×

‘หยวนต้า’ ชู 3 เหตุผล ไม่เกิด Short Squeeze ในตลาดหุ้นไทย

โดย THE STANDARD TEAM
01.02.2021
  • LOADING...
‘หยวนต้า’ ชู 3 เหตุผล ไม่เกิด Short Squeeze ในตลาดหุ้นไทย

กระแสการ Short Squeeze หรือการไล่ซื้อหุ้นที่ถูกทำ Short Sales มากๆ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวน และมีความพยายามเลียนแบบในหลายตลาดทุนทั่วโลก แต่ทางฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับตลาดทุนไทยอยู่ในระดับต่ำ 

 

โดยฝ่ายวิจัย บล.หยวนต้า ระบุว่า โอกาสเกิด Short Squeeze ในตลาดหุ้นไทย ถือว่าไม่สูง กระแส Short Squeeze หรือไล่ซื้อหุ้นที่ถูก Short Sales มากๆ และมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาด ณ ขณะนั้นในระดับต่ำ เพื่อกดดันให้ผู้ที่ทำธุรกรรม Short Sales เร่งซื้อหุ้นไปส่งมอบคืน หรืออาจกดดันถึงขั้นถูก Force Sales โดยการบังคับให้ซื้อหุ้นคืนในทันที เริ่มกระจายไปหลายตลาดทุนทั่วโลก ล่าสุดมีความพยายามไล่ซื้อหุ้นถุงมือยางในมาเลเซีย เพื่อหวังให้เกิดปรากฏการณ์ Short Squeeze คำถามที่ตามมาคือ กระแสความนิยมนี้จะเกิดขึ้นกับตลาดทุนไทยหรือไม่ 

 

จากการตรวจสอบพฤติกรรม Short Sales หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับมาใช้เกณฑ์ปกติเมื่อ 1 ตุลาคม 2563 เราคาดว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เพราะ  

 

  1. หุ้นที่ถูก Short Sales ในปริมาณที่มากเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายปกติส่วนใหญ่เป็นหุ้นใน SET100 ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนรวมถึง Free Float ในระดับสูง ทำให้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการผลักดันราคาหุ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการ Short Covering  

 

  1. หุ้นที่ถูก Short Sales มากสุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีสัดส่วนเพียง 11% ของปริมาณการซื้อขายปกติ และถ้าพิจารณายอด Short Sales ทั้งหมด จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9% ของปริมาณการซื้อขายปกติ ยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย Free Float ของทั้งตลาดที่ราว 45% ต่างจากกรณีของ GameStop ที่ยอด Short Sales มีสัดส่วนใกล้เคียงกับ Free Float  

 

  1. เกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่จูงใจให้เกิดการ Short Squeeze เพราะมีการกำหนด Ceiling & Floor ไว้ไม่เกิน +/-30% (ต่างจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ไม่มี Ceiling & Floor) และถ้าหลักทรัพย์ใดเคลื่อนไหวผิดปกติโดยที่ปัจจัยพื้นฐานไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการแจ้งเตือนนักลงทุนผ่าน Trading Alert List และหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย 

 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่อนุญาตให้ทำธุรกรรม Naked Short หรือการส่งคำสั่งซื้อขายโดยที่ยังไม่มีหุ้นอยู่ในพอร์ตด้วย ดังนั้นโอกาสเกิด Short Squeeze ในไทยจึงมีไม่มาก แต่อาจมีหุ้นที่ลุ้น Short Covering หรือซื้อกลับคืนในระยะสั้น 

 

จากการติดตามธุรกรรมการ Short Sales พบว่า หุ้นที่ปรับตัวลงต่ำกว่าต้นทุนการ Short Sales ในแต่ละช่วงเวลาเกิน 5% ขึ้นไปจะกระตุ้นให้เกิดการ Short Covering หรือการปิดสถานะโดยการซื้อหุ้นคืนเพื่อทำกำไร ซึ่งหุ้นที่เข้าข่ายในรอบนี้คือ BCP, BBL, GPSC, PTTGC, PRM, TOP, TCAP, SUPER  

 

ทั้งนี้ นอกจากพิจารณาข้อมูลปัจจัยเชิงปริมาณโดยคัดกรองหุ้นจากปริมาณ Short Sales ในสัดส่วนที่สูงกว่า 5% ของปริมาณการซื้อขายปกติ และราคาปิดเมื่อวันศุกร์ต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ยการ Short Sales เกิน 5% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (13 -29 มกราคม 2564) ที่เป็นช่วงพักฐานของ SET INDEX ฝ่ายวิจัยยังคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคประกอบด้วย  

 

โดยหุ้น 7 ใน 8 หลักทรัพย์ (ยกเว้น BBL ที่ประกาศงบ 4Q63 ออกมาแล้ว) ถือเป็นหุ้นที่ Valuation ไม่แพง และคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 4/63 จะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เป็นอย่างน้อย ความผันผวนของราคาหุ้นหลังจากนี้ไปจนถึงช่วงประกาศผลประกอบการจึงต่ำกว่าตลาด หรือเป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงจำกัด ท่ามกลางทิศทาง SET INDEX ที่อยู่ในช่วงพักฐานนั่นเอง โดยในแง่ของกรอบเวลาการลงทุนในธีม Short Covering นี้ เรากำหนดไว้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือระหว่าง 1-11 กุมภาพันธ์ 2564 เท่านั้น  

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X