เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (7 ตุลาคม) ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2653 สำหรับการซื้อสินค้าและบริการตามที่จ่ายจริงจำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP โดยไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน โดยมาตรการนี้คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ราว 120,000 ล้านบาท จากผู้จำนวนผู้เสียภาษี 4 ล้านคน ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิ์นี้ได้
มาตรการนี้คาดว่าจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์และจะมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (8 ตุลาคม) ราคาหุ้นค้าปลีกปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น นำโดย
- ราคาหุ้น บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เพิ่มขึ้น 5.50%DoD สู่ระดับ 28.75 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) เพิ่มขึ้น 4.05%DoD สู่ระดับ 15.40 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.คอมเซเว่น (COM7) เพิ่มขึ้น 2.38%DoD สู่ระดับ 43.00 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เพิ่มขึ้น 1.43%DoD สู่ระดับ 35.00 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เพิ่มขึ้น 1.24%DoD สู่ระดับ 61.00 บาท
ข้อมูลราคาปิด ณ เวลา 12.30 น.
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีซื้อสินค้าเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ส่งผลบวกมากสุดต่อผู้ประกอบการ โดยมาตรการที่เสนอมาครั้งนี้อนุญาตให้ซื้อสินค้าได้หลายประเภท ภายในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งสูงกว่า 15,000 บาท ในปี 2558-2561 เมื่อมองย้อนกลับไป SCBS ประเมินได้ว่าปีแรกที่นำมาตรการลดหย่อนภาษีช้อปปิ้งมาใช้ในปี 2558 นั้นช่วยกระตุ้นยอดขายของกลุ่มพาณิชย์ได้มากที่สุด ในขณะที่ผลกระทบในปี 2558-2561 มีจำกัด เพราะอยู่ช่วงไว้อาลัย และประเภทสินค้าที่สามารถลดหย่อนภาษีในปี 2561 มีจำกัด
โดยในไตรมาส 4/63 ยอดขายสาขาเดิม (SSS Growth) ของผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวดีขึ้นได้ดีกว่าผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าจำเป็น มาตรการในครั้งนั้นช่วยกระตุ้น SSS Growth ของ ROBINS มากที่สุดเพิ่มขึ้น 2%YoY ตามด้วย HMPRO ที่เพิ่มขึ้น 1.5%YoY และ GLOBAL ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1%YoY สำหรับมาตรการครั้งนี้ SCBS คาดว่าจะมีแนวโน้มเช่นเดียวกัน
มุมมองระยะยาว:
สำหรับมาตรการนี้ SCBS มองว่าเป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นในช่วงสั้นต่อผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกเท่านั้น ดังนั้นต้องติดตามการฟื้นตัวของกำลังซื้อหลังจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายนี้สิ้นสุดลง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า