‘ฟาร์มปลา’ แดนเมอร์ไลออนมองเห็นอะไรในอนาคตด้านอาหาร

16.03.2021
  • LOADING...
ผ่าภารกิจสิงคโปร์สร้างตึก 8 ชั้นทำ ‘ฟาร์มปลา’ แดนเมอร์ไลออนมองเห็นอะไรในอนาคตด้านอาหาร

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหาร แต่เป็น ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ที่สิงคโปร์กำลังพยายามสร้างให้ประชาชนในประเทศจับต้องได้และมีอารมณ์ร่วม เห็นได้ชัดจากกรณีของ Apollo Aquaculture Group บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ได้รับการอัดฉีดเพื่อเป็นหัวเรือใหญ่ในการทำให้แดนเมอร์ไลออนมี ‘ฟาร์มปลาแนวตั้ง’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
  • แม้ว่าการก่อสร้างจะล่าช้าเพราะโควิด-19 แต่หากสร้างเสร็จแล้ว ฟาร์มปลาแห่งใหม่จะทำการอยู่ในอาคาร 8 ชั้น ซึ่งไม่เพียงความสูง แต่ฟาร์มนี้จะแตกต่างจากคู่แข่งที่เป็นโรงงานผลิตซีฟู้ดด้วยกัน เพราะจะใช้สุดยอดเทคโนโลยีจนสามารถผลิตปลาเก๋า ปลาเทราต์ และกุ้งได้ถึง 3,000 ตันต่อปี
  • ตัวเลขผลผลิตนี้ถือเป็นการระบุประสิทธิภาพการเพาะพันธุ์ปลาต่อน้ำหนึ่งตัน ซึ่งหากทำได้ตามเป้า โรงงานนี้จะสามารถผลิตซีฟู้ดได้มากกว่าฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกแห่งที่มีในประเทศถึง 6 เท่าตัว
  • ‘ฟาร์มปลาบนตึก 8 ชั้น’ จึงถือเป็นสัญญาณบันลือโลกที่บอกว่าสิงคโปร์กำลังมองเห็นอนาคตด้านอาหาร ซึ่งชัดเจนว่าหากรัฐบาลสิงคโปร์ลุยผลักดันนวัตกรรมซีฟู้ดลอยฟ้าสำเร็จเมื่อไร เมื่อนั้นย่อมมีฝ่ายเสียประโยชน์ตามมาแน่นอน

ปกติแล้วฟาร์มเลี้ยงปลาที่หลายคนเคยเห็นมักจะเป็นบ่อในพื้นที่ชั้นเดียวหรือไม่ก็นอกชายฝั่งทะเล แต่ฟาร์มปลาลักษณะนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาคาใจคนสิงคโปร์ได้ เพราะไม่อาจผลิตอาหารได้พอที่จะเลี้ยงประชากร 5.6 ล้านคนทั่วประเทศ

 

จากการทำแปลงผักบนอาคารสำนักงาน มาถึงการเพาะเซลล์เนื้อไก่ในห้องทดลอง วันนี้เกาะสิงคโปร์ขยับไปสู่เป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตอาหารของตัวเองและพึ่งพาการนำเข้าอาหารน้อยลง ด้วยการอัดฉีดโครงการสร้างอาคาร 8 ชั้นเพื่อทำฟาร์มปลานวัตกรรมอย่างจริงจัง 

 

โดยที่ผ่านมา สิงคโปร์นำเข้าอาหารมากกว่า 90% และวางแผนผลิตอาหารให้ได้ประมาณ 10% แต่เนื่องจากปัญหาโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเติบโตของประชากรที่คุกคามเสบียงอาหารทั่วโลก 

 

ทำให้แดนเมอร์ไลออนเปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตอาหารในประเทศให้เป็น 30% ภายในปี 2030 แผนที่มีชื่อเล่นเรียกกันว่า ‘30-by-30’ นี้เริ่มจุดพลุมาตั้งแต่ปี 2019

 

แต่ปรากฏว่าความกังวลเรื่องอาหารขาดแคลนของสิงคโปร์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงโควิด-19 ชั้นวางสินค้าว่างเปล่าในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งทำให้ชาวเมืองสิงคโปร์เข้าสู่โหมดการซื้อของกักตุนอย่างตื่นตระหนก และแม้ว่านักการเมืองรวมถึงตัวแทนในอุตสาหกรรมจะยืนยันให้ทุกคนสงบสติอารมณ์ แต่หลายคนกลับรู้สึกเหมือนกับว่าความมั่นคงด้านอาหารของประเทศถูกคุกคามไปด้วยในช่วงปิดน่านฟ้า

 

ภาพ : Suhaimi Abdullah / Getty Images

 

โควิด-19 จึงเป็นตัวเร่งให้สิงคโปร์มั่นใจในวิสัยทัศน์เรื่องความมั่นคงทางอาหารเต็มที่ โดยรัฐบาลยอมทุ่มเงินจำนวนมากให้กับโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไปถึงจุดนั้นได้ 

 

หนึ่งในโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมนั้นคือฟาร์มปลา 8 ชั้นของบริษัท Apollo Aquaculture ที่การันตีว่าจะสามารถผลิตปลาเก๋า ปลาเทราต์ และกุ้งได้ 3,000 ตันต่อปี มีประสิทธิภาพการเพาะพันธุ์ที่มากกว่า 6 เท่าของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศที่ทำได้ในปัจจุบัน

 

นี่ไม่ใช่การแจ้งเกิดครั้งแรกของ Apollo Aquaculture ในสมรภูมิปลาเลี้ยง เพราะ Apollo เป็นบริษัทเก่าแก่ที่ยืนหยัดมานานหลังก่อตั้งขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีการใช้วิธีการทันสมัยจากเยอรมนี ญี่ปุ่น และอิสราเอล ในฟาร์ม 300 แห่งทั่วภูมิภาค ขณะนี้บริษัทมีฟาร์มในเขต Lim Chu Kang ที่เป็นอาคารสูง 3 ชั้น และเปิดทำการมานานกว่า 10 ปี สามารถผลิตปลาได้เกือบ 200 ตันต่อปี

 

เลี้ยงปลาไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ

ประสบการณ์หลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นข้อมูลชั้นยอดให้ ‘การเลี้ยงปลาในตึก’ ของ Apollo ประสบความสำเร็จ บริษัทสามารถเข้าใจปริมาณน้ำ สภาพของน้ำ และปริมาณอาหารที่เหมาะสมแบบละเอียดชนิดวัดได้เป็นกรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร

ด้วยเหตุนี้ Apollo จึงสามารถผลิตปลาได้ในระยะเวลาสั้นกว่า ในขนาดที่เหมาะสมกับตลาด โดยสามารถเปลี่ยนน้ำในถังเพียง 5% ต่อครั้ง และในภาพใหญ่ Apollo วางเป้าลดการเปลี่ยนน้ำปนเปื้อนจากปลาให้ลดลงเหลือ 0%

 

การเลี้ยงปลาตึกไม่เปลี่ยนน้ำทำได้จริง ด้วยการใช้พืชน้ำเพื่อทำความสะอาดและบำบัดน้ำตามธรรมชาติ ยังมีเทคโนโลยีที่ทำให้ปริมาณน้ำทิ้งจากฟาร์มลดน้อยกว่าฟาร์มเลี้ยงปลาบนบกทั่วไป ซึ่งเกษตรกรมักต้องทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำในถังทั้งหมด

 

ภาพ : Apollo Aquaculture

 

Crono Lee โฆษก Apollo เชื่อว่าฟาร์มทางเลือกแนวดิ่งหรือ Vertical Farm นั้นเหมาะสมกับสิงคโปร์ เหตุผลสำคัญคือประเทศขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์ไม่มีที่ดินมากพอที่จะใช้ก่อตั้งฟาร์มขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะที่จะขยายฟาร์มในแนวราบ 

 

จากสถิติพบว่ามีพื้นที่เพียง 1% ของพื้นที่ 724 ตารางกิโลเมตรในสิงคโปร์ ที่อุทิศให้กับการเกษตรช่วงปี 2019 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้นทุนการผลิตบนดินที่สูงกว่าพื้นที่อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์พยายามผลักดันให้เกษตรกรรมในประเทศเติบโตมากขึ้นโดยใช้เงินต้นทุนน้อยลง จนเกิดเป็นโครงการนำร่องเกษตรกรรมยั่งยืนหลายโปรเจกต์ 

 

ซึ่งไม่เพียงแค่ Apollo Aquaculture แต่ยังมีฟาร์มนอกชายฝั่งที่เปิดให้บริการในปลายปี 2019 ห่างจากท่าเรือเฟอร์รี่ชางงีพอยต์ของสิงคโปร์ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งใช้ระบบปิดเพื่อผลิตปลาบารามันดี ปลากะพงแดง และปลาเก๋าประมาณ 166 ตันต่อปี ในถังเลี้ยง 4 ถัง

 

ผักและเนื้อต้องมา

แน่นอนว่ารัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้หวังแต่จะให้ประชาชนบริโภคแค่ปลา เพราะในช่วงที่เกิดโรคระบาด รัฐบาลเมอร์ไลออนเปิดไฟเขียวอนุมัติให้หลายฟาร์มเพิ่มผลผลิตและเร่งการผลิตอาหารในท้องถิ่น มีการขยายระบบการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเพื่อลดกำลังคน และเปิดกว้างในการประยุกต์ใช้พลังปัญญาประดิษฐ์

 

ภาพ : Jonas Gratzer / Getty Images

 

ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ I.F.F.I. สุดไฮเทคที่มีระบบคอยตรวจสอบการเติบโต โดยมีระบบควบคุมสิ่งแวดล้อมขั้นสูงจนสามารถดันอัตราการเติบโตได้สูงกว่าฟาร์มดินดั้งเดิม ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศแปรปรวนของโลก 

 

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีฟาร์มยังลดปัญหาขยะอาหาร เพราะฟาร์มมีการใช้ระบบบำบัดน้ำที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ทำให้ลดแบคทีเรียในพืชผล ยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลได้อีกทาง

 

ยังมี Sustenir Agriculture ฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์รายสำคัญในบรรดา Vertical Farm นับ 30 แห่งของสิงคโปร์ ฟาร์มนี้สามารถปลูกคะน้า มะเขือเทศเชอร์รี และสตรอว์เบอร์รีในอาคาร ภายใต้แสงจากหลอดไฟประดิษฐ์ แล้วขายผลผลิตให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตในท้องถิ่นและร้านขายของชำออนไลน์ 

 

ก่อนหน้านี้ Sustenir ระดมทุนเพิ่มอีก 22 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากผู้สนับสนุนหลายรายซึ่งรวมถึง Temasek หน่วยลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และ Grok Ventures ของออสเตรเลีย คาดว่าจะมีการขยายธุรกิจในสิงคโปร์และฮ่องกงอย่างก้าวกระโดด

 

ที่สุดแล้ว โซลูชันการทำฟาร์มในเมืองที่หลากหลายล้วนมีความสำคัญต่อสิงคโปร์ และยังเป็นเครื่องหมายของพัฒนาการเทคโนโลยีที่น่าประทับใจ เพราะสามารถใช้การได้จริง 

 

หนึ่งในพัฒนาการนั้นคือ Eat Just บริษัทสิงคโปร์ซึ่งกำลังเร่งวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อไก่ในห้องแล็บ โดยนำเซลล์ของสัตว์จริงมาใช้เพื่อพัฒนาเนื้อไก่ที่อาจจะ ‘บริสุทธิ์’ ไร้สารปนเปื้อนและปลอดภัยกว่าสัตว์ปีกมีชีวิต ที่มักจะถูกฉีดยาปฏิชีวนะและฮอร์โมน เพื่อให้ไก่เติบโตทันความต้องการของตลาด 

 

 

รายงานย้ำว่าชาวสิงคโปร์กำลังจะสามารถซื้อเนื้อไก่ที่เลี้ยงในแล็บของ Eat Just ได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากบริษัทได้รับไฟเขียวให้ขายผลิตภัณฑ์ในสิงคโปร์แล้ว

 

มีคนไม่เห็นด้วย

ความมั่นคงด้านอาหารที่มากขึ้น อาจทำให้ชาวเมืองสิงคโปร์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างไร้กังวล แต่ปัญหาคือไม่ใช่ทุกคนในสิงคโปร์ที่เห็นด้วยกับแผนนี้

 

วิลเลียม โฮ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่วัย 53 ปี เคยให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่ารัฐบาลสิงคโปร์กำลังวางเดิมพันมากเกินไปในบริษัทเทคโนโลยีใหม่ด้านการเกษตร ที่ผ่านมามีหลายบริษัทและหลายเทคโนโลยีที่ล้มเหลว จึงมองว่ารัฐบาลควรลงทุนกับ ‘เกษตรกรที่ดำเนินการแบบดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตได้จริงและจับต้องได้’ มากขึ้นกว่านี้

 

หากมองในภาพรวม สถานการณ์ขณะนี้ชัดเจนว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของอาหารกลุ่มซีฟู้ดทั้งหมดที่ชาวโลกบริโภค สำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งผลิตและเพาะพันธุ์ปลาได้ถึง 90% ของผลผลิตทั่วโลก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้เป็นเพียงการสร้างสรรค์แหล่งอาหาร แต่ยังนำไปสู่การจ้างงาน แหล่งรายได้ และเงินตราต่างประเทศที่จะสะพัดไปทั่วพื้นที่

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับเอฟเฟกต์โดยตรงจากธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นยิ่งเร่งความจำเป็นต้องขยายการเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง 

 

ภาพ : Zhou Haijun / Getty Images

 

การสำรวจพบว่าผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมดในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 2 ล้านตันในปี 1990 เป็นมากกว่า 8 ล้านตันในปี 2006 ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวของภูมิภาคได้เร่งให้อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของผลผลิตตั้งแต่ปี 2000-2006 สูงกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงปี 1990-2000

 

สถิติวันนี้พบว่าอาหารมากกว่า 1 ใน 4 ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนมาจากการเพาะเลี้ยง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากปลามีความสำคัญในฐานะอาหารของชาวอาเซียน ประชากรส่วนใหญ่มีสัดส่วนการบริโภคปลาต่อหัวสูง และปลาเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งประชาชนบริโภคโปรตีนจากสัตว์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก

 

บทสรุปว่าแดนเมอร์ไลออนมองเห็นอะไรในอนาคตด้านอาหาร จึงอาจอยู่ที่ความจริงว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ไม่เพียงผลิตโปรตีน จ้างงาน และสร้างรายได้ทั่วประเทศเท่านั้น 

 

แต่ยังมีศักยภาพในการสร้างภาษีให้รัฐบาล เกิดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และลดต้นทุนของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ 

 

ที่สำคัญ ยังเป็นการดึงให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ไม่ปฏิเสธการดำรงชีวิตในพื้นที่ห่างไกล และปูทางสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดล้วนทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นภาคส่วนที่สำคัญและจะเติบโตได้ไกล ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่อื่นของโลกต่อไปด้วย

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมลฃ

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X