×

เริ่มยกระดับไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ผลิต นำเข้า ส่งออก จำคุก 20 ปี ปรับ 2 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2018
  • LOADING...

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าจากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนักมีการใส่ไซบูทรามีน ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต เพราะไซบูทรามีนออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร และส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ

 

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศฯ กำหนดให้ไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนถึง 2 ล้านบาท ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนถึง 2 ล้านบาท ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน หรือมีผลในทางยา ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของยา ซึ่งผู้ใช้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานั้นจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ การลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ควบคุมอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หากต้องการใช้ยาลดความอ้วนต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง อย่างไรก็ตาม ยาไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วนได้ หากไม่ปรับพฤติกรรม เมื่อหยุดยาก็จะกลับมาอ้วนยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า YOYO Effect ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต หรือจำหน่ายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. โทร 1556

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X