×

โอเคไหม หากผู้ชายยุคใหม่จะใส่กระโปรงจนเป็นเรื่องปกติ

โดย OPOLOP POPPY
28.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ในปัจจุบันยังมีชายชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่น้อยที่นิยมใส่ ‘โสร่ง’ หรือผ้านุ่งที่ฝรั่งมองแล้วอาจเทียบเคียงได้กับกระโปรง หรือการที่หนุ่มๆ ชาวสกอตยังนุ่ง ‘คิลต์’ (Kilt) เครื่องแต่งกายท่อนล่างอัดจีบลายตารางสำหรับผู้ชาย ซึ่งถือเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ประจำชาติสกอตแลนด์ อีกทั้งยังมีคัลเจอร์ยิบย่อย แต่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมอย่าง ‘พังก์’ (Punk) กับกลุ่มหนุ่มๆ หัวขบถที่หยิบเอากระโปรงคิลต์มาสวมใส่
  • เซเลบริตี้ทั้ง เดวิด เบ็คแฮม, จาเร็ด เลโต, จีดรากอน และคานเย เวสต์ สวมใส่กระโปรงโดยที่ ‘รสนิยมทางเพศ’ ของพวกเขาเหล่านั้นยังคงเป็นชายแท้และไม่เอนเอียง ส่วนล่าสุดกับ เอซรา มิลเลอร์ นักแสดงที่ไม่ต้องการให้ใครมาจำกัดความใดๆ จากเครื่องแต่งกาย เขาจึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของคนยุคมิลเลนเนียลที่กำลังทลายกำแพงความคิดเดิมๆ ซึ่งดูเหมือนจะล้าหลังไปแล้ว อีกทั้งยังถือเป็นการกระพือให้กระแส ‘Gender Fluid’ หรือความลื่นไหลทางเพศลุกโชนมากยิ่งขึ้น

 

Mini Skirt for Men ในยุค 60s

 

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมใช้เวลาว่างในการท่องโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อเสพข้อมูลด้านต่างๆ และบังเอิญไปพบกับกระทู้หนึ่งบนเว็บบอร์ดชื่อดังว่า ‘ทำไมถึงต้องไล่ผู้ชายไปใส่กระโปรง’ นับเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับผม เพราะสะท้อนให้เห็นว่าคนเจเนอเรชันใหม่บางคนไม่ทราบหรือเคยได้ยินการประชดประเทียดเช่นนี้มาก่อน แต่หากย้อนกลับไปในในอดีตที่ยังไม่นิยมใส่กระโปรงก็มีการไล่ให้ผู้ชายไปใส่ผ้านุ่งหรือผ้าถุง ซึ่งเป็นการว่ากล่าวที่มีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ อย่างที่ปรากฏหลักฐานในตอนหนึ่งของ ลิลิตตะเลงพ่าย บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังว่า

 

เจ้าอยุธยามีบุตร      ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ

หาญหักศึกบมิย่อ      ต่อสู้ศึกบมิหยอน

ไป่พักวอนว่าใช้       ให้ธหวงธห้าม

แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ      จงอย่ายาตรยุทธนา

เอาพัสตราสตรี      สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์

ธตรัสเยาะเยี่ยงขลาด      องค์อุปราชยินสาร

แสนอัประมาณมาตย์มวล      นวลพระพักตร์ผ่องเผือด

เลือดสลดหมดคล้ำ      ช้ำกมลหมองมัว

 

แต่ไม่ว่าจะไล่ให้ไปนุ่งกระโปรงหรือผ้านุ่งก็ตาม นั่นหมายถึงการประชดชายที่ทำตัวไม่อาจหาญเยี่ยงชายชาตรี พึ่งพาไม่ได้ จึงไล่ให้ไปนุ่งกระโปรงเป็นผู้หญิงให้รู้แล้วรู้รอดไป ซึ่งในกรณีนี้ ‘กระโปรง’ ได้ตกเป็นจำเลยขึ้นมาทันที เพราะหากมีใครที่ไม่เข้าใจบริบทของสังคมก็อาจเกิดความสงสัยขึ้นมาได้ว่ากระโปรงไม่ดีอย่างไร เพราะในปัจจุบันนี้ยังมีชายชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนไม่น้อยที่ยังนิยมใส่ ‘โสร่ง’ หรือผ้านุ่งที่ฝรั่งมองแล้วอาจเทียบเคียงได้กับกระโปรง หรือการที่หนุ่มๆ ชาวสกอตยังนุ่ง ‘คิลต์’ (Kilt) เครื่องแต่งกายท่อนล่างอัดจีบลายตารางสำหรับผู้ชาย ซึ่งถือเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ประจำชาติสกอตแลนด์ อีกทั้งยังมีคัลเจอร์ยิบย่อย แต่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมอย่าง ‘พังก์’ (Punk) กับกลุ่มหนุ่มๆ หัวขบถที่หยิบเอากระโปรงคิลต์มาสวมใส่ บางโรงเรียนในเปอร์โตริโกยังอนุญาตให้นักเรียนชายสามารถสวมกระโปรงมาโรงเรียนได้เช่นเดียวกับที่นักเรียนหญิงสามารถใส่กางเกง หรือแม้แต่คนขับรถไฟชายในสวีเดนก็สามารถสวมกระโปรงไปทำงานในวันที่อากาศร้อนจัดได้เช่นกัน

