ทีมนักบรรพชีววิทยา นำโดย ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อสปีชีส์ใหม่ล่าสุดในสกุลคาร์คาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosaurus) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ปลายยุคจูราสสิกต่อเนื่องตอนต้นยุคครีเทเชียส มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘สยามแรปเตอร์ สุวาติ’ (Siamraptor Suwati) จากแหล่งขุดค้นในจังหวัดนครราชสีมา
ชื่อไดโนเสาร์ Siamraptor ตั้งขึ้นโดยรวมคำว่า ‘สยาม’ กับ ‘แรปเตอร์’ คือแรปเตอร์ที่พบในเขตไทย และ Suwati ตั้งเป็นเกียรติให้แก่คุณ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
ทีมงานของ ดร.ดวงสุดา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟุกุอิ (Fukui Prefecture Dinosaur Museum) ประเทศญี่ปุ่น ทำการสำรวจแหล่งขุดค้นในชั้นหินหมวดหินโคกกรวด บริเวณบ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา มาตั้งแต่ช่วงปี 2551-2556 และในที่สุดก็ขุดพบซากสัตว์กินเนื้อโบราณนี้ซ่อนตัวอยู่ในชั้นหินอายุเก่าแก่กว่า 115 ล้านปี
โดยซากฟอสซิลที่พบนี้มีจำนวนหลายชิ้น เป็นชิ้นส่วนกระดูกที่มีตั้งแต่ส่วนของกะโหลก กระดูกสันหลัง กระดูกขาหลัง หาง และกระดูกสะโพก จากไดโนเสาร์อย่างน้อย 4 ตัว เมื่อประกอบกันขึ้นแล้วตัวของสยามแรปเตอร์ สุวาติ อาจมีขนาดยาวราว 8 เมตร และมีความสูงราวๆ 3 เมตร มีน้ำหนักราว 7 ตัน ซึ่งถือว่าเล็กหากเทียบกับไดโนเสาร์ตัวอื่นในสกุลคาร์คาโรดอนโทซอรัสด้วยกันเช่น C. saharicus ที่พบในแอฟริกาเหนือนั้นมีความยาวถึง 14 เมตร
คาร์คาโรดอนโทซอรัสเป็นสกุลของไดโนเสาร์เทโรพอด (Theropod) หรือไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จจนแพร่ขยายสายพันธุ์ไปทั่วโลกมาตั้งแต่ปลายยุคจูราสสิกไปจนถึงช่วงต้นยุคครีเทเชียส ชื่อสกุล Carcharodontosaurus มาจากภาษากรีก karchar ที่หมายถึง ‘ฉลาม’ กับคำว่า odōn ที่หมายถึงฟัน และ saurus ที่หมายถึงกิ้งก่า โดยรวมแล้วหมายถึงไดโนเสาร์นักล่าที่มีฟันคมดุจฉลาม หรืออาจเรียกมันว่า “กิ้งก่าฟันฉลาม” มันมีฟันกรามเป็นรูปตัว V ที่แม้จะมีแรงกัดไม่เท่า “ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์” ไดโนเสาร์นักล่าผู้โด่งดังที่เกิดมาภายหลังช่วงปลายยุคครีเทเชียส ซึ่งมีฟันกรามเป็นรูปตัว U แต่คาร์คาโรดอนโทซอรัสก็ได้เปรียบกว่าไดโนเสาร์ ที-เร็กซ์ที่ความว่องไว เนื่องเพราะภายในโครงสร้างของกระดูกหลายส่วนเป็นโพรงอากาศ ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้ใน เทโรพอด (Theropod) ยุคปัจจุบัน นั่นคือนก นอกจากนี้คาร์คาโรดอนโทซอรัสยังสามารถอ้าปากได้กว้างเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มันสามารถกัดหรือกลืนกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ขนาดหมีกริซลีที่มีน้ำหนักตัวราว 424 กิโลกรัมได้อย่างไม่ยากเย็น มันมีตำแหน่งดวงตาอยู่ด้านข้างของกระโหลก กระดูกแขนมี 3 ข้อต่อ ขาหน้าหรือมือมี 3 นิ้ว ขาหลังแข็งแรงเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และเท้าก็มีนิ้ว 3 นิ้ว รูปร่างถูกออกแบบมาให้วิ่งได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ทำให้ในมันกลายเป็นนักล่าอันตรายที่สุดในยุคของมัน
อย่างไรก็ตาม ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์นักล่าขนาดใหญ่ในสกุลคาร์คาโรดอนโทซอรัสที่มีอายุในช่วงต้นยุคครีเทเชียสนั้น ถือเป็นฟอสซิลที่พบได้ยากมากในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้จะพบได้เฉพาะแหล่งขุดค้นในแอฟริกาเหนือแถบประเทศ ไนเจอร์, โมร็อกโก, แอลจีเรียและอียิปต์ เท่านั้น การพบฟอสซิลของ ‘สยามแรปเตอร์ สุวาติ’ ในประเทศไทยครั้งนี้จึงถือเป็นความโชคดีและเป็นข่าวใหญ่ของปีเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความเชื่อมต่อกันของมหาทวีปลอเรเชียและมหาทวีปกอนด์วานาในยุคโบราณ และคาดว่า ‘สยามแรปเตอร์ สุวาติ’ จะมีถิ่นที่อยู่อาศัยตอนกลางและโดยเฉพาะภาคตะวันออกของมหาทวีปลอเรเชีย ที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นทวีปยุโรปและเอเชียในทุกวันนี้ ทำให้ซากฟอสซิลบางส่วนปรากฏในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นคือที่ขุดพบในประเทศไทยเรา
ดร.ดวงสุดา ยืนยันว่าฟอสซิลที่พบนี้เป็นการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกอย่างแน่นอน และถือเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อซึ่งเป็นคนละสกุลกับ ‘สิรินธรน่า โคราชเอนซิส’ (Sirindhorna khoratensis) ที่เป็นไดโนเสาร์กินพืชในสกุลอิกัวโนดอน (Iguanodon) อายุราว 100 ล้านปีจากแหล่งขุดค้นเดียวกัน ซึ่งมีการประกาศการค้นพบไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559
สยามแรปเตอร์ สุวาติ ถือเป็นไดโนเสาร์ตัวที่ 12 ที่พบในไทย และทางทีมงานของ ดร.ดวงสุดา จะจัดแถลงข่าวรายละเอียดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์นี้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562
การค้นพบครั้งนี้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ในวารสาร PLOS ONE
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: