สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ครั้งที่ 4/2563 ว่า ความคืบหน้าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ล่าสุดจะปรับเงื่อนไขและเสนอโครงการใหม่ๆ เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีวันจันทร์นี้ (12 ตุลาคม 2563)
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่าย และเพิ่มเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไทยก่อนสิ้นปี 2563 ราว 2 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้เม็ดเงินของภาครัฐราว 60,000 ล้านบาท ได้แก่
- การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณราว 21,000 ล้านบาท
- โครงการคนละครึ่ง ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง มีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้เงินราว 10 ล้านคน จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท โดยภาครัฐจะใช้เม็ดเงินรวม 30,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนในเศรษฐกิจราว 60,000 ล้านบาท เพราะเป็นโครงการลักษณะ Co-pay คือรัฐช่วยออกครึ่งหนึ่ง และประชาชนจ่ายอีกครึ่งหนึ่งของทุกการใช้จ่าย
- โครงการช้อปดีมีคืน ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายกลุ่มเป้าหมายราว 4 ล้านคน โดยจูงใจผ่านการลดหย่อนภาษีในวงเงินการใช้จ่ายในผู้ประกอบการที่เสียภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจราว 120,000 บาท โดยภาครัฐจะมีรายได้ลดลงราว 11,000-12,000 ล้านบาท (รอเข้าที่ประชุม ครม.)
“3 เดือนจากนี้ ถึงช่วงเดือนธันวาคม 2563 รวมๆ แล้วจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 200,000 ล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจช่วงต่างประเทศยังไม่เข้ามา”
ทั้งนี้ ตัวโครงการกําลังใจ และเราเที่ยวด้วยกัน จะขยายระยะเวลาดําเนินไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 และอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณดําเนินโครงการกําลังใจ และเราเที่ยวด้วยกัน ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
นอกจากนี้เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการกําลังใจ ที่เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เช่น ให้บางหน่วยงานเข้าร่วมโครงการได้ อนุมัติให้ผู้เข้าร่วมเราเที่ยวด้วยกันสามารถใช้บริการโรงแรม ที่พัก และใช้ E-Voucher สําหรับค่าสนับสนุนอาหาร ค่าเข้าชมแหล่งท่องเท่ียว ค่าสินค้าหนึ่งตําบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในจังหวัดภูมิลําเนาตามทะเบียนบ้านได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์