 

Fustanella เครื่องแต่งกายที่เป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของชาวแอลเบเนีย

 

นักเรียนในประเทศฝรั่งเศสเลือกสวมกระโปรงเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์

 

ดังนั้นคุณผู้อ่านจะเห็นว่าที่มาของการประชดประเทียดลักษณะนี้เกิดขึ้นจากบริบททางครอบครัวและสังคมของไทย ซึ่งเกิดขึ้นตามยุคสมัยและอาจเลือนหายไปตามกาลเวลา ผู้ชายจากอีกซีกโลกต่างวัฒนธรรมอาจไม่รู้สึกเลยว่าคำพูดเหล่านี้ทำให้อับอาย เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผ้าเล็กๆ เพียงผืนเดียวคงไม่สามารถเปลี่ยนใครให้กลายเป็นชายชาตรีหรือเป็นสตรีไปได้ ‘กระโปรง’ จึงกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สังคมยุคใหม่ใช้เป็นเส้นแบ่งระหว่างเพศ ตลอดจนลากยาวไปเป็นบรรทัดฐานที่ส่อให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกัน

 

ผมจึงไม่แปลกใจที่นักออกแบบแฟชั่นหัวขบถหลายรายมักออกแบบกระโปรงสำหรับผู้ชายขึ้นมา เพราะแท้จริงแล้วเป็นดังที่ ฌอง-ปอล โกลติเยร์ กูตูริเยร์รุ่นใหญ่ เคยกล่าวไว้ว่า “อย่าให้สังคมนำเครื่องแต่งกายมาใช้เป็นตัวกำหนดว่าคุณแมนหรือไม่แมน แต่ปล่อยให้พฤติกรรมเป็นเครื่องพิสูจน์แทน” ในวันนี้จึงดูเหมือนว่ากระแสการลุกขึ้นมาก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างเพศชายและหญิงด้วยการทลายกรอบความคิดที่ยึดติดอยู่กับผืนผ้าห่อหุ้มร่างกายจะร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ก่อนหน้านี้เราอาจเคยเห็นเหล่าเซเลบริตี้ทั้ง เดวิด เบ็คแฮม, จาเร็ด เลโต, จีดรากอน และคานเย เวสต์ สวมใส่กระโปรงโดยที่ ‘รสนิยมทางเพศ’ ของพวกเขาเหล่านั้นยังคงเป็นชายแท้และไม่เอนเอียง ส่วนล่าสุดกับ เอซรา มิลเลอร์ นักแสดงที่ไม่ต้องการให้ใครมาจำกัดความใดๆ จากเครื่องแต่งกาย เขาจึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของคนยุคมิลเลนเนียลที่กำลังทลายกำแพงความคิดเดิมๆ ซึ่งดูเหมือนจะล้าหลังไปแล้ว อีกทั้งยังถือเป็นการกระพือให้กระแส Gender Fluid หรือความลื่นไหลทางเพศให้ลุกโชนมากยิ่งขึ้น

 

หากใครอ่านถึงตรงนี้แล้วคิดว่าผมต้องการเห็นผู้ชายไทยลุกขึ้นมานุ่งกระโปรงเพื่อให้ดูเท่าเทียมกับผู้หญิงที่นุ่งกางเกงมาตั้งแต่ยุคคุณป้าโคโค่ ชาแนล ยังสาว ผมคงต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่! เพราะผมทราบเป็นอย่างดีว่าบริบทของสังคมไทยนั้นเป็นเช่นไร อีกทั้งยังคงเป็นการยากที่จะทำให้คนยุคเบบี้บูมเมอร์ส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ในวัยเกษียณเข้าใจหรือยอมรับได้

 

แต่สิ่งที่ผมต้องการสื่อสารไปยังคุณผู้อ่านคืออยากให้ร่วมแชร์ข้อคิดเห็นว่า ‘รับได้หรือไม่ หากผู้ชายจะลุกขึ้นมาใส่กระโปรงในชีวิตประจำวัน’ พร้อมทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่าเพศสภาพหรือเพศสภาวะ (Gender) ของมนุษย์เรานั้นเปรียบได้กับสิ่งที่สังคมได้บัญญัติขึ้น ซึ่งถูกปรุงแต่งโดยการปลูกฝังและกล่อมเกลาจากสังคมและวัฒนธรรมนั้นๆ นักวิชาการหลายท่านยังวิเคราะห์เจาะลึกลงไปอีกว่าการกำหนดรูปแบบหรือนิยามความเป็นหญิงและชายถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม โดยมี ‘ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจ’ แอบแฝงอยู่

 

ดังนั้นความไม่ชัดเจนในเพศสภาพ การแสดงออกผ่านเครื่องแต่งกายที่ไม่ตรงกับเพศสรีระ (Androgynous) หรือคนที่มีการแสดงออกทางเพศสลับไปมาระหว่างชาย-หญิง (Gender Fluid) สิ่งเหล่านี้อาจสร้างความเหลื่อมล้ำและสั่นคลอนระเบียบโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่กล่าวมา โดยเฉพาะกับ ‘สังคมที่กำหนดกรอบของเพศอย่างชัดเจน’ สังคมเช่นนี้มักเชิดชูให้เพศสภาพหนึ่งอยู่เหนือเพศสภาพหนึ่ง ดังเช่นที่เราเห็นและรับรู้ได้ว่า ‘ผู้ชาย’ ในหลายสังคมที่อยู่เหนือ ‘ผู้หญิง’ เสมอมา ดังนั้นเพศสภาพที่ถูกยกให้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่าจึงไม่ควรลดตัวมาเกลือกกลั้วกับ ‘กระโปรง’ อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้บ่งบอกถึงความเป็นหญิง หรืออีกนัยคือด้อยกว่านั่นเอง

 

สไตล์ไอคอนคนดังทั้ง จัสติน บีเบอร์, จีดรากอน และคานเย เวสต์ สวมกระโปรงให้เห็นบนคอนเสิร์ต

 

เอซรา มิลเลอร์ (ซ้ายสุด) ตัวแทนของคนยุคมิลเลนเนียลที่ไม่ต้องการให้ใครมาจำกัดความใดๆ จากเครื่องแต่งกาย

 

แต่! หากเราลองวิเคราะห์บริบทต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงสัจธรรม จะพบว่าความเป็นหญิงหรือชายนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ‘เราคือมนุษย์เช่นเดียวกัน’ บรรทัดฐานที่ไม่เท่าเทียมนั้นล้วนเป็นภาพมายาที่กลุ่มคนผู้วางรากฐานทางสังคมกำหนดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ

 

‘กระโปรง’ จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่บางสังคมหยิบไปใช้ในเรื่องของเพศวิถี (Sexuality) สำหรับสังคมยุคใหม่(กว่า)ที่มีคนหัวก้าวหน้าและเปิดกว้าง จึงมีหลายอย่างที่ไม่ปรากฏตรงตามแบบแผนโครงสร้างเดิม

 

ซึ่งในส่วนนี้ผมขอเสริมการใช้เรื่องของ ‘กระแสแฟชั่น’ มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนสังคม เพราะแฟชั่นเปรียบเสมือนเข็มทิศชี้นำที่ทำให้ผู้คนเดินตาม ดังตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือการที่ผู้ชายลุกขึ้นมาทาครีม บีบี ซีซี คุชชัน หันมาดูแลตัวเองไม่แพ้ผู้หญิงตามอย่างแฟชั่นของหนุ่มๆ ฝั่งเกาหลี นับว่าเป็นการก้าวข้ามความคิดเดิมๆ อันแสนล้าหลังที่ว่าเครื่องสำอางมีไว้สำหรับสาวๆ เท่านั้น หรือแม้แต่เรื่องการแต่งกายที่ภายในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าผู้ชายยุคใหม่หันมาให้ความสนใจการตกแต่งเรือนร่างด้วยแฟชั่นไอเท็มจัดจ้านมากขึ้น นักออกแบบก็ขานรับโดยการสอดแทรกผลงานที่ทำให้นึกถึงกระแส Androgyny ที่เคยร้อนแรงเมื่อ 50-60 ปีก่อน ถือเป็นการโยนหินถามทางเพื่อวางรากฐานใหม่ที่ก้าวเส้นแบ่งที่เคยขีดไว้ ดังเช่นที่ Jean Paul Gaultier, Comme des Garcons, Rick Owens, Thom Browne และ Givenchy ออกแบบกระโปรงสำหรับผู้ชายเทรนดี้จนสร้างปรากฏการณ์ที่แฟชั่นนิสต้าชายแท้ทั้งเทศและไทยลุกขึ้นมาใส่ Men’s Skirt ให้เห็นกันจริงๆ

 

แต่หากพูดถึงเรื่องการขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างนิยามของผู้ชายยุคใหม่แล้ว ผมขอยกอีกหนึ่งตัวอย่างคือ Gucci เพราะยังจำได้ว่าวันที่ อเลสซานโดร มิเคเล ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนปัจจุบันแสดงผลงานแรกสำหรับแบรนด์นั้น ผมใช้เวลาอยู่บนเกาะฮ่องกงเพื่อร่วมงาน Hong Kong Fashion Week ทั้งสื่อชาวจีนและเพื่อนชาวฮ่องกงต่างงงงวยกับภาพผลงานที่เต็มไปด้วยกองทัพนายแบบร่างบางที่หน้าสวยหวานไม่แพ้สาวๆ สวมเครื่องแต่งกายที่ทำมาจากผ้าลูกไม้ ชีฟอง และริบบิ้นแพรต่วน ทุกอย่างชวนให้เกิดความสงสัยและพูดคุยกันในหัวข้อ ‘ผู้ชายที่ไหนจะกล้าใส่’ แต่หารู้ไม่ว่าด้วยการวางแผนอันแยบยล ทำให้ใช้ระยะเวลาเพียงไม่นาน Gucci ก็สามารถกว้านแฟชั่นนิสต้าชาวจีน ชาติที่ขึ้นชื่อในเรื่องอนุรักษนิยมและชื่นชมบุรุษเพศอย่างเห็นได้ชัดมาเป็นสาวก และสร้างผลกำไรจนทำให้กลับมาเป็นแบรนด์ที่ร้อนแรงอีกครั้ง

 

อาจเป็นเพราะความกล้าที่จะเสี่ยง แหกกฎ และทำลายภาพจำของผู้ชายแบบเดิมๆ ที่ต้องมีร่างกำยำ ไว้หนวดเครา จึงกลายเป็นที่มาของจุดเปลี่ยนที่ดันไปตรงกับจริตของเหล่าชายหนุ่มร่างเล็ก (เช่นชายชาวเอเชีย) มีความโรแมนติก นุ่มนวล อ่อนหวาน

 

ดังนั้นในช่วงเวลาปัจจุบัน หนุ่มๆ สาวๆ ยุคใหม่อาจต้องเตรียมใจเอาไว้ว่าในไม่ช้าก็เร็ว กระแสนี้อาจเกิดเป็นวงกว้างหรือไม่ก็ตาม หากคุณเห็นบุรุษเพศคนใดสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ลักษณะคล้าย ‘กระโปรง’ หรือเครื่องแต่งกายที่มีดีไซน์และรูปแบบการใช้งานลักษณะเดียวกัน รวมทั้งการนำ womenswear และชิ้น unisex (ใช้ได้ทั้งชายหญิง) มาใส่ในชีวิตประจำวัน ก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าเขาเหล่านั้นมีรสนิยมทางเพศเป็นเช่นไร เพราะถ้าเทรนด์นี้เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติในอนาคต นั่นแสดงว่าเราเดินทางมาถึงยุคใหม่อย่างแท้จริง ยุคที่คุณจะรู้ว่าใครเป็นชายหรือหญิงได้ด้วยการสังเกตกายภาพและพฤติกรรม ไม่ใช่ที่เครื่องแต่งกายภายนอกอีกต่อไป

 

ผลงานการออกแบบ Men’s Skirt ของแบรนด์ชั้นนำอย่าง Comme des Garcons, Givenchy, Rick Owens

 

Men’s Skirt ของ Gucci แบรนด์ที่กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งด้วยการนำเสนอรูปแบบแฟชั่น Androgynous

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories