×

คาด ‘สยามพิวรรธน์’ เตรียมไฟลิ่งเล็งขาย IPO เข้าตลาดหุ้นปี 68 ด้วยมาร์เก็ตแคปเกิน 1 แสนล้านบาท

14.05.2024
  • LOADING...
สยามพิวรรธน์

หากพูดถึง บมจ.เอ็ม บี เค หรือ MBK คนส่วนใหญ่คงคิดถึงบริษัทที่เป็นเจ้าของศูนย์การค้า MBK Center หรือชื่อเดิมว่า ศูนย์การค้า ‘มาบุญครอง’ แต่จริงๆ แล้ว MBK มีอาณาจักรธุรกิจที่ทำอยู่ถึง 8 ธุรกิจ โดยจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า MBK ณ สิ้นปี 2566 มีสินทรัพย์รวมมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท และ MBK ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ‘สยามพิวรรธน์’ เจ้าของศูนย์การค้าแบรนด์ดังอย่างศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์, สยามพารากอน และไอคอนสยาม ที่สื่อต่างชาติรายงานว่า สยามพิวรรธน์กำลังเตรียมตัวขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

คาดมาร์เก็ตแคปหุ้นสยามพิวรรธน์ทะลุ 1 แสนล้านบาท 

 

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการวาณิชธนกิจ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันสยามพิวรรธน์อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมแผนการขายหุ้น IPO และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยได้แต่งตั้ง บล.เกียรตินาคินภัทร กับ บล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ซึ่งคาดว่าจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ในช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 และขายหุ้น IPO และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

โดยเบื้องต้นคาดว่าสยามพิวรรธน์จะมีมูลค่ามาร์เก็ตแคป ณ ราคา IPO มูลค่าเกิน 1 แสนล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์, สยามพารากอน และไอคอนสยาม ทั้งนี้ ขึ้นกับการจัดโครงสร้างของสินทรัพย์ที่จะนำมาจัดสรรเข้ามาอยู่ในบริษัทในการทำ IPO 

 

“สยามพิวรรธน์ถือเป็นบริษัทใหญ่ มีคุณภาพที่ดี เมื่อยื่นไฟลิ่งแล้วปกติ สำนักงาน ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้ระยะเวลาไม่นานในการพิจารณาอนุมัติ เพราะถือเป็นหุ้นบลูชิปที่มีกระแสเงินสดที่ดีมาก เพราะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตดี แต่ประเด็นคือจังหวะภาวะในการขาย IPO ว่าจะได้ในราคาที่ต้องการหรือไม่ 

 

“ส่วนมูลค่าระดมทุนประมาณ 500-750 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.7-2.6 หมื่นล้านบาท ตามข่าวที่ออกมาของสยามพิวรรธน์ จะเป็นมูลค่าการระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ คงต้องไปเปรียบเทียบกับดีลของ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) บริษัทในเครือของกลุ่มเอสซีจีด้วย เพราะเป็นดีลขนาดใหญ่ที่เลื่อน IPO มาจากปี 2566 ว่าจะเข้ามาระดมทุนด้วยมูลค่าเท่าไร”

 

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลหุ้นศูนย์การค้าที่เข้าเทรดล่าสุดในตลาดหุ้นไทยในปี 2562 คือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เจ้าของศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เกทเวย์ เอกมัย, เกทเวย์ แอท บางซื่อ, พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน, ลาซาล อเวนิว, ตะวันนา บางกะปิ และพันธุ์ทิพย์ ดังนั้น หากสยามพิวรรธน์เข้าเทรดจะเป็นหุ้นศูนย์การค้าตัวใหม่ตัวแรกในตลาดหุ้นในรอบราว 5-6 ปี

 

สยามพิวรรธน์กำลังศึกษา IPO 

 

ด้าน วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอ็ม บี เค หรือ MBK ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของสยามพิวรรธน์ว่า ปัจจุบัน MBK ถือหุ้นในสยามพิวรรธน์สัดส่วนประมาณ 48% จึงมีสถานะเป็นบริษัทร่วมของ MBK 

 

ปัจจุบันสยามพิวรรธน์กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ยังไม่สามารถเปิดรายละเอียดได้

 

“หากสยามพิวรรธน์สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และประสบความสำเร็จตามที่เป็นข่าวออกมา จะมีผลดีเกิดตามมาในหลายด้าน โดยการ IPO เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยระดมทุนให้สามารถขยายธุรกิจสร้างการเติบโตได้ด้วยบริษัทเอง ซึ่งมีจุดเด่นของธุรกิจคือ ผู้นำในตลาด Luxury Retail ในไทย” 

 

MBK คาดกลุ่มศูนย์การค้า-ท่องเที่ยว-กลุ่มการเงิน ดันผลงานปี 2567

 

วิจักษณ์อธิบายถึงภาพธุรกิจปัจจุบันของ MBK มีการดำเนินธุรกิจแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้ 

 

  1. ธุรกิจศูนย์การค้า 
  2. ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว 
  3. ธุรกิจกอล์ฟ 
  4. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 
  5. ธุรกิจอาหาร 
  6. ธุรกิจการเงิน 
  7. ธุรกิจอื่นๆ
  8. ธุรกิจสนับสนุนองค์กร

 

