×

‘กอบศักดิ์’ เผยสัญญาณเตือนไทยเสี่ยงจนลง หากไม่สร้างเทคโนโลยี ปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เสี่ยงเห็นปิดโรงงานระลอกใหม่

10.09.2024
  • LOADING...

ปิดโรงงานรถยนต์สะท้อนว่าเทคโนโลยีไทยตกยุคแล้ว สัญญาณเตือนภัยส่อลามยาวซัพพลายเชน ทำโรงงานปิดรอบสอง หากยังไม่หาอุตสาหกรรมใหม่ มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ อนาคตไทยเสี่ยงจนลงเมื่อเทียบคู่แข่ง

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญของรัฐบาลคือจะมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร โดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มฐานรากที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหามากกว่าที่คาดไว้ซึ่งมีผลกระทบต่อกำลังซื้อ 

 

รวมทั้งมีปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่สูง โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีหนี้กลุ่ม (Special Mention: SM) ที่สูงและยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลมาก เพราะกำลังสะท้อนปัญหาว่าผู้บริโภคไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึง NPL ของหนี้ภาคที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

 

“คิดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างก็โอเค การแจกเงิน 10,000 บาทกับกลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้กลุ่มนี้มีเงินเพื่อหมุนเศรษฐกิจโดยเร็วในช่วงสั้นๆ ถือว่าโอเค อยากให้เป็นการทำแบบมุ่งเป้าในลักษณะนี้ จากกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จะทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเรื่องนี้เพื่อให้ทันปีงบประมาณ ดังนั้นต้องผ่านช่องทางที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ตรงที่สุด ซึ่งจะไปสู่การใช้ช่องทางเดิมที่มี ใช้ตัวเลขที่ไม่มากจนเกินไป และไม่ซับซ้อนเกินไป ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้เม็ดเงินถึงมือประชาชน สามารถนำไปใช้ได้เลย แก้ปัญหาฐานรากที่กำลังอ่อนแอในขณะนี้”

 

สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยประเมินว่า GDP ของไทยในปี 2567 จะขยายได้ในระดับประมาณ 3% ภาพรวมได้ผ่านจุดต่ำสุด (Bottom) ไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีแรงขับเคลื่อนจากหลายปัจจัยในช่วงปลายปีนี้ ทั้งจากภาคการส่งออกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ขยายตัวดีประมาณ 15% 

 

รวมทั้งการลงทุนทางตรง (FDI) ที่มีสัญญาณฟื้นตัวได้ดี รวมภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องชัดเจน โดยคาดว่าในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ หรือเดือนมกราคม 2568 มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวกลับมาในระดับ 4 ล้านคน หรือมากกว่า 4 ล้านคน กลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่โควิดแพร่ระบาด อีกทั้งคาดว่ารัฐบาลที่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่เข้ามาทำงานจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม รวมทั้งโครงการลงทุนภาครัฐ

 

ปิดโรงงานรถยนต์เป็นสัญญาณเตือนภัย ไทยเสี่ยงจนลง

 

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 หรือในระยะกลางถึงยาว ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่จะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนต่อเนื่องในโครงการเดิม เช่น โครงการ EEC ทั้งการพัฒนาท่าเรือ สนามบิน ระบบขนส่งทางราง และมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต อีกทั้งมีการชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ ในระยะยาวต้องลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่แท้จริง เพื่อเปลี่ยนผ่านให้ประเทศไทยก้าวสู่การพึ่งพาเทคโนโลยีให้มากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจะไม่สามารถพึ่งภาคเกษตรและท่องเที่ยวเช่นในอดีตได้อีกต่อไป เพราะสินค้าเทคโนโลยีกำลังเป็นเทรนด์โลก หากดำเนินการได้เชื่อว่า GDP ของไทยในระยะยาวมีโอกาสจะขยายตัวได้ในระดับ 4.5% ต่อปี

 

“การปิดกิจการโรงงานผลิตรถยนต์ของทั้ง Subaru, Suzuki และ Honda ในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นสัญญาณเตือนภัย บริษัทเหล่านี้ถือเป็นเสาหลักของประเทศไทยมายาวนานในการส่งออก สะท้อนว่าเทคโนโลยีที่เรามีตกยุคแล้ว ไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เหลือจำนวนมากในประเทศไทย อาจจะเห็นภาพการปิดโรงงานในรอบที่สองหรือรอบที่สามต่อไปในอนาคต สะท้อนว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยเข้าอุตสาหกรรมใหม่ๆ และต้องสร้างเทคโนโลยี หากคู่แข่งทำเรื่องนี้แล้วเราไม่ทำ ในระยะยาวประเทศไทยในอนาคตจะกลายเป็นประเทศที่จนลง โดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เพราะโลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของเทคโนโลยีคือ AI และเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้าไปมีส่วนในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยีในอดีตที่เคยเกิดขึ้น เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ ก็เข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม”

 

 

นอกจากนี้ประเมินว่า เศรษฐกิจของโลกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ากำลังเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวเฟสใหม่ (The Beginning of a New Phase of Economic Recovery) ทั้งนี้จึงเป็นช่วงที่นักลงทุนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการหรือกลยุทธ์การลงทุนใหม่อีกครั้ง 

 

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน คือการใช้นโยบายการเงินเพื่อทำสงครามต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งกำลังใกล้จะจบแล้ว หลังจากแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลกทั้งในอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐฯ ที่เคยพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 9-14% เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เข้าใกล้ระดับปกติ

 

ขณะที่ทิศทางของดอกเบี้ยของโลกกำลังจะเข้าสู่แนวโน้มการปรับลดลงแบบพร้อมเพียงกันในทุกตลาดทั่วโลก โดยขณะนี้เริ่มเห็นธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเริ่มเตรียมปรับลดดอกเบี้ยหรือบางแห่งเริ่มลดดอกเบี้ยไปแล้ว ทั้งธนาคารกลางในอเมริกาใต้, ธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB), ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) รวมถึงธนาคารกลางเอเชียที่มีโอกาสลดดอกเบี้ย 

 

อีกทั้งในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 17-18 กันยายนนี้ คาดว่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง อีกทั้งที่สำคัญยังคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปี หรือ 1 ปี 6 เดือนหลังจากเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรก

 

ในปี 2567 ดอกเบี้ยมีโอกาสจะลดลงได้ 2 ครั้ง จบที่ 5.1% จากนั้นในปี 2568 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.1% และในปี 2569 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.1% โดยมีรูปแบบการลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.25% ต่อไตรมาส หรือลดลงประมาณ 1% ต่อปี 

 

แบงก์ชาติมีความจำเป็นลดลงในการลดดอกเบี้ย

 

โดยปัจจัยดอกเบี้ยทั่วโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่พร้อมเพรียงกันทั่วโลก โดยการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจะนำไปสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งจะมีแรงกระตุ้นจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่พร้อมเพรียงกัน และจะเป็นบวกต่อภาพบรรยากาศการลงทุนของตลาดสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลกรวมถึงของไทย

 

พร้อมทั้งประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปัจจุบันได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สะท้อนจากดัชนี PMI ของหลายประเทศขนาดใหญ่ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ประเมินว่า จากการที่เศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวในเฟสใหม่จะสนับสนุนต่อตลาดส่งออกทั่วโลกให้ขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งการส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งคาดว่าเครื่องยนต์ส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในระยะถัดไป

 

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าจังหวะที่เหมาะสมที่สุดในการปรับลดดอกเบี้ยของ ธปท. คือช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงที่เงินเฟ้อติดลบและเศรษฐกิจของไทยเติบโตต่ำที่สุด โดยมองว่า Neutral Rate ของไทยควรอยู่ที่ 2-2.5% อีกทั้งประเมินว่าความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินมีความจำเป็นลดลง ดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มหมดลง เนื่องจากมีเครื่องยนต์สำคัญทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และ FDI ที่กำลังขยายตัวได้ดี จึงมีความจำเป็นลดลงที่แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X