×

ซิน ทศพร คุยเรื่อง Fake ผ่านบทเพลงจากความจริงใจ

04.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Fake คือผลงานลำดับที่สอง ต่อจากเพลง ฟัง หลังจากย้ายเข้ามาในบ้านใหม่ White Music
  • ซินได้คอนเซปต์ของเพลงนี้จากการฟังดนตรีที่ แทน Lipta ขึ้นทำนองมาให้ แล้วอยู่ดีๆ คำว่า Fake ก็ปิ๊งขึ้นมาในหัว
  • ซินใช้เวลาถึง 9 เดือน เพื่อทำความเข้าใจกับคำคำนี้ให้มากที่สุด มีเพลง 4-5 เวอร์ชันที่เขียนไปแล้วแต่ถูกโละทิ้ง ก่อนจะได้มาเป็นเพลง Fake เวอร์ชันล่าสุดที่ทุกคนได้ฟัง
  • ซินเชื่อว่าขอบเขตของคำว่า Fake อยู่ที่ จะต้องไม่มีคนได้รับความเดือดร้อนจากคำโกหกนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม

ถ้าดูจากผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด ซิน-ทศพร อาชวานันทกุล คือหนึ่งในศิลปินที่จริงใจและตรงไปตรงมาในการสร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์ที่ตัวเองชื่นชอบและถนัดมากที่สุด

 

รวมทั้งผลงานล่าสุด ที่ถึงแม้จะใช้ชื่อเพลง Fake และเนื้อหาว่าด้วยคนโกหกหลอกลวง แต่ซินก็ยังใช้ความพยายามและจริงใจกับตัวเองเพื่อให้ผลงานออกมาตรงกับตัวตนและความต้องการของเขามากที่สุด แม้จะต้องใช้เวลาเนิ่นนานถึง 9 เดือนก็ตาม

 

THE STANDARD POP ชวนศิลปินที่จริงใจคนนี้มาพูดคุยถึงสารพันความ Fake ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลั่นออกมาเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้สนุกกับการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ตั้งแต่ภาพลักษณ์ที่ปรากฏ ไปจนถึงเนื้อเพลงที่มีทั้งคำว่า ‘กระจอก’ และ ‘ดีออก’ ที่หลายคนแทบนึกภาพไม่ออกว่าจะได้ยินจากปากซิน

 

มิวสิกวิดีโอเพลง Fake

 

Fake เริ่มต้นจากดนตรีและ ‘คำ’ ที่อยู่ดีๆ ก็ปิ๊งขึ้นมา

เริ่มต้นจากเราคุยกับ แทน Lipta อยากให้ช่วยขึ้นเพลงมาให้หน่อย ไม่ได้บรีฟอะไรแทนเลยนะ แล้วพอแทนส่งดนตรีมาให้ เราก็มานั่งฟัง ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร อาจจะด้วยจังหวะของดนตรี ประสบการณ์ที่เริ่มโตขึ้น ซึ่งมันไปคอนเนกต์กับคำว่า Fake ที่อยู่ดีๆ ก็ลอยขึ้นมาในหัว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีความคิดเอาเรื่องนี้มาเขียนเพลงมาก่อนเลย

 

ตอนหลังก็ไปคุยกับแทนว่า จริงๆ แล้วเขารู้สึกอะไรกับดนตรีที่ทำขึ้นมา อยากเขียนเรื่องแบบไหนลงไปในทำนองแบบนี้หรือเปล่า ซึ่งสิ่งที่เขาคิดไม่ได้ตรงกับที่เราตีความออกมาในเพลงนี้เลย (หัวเราะ) แทนจะคิดถึงอารมณ์หม่นๆ ที่ยังมีความซนผสมอยู่ แต่เราเลือกที่จะพูดแบบตรงไปตรงมาไปเลย

 

กระบวนการหาเรื่องเล่าที่ใช้เวลานานถึง 9 เดือน

พอปิ๊งคำว่า Fake ขึ้นมาแล้ว ก็เข้าสู่ช่วงหาวิธีการพูดถึงคำนี้ให้ออกมาเป็นเวอร์ชันที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งใช้เวลานานมาก (หัวเราะ) เพราะพอมาเริ่มคิดกับคำนี้จริงๆ มันมีหลายประเด็นที่เขียนถึงได้เยอะมาก และเราไม่ได้มีสโคปหรือนิยามชัดเจนว่าเนื้อหาจะต้องออกมาแบบไหน

 

มันมีทั้งตัดพ้อชีวิตเวลาต้องดีลกับการ Fake มีพูดถึงคำว่า Fake ในมุมที่เข้าใจยากมากๆ ซึ่งพอมาคิดดูว่าเนื้อหาไม่กว้าง และอาจจะไม่มีใครเข้าใจไปกับเรา (หัวเราะ) หรือไม่ก็เป็นคอนเซปต์แบบดราม่าไปเลย สุดท้ายก็ปรับไปปรับมา มีประมาณ 4-5 เวอร์ชันเลยนะ ที่ทดลองเขียนขึ้นมาแล้วก็ทิ้งไป

 

อยู่ดีๆ นั่งหน้าคอมฯ ก็ปิ๊งประโยคแรกขึ้นมาได้ว่า ‘เธอยืนต่อหน้าฉัน เธอยืนต่อหน้าฉัน และบอกว่าเธอรักกันตั้งเท่าไร พอเธออยู่กับใคร พอเธออยู่กับใคร ก็พูดถึงกันเหมือนฉันเป็นผู้ร้าย’ แล้วก็แต่งต่อไปได้จนจบ ซึ่งนับจากวันที่คำว่า Fake ปิ๊งขึ้นมา เวลาก็ผ่านไป 9 เดือนแล้ว (หัวเราะ)

 

เรียนรู้จากคำว่า ‘Fake’

แต่ไม่ได้รู้สึกว่า 9 เดือนก่อนหน้านั้นเป็นเวลาสูญเปล่าเลยนะ เพราะระหว่างที่คิด ทำให้เราได้นึกถึงความหมายของคำ หรือคนที่มีลักษณะแบบนี้ไปด้วยแบบจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีเวลาคิดถึงมันมากเท่าไร เลยทำให้รู้ว่าขอบเขตหรือความหมายของการ Fake มันกินพื้นที่กว้างมาก และมีเรื่องราวหลายมุมให้เราพูดถึงจริงๆ

 

แต่หลังจากที่บอกไปว่า มันเคยผ่านมุมที่อยากเล่าแบบเข้าใจยากๆ ตัดพ้อ ดราม่า หรืออะไรต่ออะไรมาแล้ว มันมาตกตะกอนได้ว่า วิธีการรับมือกับคนหรือเหตุการณ์ Fake ที่เกิดขึ้นกับเราได้ดีที่สุดก็คือการไม่ต้องใส่ใจหรือให้คุณค่ากับมัน เพราะสุดท้ายคุณก็เป็นแค่ Fake Boy, Fake Girl คนหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็ใช้ชีวิตของเราต่อไปได้แบบสบายๆ อยู่ดี

 

หาโจทย์ใหม่ที่ไม่เคยทำ เพื่อท้าทายตัวเอง

จริงๆ เรื่องท้าทายตัวเองไม่ใช่โจทย์ในการทำเพลงหลักๆ ของเรานะ เพราะโจทย์ยังเป็นการทำเพลงที่เราชอบ และอยากพูดถึงในช่วงเวลานั้นๆ ออกมาให้ดีที่สุด แต่รู้สึกว่าเป็นเพราะวัฏจักรความเบื่อของเราที่อาจจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในการทำงานมากกว่า (หัวเราะ) ที่ทำให้ต้องทดลองทำอะไรที่ไม่เคยทำออกมาเรื่อยๆ

 

อย่างตอนอัลบั้มที่แล้ว (Homepop) ก็ทดลองวิธีการทำงานที่ไม่เคยทำไปเยอะมาก ตั้งแต่ร้องเพลงที่คนอื่นแต่งให้ ไปเริ่มต้นเพลงใหม่ในห้องอัดแบบไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก่อน ฯลฯ ที่พอทำแล้วรู้สึกว่าสนุกดี พอมาเพลงนี้ที่เริ่มต้นด้วยคำว่า Fake ก็อยากลองหาคำอื่นๆ ที่เราไม่เคยใช้ และคนฟังคิดว่าเราไม่น่าจะพูดได้อย่างคำว่า ดีออก หรือ กระจอก ออกมา หรือตอนถ่ายมิวสิกวิดีโอ พี่เสือ (ผู้กำกับซีรีส์ Spike จาก Project S The Series ของ GDH) อยากเห็นลุคที่เราไม่เคยทำมาก่อน ก็เลยกลายเป็นผมตรงยาวแบบที่เห็นในมิวสิกวิดีโอ

 

ซึ่งมันเป็นโจทย์ของความสนุกล้วนๆ ที่ไม่เกี่ยวว่าเราจะต้องทำเพื่อค้นหาตัวตนอะไรใหม่ๆ เลยนะ รู้สึกว่าพอทำเพลงผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่ง เราผ่านจุดที่จะต้องมานั่งค้นหาตัวตนหรือสไตล์ที่แท้จริงของตัวเองไปแล้ว เวลาทำผลงานต่อๆ ไปเลยจะไม่ได้มาคิดว่า สิ่งนี้มันใช่ตัวตนของเราจริงๆ หรือเปล่า เพราะผลงานทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา มันคือตัวตนของเราจริงๆ ที่ถ้าไม่ชอบจะไม่มีวันปล่อยผ่านออกมาเด็ดขาด ที่เหลือแล้วแต่คนอื่นจะนิยามเข้ามามากกว่าว่าเขาเห็นว่าตัวตนของเราเป็นแบบไหน

 

ลางสังหรณ์ที่แม่นยำ เกิดขึ้นจากการสังเกตรอบข้างด้วยตัวเอง

เวลามีคนพูดว่าคนนั้นคนนี้มีลางสังหรณ์หรือมีเซนส์ในการจับโกหกหรืออาการผิดปกติได้มากกว่าคนอื่น สำหรับเรารู้สึกว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องลึกลับหรือพลังเหนือธรรมชาติ แต่แทนค่าได้ด้วยการสังเกตหรือประสบการณ์ชีวิตหลายๆ อย่างที่เราเริ่มต้นสะสมมาตั้งแต่เด็กๆ

 

ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราเป็นคนประเภท Introvert ที่ชอบเก็บตัวมาตั้งแต่เด็กๆ ที่เวลาอยู่ในสังคมหรือวงสนทนาอะไรก็ตาม เราจะทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์อารมณ์ คำพูด ความรู้สึกของคนอื่นๆ มากกว่าจะเป็นฝ่ายแสดงออกมาให้คนอื่นเห็น หรืออย่างเวลาดูหนัง ก็จะชอบเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ผ่านคำพูด ท่าทางของตัวละคร สัญลักษณ์ต่างๆ ที่แทรกอยู่ในหนังเป็นพิเศษ

 

พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เลยรู้สึกว่า เราจะเริ่มจับสังเกตอาการได้ว่าภายใต้การแสดงออกอย่างหนึ่ง ลึกๆ แล้วคนคนนั้นรู้สึกอย่างไร เขาคิดแบบที่เขาแสดงออกมาจริงๆ หรือเปล่า บางครั้งแค่นั่งคุยกันเฉยๆ ก็พอเดาได้แล้วว่าเขาคิดอะไรกับเรา หลายคนเลยอาจจะคิดว่าเรามีเซนส์ตรงนี้เป็นพิเศษ

 

ซึ่งก็ไม่ได้เดาถูกทั้งหมด 100% นะ แต่มีน้อยที่เดาผิด ถือว่าค่อนข้างแม่นอยู่ (หัวเราะ) ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียปนๆ กัน ข้อดีคือ อาการผิดปกติที่จับสังเกตได้ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น เวลามีคนเข้ามาหาเราไม่ว่าจะด้วยเรื่องความสัมพันธ์ ชีวิต การงานหรืออะไรก็ตาม เหมือนตั้งกำแพงขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีใคร Fake กับเราได้

 

แต่ก็จะมีอยู่บางครั้งที่เราคิดผิด ไปตั้งกำแพงบางอย่างจนเสียโอกาสดีๆ ที่จะได้จากคนที่เข้ามาหาเรา แต่ก็จะไม่ได้มานั่งเสียดายว่า ไม่น่าตัดสินใจแบบนั้นไปเลย หรือครั้งหน้าจะไม่เชื่อความรู้สึกของตัวเองอีกแล้ว เพราะค่อนข้างเป็นคนที่มั่นใจในความรู้สึกตัวเอง สุดท้ายถ้าในใจส่งสัญญาณแบบไหน ก็จะตัดสินใจแบบนั้นอยู่ดี (หัวเราะ)

 

กรอบของคำว่า ‘Fake’ อยู่ที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นหรือเปล่า

อย่างที่บอกไปว่ามีประเด็นให้พูดถึงเกี่ยวกับว่า Fake กว้างมาก มันมีทั้งการโกหกหมดเลย, ไม่พูดความจริง, ปิดบัง, สร้างสถานการณ์ ไปจนถึงยอมโกหกเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า ซึ่งพอมาคิดถึงคำนี้หนักๆ สิ่งหนึ่งที่รู้สึกโดยส่วนตัวคือ เราแบ่งเส้นไว้ที่ว่ามีคนได้รับความเดือดร้อนจากการ Fake หรือโกหกนั้นหรือเปล่า

 

อย่างการโกหกขาว ที่โกหกเพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งสบายใจ ถ้าสุดท้ายไม่มีใครเดือดร้อน สบายใจด้วยกันทั้งหมด เราว่าโอเคเลยนะ เพราะสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน มันมีเรื่องให้เราต้องพบปะผู้คน ต้องทำงาน ต้องมีความสัมพันธ์ ต้องเจอสถานการณ์ลำบากใจที่การพูดความจริงทั้งหมดอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป

 

บางครั้งเราป่วยหนักมาก แต่ต้องออกไปร้องเพลง เราก็ต้องบอกคนอื่นไปว่า เราไม่เป็นไร ทำงานไหว โกหกตัวเอง เพื่อให้คนอื่นสบายใจ และผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ด้วยดีกันทุกฝ่าย หรือบางคนอาจต้องโกหกหรือปิดบังเรื่องที่ใหญ่มากๆ เพื่อให้อีกคนไม่รู้สึกเศร้าจนเกินไป ถ้าสุดท้ายจะช่วยให้คนอื่นผ่านเรื่องราวร้ายๆ ไปได้ ไม่มีบุคคลที่สาม หรือบุคคลอื่นๆ ต้องมารับผลกระทบจากคำโกหก

 

แต่ถ้ามีคนต้องรับผลกระทบ ไม่ว่าการโกหกนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยขนาดไหนก็ตาม อันนี้เราคิดว่ายังไงก็ไม่ควรโกหก ไม่ควร Fake ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

 

เพลง Fake เวอร์ชันภาษาญี่ปุ่น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • นอกจากเพลง Fake เวอร์ชันภาษาไทย ซินยังเดินหน้าโปรเจกต์ทำเพลง Fake เวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นต่อทันที โดยได้ ยูรุ ยูกิ ศิลปินชาวญี่ปุ่นมาช่วยแต่งเนื้อร้อง ซึ่งนับว่าเป็นเพลงแรกที่ทำเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งเพลง หลังจากเคยร่วมงานกับวง Depapepe ทำเพลงที่มี 3 ภาษา ไทย, อังกฤษ, ญี่ปุ่น ในเพลง Share My World มาแล้ว
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X