ทุกธุรกิจทั้งหมดล้วนมีความสำคัญต่อบริษัท ไม่ได้มองว่าธุรกิจไหนเป็น ‘ธุรกิจดาวเด่น’ เพราะแต่ละธุรกิจมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจอย่างเหมาะสม โดยการขึ้นหรือลงของผลประกอบการของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ส่วนหนึ่งขึ้นกับปัจจัยสภาวะแวดล้อมจากภายนอกที่จะมากระทบต่อธุรกิจนั้นๆ 

 

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการขยายตัวที่ดีขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2565 จากวิกฤตโควิดระบาดที่คลี่คลาย รวมถึงนโยบายรัฐบาลเองก็สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นจะส่งผลให้ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องของบริษัทมีทิศทางดีขึ้นตามไปด้วย เช่น ศูนย์การค้า MBK Center, ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว เพราะมีลูกค้าเป้าหมายหลักคือ กลุ่มนักท่องเที่ยว ส่งผลต่อเนื่องให้ในปี 2566 บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้น รวมเติบโตขึ้นมาทะลุระดับ 1 หมื่นล้านบาท จากปี 2565 ที่มีรายได้ประมาณ 9 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 372% จากปีก่อนหน้า

 

วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอ็ม บี เค

 

วิจักษณ์ประเมินถึงโมเมนตัมการเติบโตของผลการดำเนินงานของ MBK ในปี 2567 จะยังดีต่อเนื่อง โดยทั้งกำไรและรายได้จะทำได้ไม่ต่ำกว่าปี 2566 ที่ออกมาจากภาคท่องเที่ยวที่ยังดีต่อเนื่อง ยกเว้นว่ามีปัจจัยลบจากภายนอกบางประเด็น เช่น ภาวะสงคราม, โรคระบาด มากระทบ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ 

 

อีกกลุ่มธุรกิจสำคัญที่จะมาขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของ MBK ในปีนี้คือกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่ง MBK ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP ด้วยสัดส่วนหุ้น 22.55% โดย TCAP เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ TTB ส่งผลให้บริษัทจะมีรายได้จากการลงทุนที่สม่ำเสมอ รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งจากกำไรของบริษัทร่วมด้วย ดังนั้นกลุ่มธุรกิจหลักคือศูนย์การค้ากับท่องเที่ยว และกลุ่มการเงิน ปัจจุบันรวมกันสามารถทำรายได้ให้ MBK เกินสัดส่วน 50% ของรายได้รวม จะเป็นกลุ่มธุรกิจ Key Drivers หลักที่สำคัญของปีนี้ 

 

ในส่วนภาพธุรกิจอุตสาหกรรมการเงินปัจจุบันที่มีปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอนในหลายประเด็น ทั้งความขัดแย้งในเชิงนโยบายดอกเบี้ยของทางการและด้านอื่นๆ มองว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่มีผลกระทบมากนักต่อธุรกิจกลุ่มนี้ของบริษัท เพราะ TCAP ถือว่ามีการกระจายธุรกิจกับฐานลูกค้าหลากหลายกลุ่มที่ทำได้ค่อนข้างดี ฝั่ง TTB ธุรกิจถือว่ามีขนาดใหญ่ 

 

รวมถึงมีฐานทุนขนาดใหญ่ที่มากเพียงพอสามารถป้องกันความเสี่ยงของธุรกิจในระดับที่สูง อีกทั้งมีระบบประเมินการทำ Scoring ของลูกค้า รวมถึงมีระบบคัดกรองความเสี่ยงลูกค้าใหม่ที่ดี และมีประสบการณ์ยาวนานในธุรกิจ จึงเชื่อว่าจะสามารถดูแลความเสี่ยงของธุรกิจที่เกิดขึ้นได้

 

ศูนย์การค้า MBK Center 

 

ความเสี่ยงที่ต้องจับตา

 

สำหรับความเสี่ยงที่ต้องจับตาในปีนี้คือ ปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นส่งผลให้การท่องเที่ยวชะงัก โดยบริษัทมีแผนบริหารความเสี่ยงที่เตรียมไว้คือ Data Plan เพื่อรับมือ ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนสำรอง (Backup Plan) ไว้หมดแล้วตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดระบาด ส่วนประเด็นปัจจัยเสี่ยงสงครามในต่างประเทศที่มีเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นระยะ เช่น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ถือว่ามีผลกระทบบ้าง เพราะชาวอิสราเอลถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของบริษัทในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว 

 

ดังนั้นบริษัทรับมือแก้ปัญหาโดยหันไปหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ ที่ไม่ถูกกระทบจากสงครามทดแทน เพื่อให้ตลาดลูกค้าของบริษัทเสถียรมากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ เลือกจับตลาดที่มีกำลังซื้อที่สูง เพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ของบริษัท เป็นโรงแรมที่มีคุณภาพดี

 

โดยวิธีการทำตลาดจะเจาะไปถึงตลาดประเทศต้นทางของกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีทำการตลาดยิงโฆษณาแบบ Search Engine Optimize (SEO)

 

รวมทั้งใช้กลยุทธ์หลักสำคัญคือการทำงานบนฐานข้อมูล ซึ่งเป็น Key Changes สำคัญในการทำธุรกิจช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของบริษัท เช่น MBK Center จะมีการทำรีเสิร์ชแบบรายเดือนประมาณ 10,000 ตัวอย่างต่อเดือน เพื่อให้ทราบฐานข้อมูลของลูกค้าต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อจำลองกลยุทธ์ Merchandise Mix ให้เหมาะสม ซึ่งมีความสำคัญมาก

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising