เอาจริงๆ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า หลังดู Shoplifters ผลงานล่าสุดของฮิโรคาสุ โคริเอดะ จบ เราได้คำตอบที่ชัดเจนในความสัมพันธ์ของ ‘ครอบครัวนักลัก’ ในเรื่องอย่างถ่องแท้ตามที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอจริงๆ หรือเปล่า
แต่สิ่งที่เราพอจะพูดได้อย่างมั่นใจก็คือ ความสัมพันธ์อันแสนคลุมเครือของครอบครัวนี้ สะท้อนภาพของปัญหาความเข้มข้นของ ‘สายเลือด’ ได้น่าสนใจมากกว่าที่คิด
ภาพจากเรื่อง Nobody Knows ของโคริเอดะ
Shoplifters เล่าเรื่องครอบครัวคนชายขอบกลางกรุงโตเกียว คล้ายๆ กับเรื่อง Nobody Knows ในปี 2004 ของโคริเอดะ เพียงแต่ตัวละครในเรื่องเปลี่ยนจากพี่น้องสายเลือดเดียวกันที่ถูกทิ้งให้ใช้ชีวิตตามลำพังกลางเมืองใหญ่ มาเป็นครอบครัวใหญ่แสนอัตคัด ที่ถ้าไม่นับเรื่อง ‘ผลประโยชน์’ และสายเลือดที่บางคนมีร่วมกัน พวกเขาก็แทบไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันไว้ ยกเว้นเพียงแต่สถานะการเป็นคน ‘ถูกทิ้ง’ จากอะไรบางอย่าง เช่น รัฐ คนรัก พ่อแม่ และสภาพสังคม
ใน Nobody Knows เด็กๆ ทั้ง 4 คน ต้องเอาตัวรอดด้วยการประทังชีวิตจากน้ำก๊อกสาธารณะและอาหารหมดอายุที่เหลือทิ้งจากร้านสะดวกซื้อ แต่ใน Shoplifters พวกเขายังโชคดีกว่า ที่อย่างน้อยแต่ละคนก็มีเงินบำนาญจากสามีเก่าของคุณย่า ค่าจ้างจากร้านซักรีด ค่าตอบแทนจากบริการโชว์หวิวหน้าตู้กระจก การขโมยของเล็กๆ น้อยๆ จากร้านสะดวกซื้อ ถึงแม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่อย่างน้อยก็พอให้พวกเขามีชีวิตรอดต่อไปได้
แต่ที่โชคร้ายกว่าคือเด็กๆ ใน Nobody Knows ไม่เคยถูกตั้งคำถามระหว่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ผิดกับสมาชิกทั้ง 6 ในครอบครัวนักลัก ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ให้ช่วยกันหาคำตอบนี้อยู่ตลอดเวลา
ถ้ามองจากภายนอก ทุกคนล้วนผ่านโลกมาอย่างโชกโชน จนดูเหมือนเป็นคนที่มีเกราะหนาแข็งแกร่ง ไม่ยี่หระต่อโลกหรือความลำบากใดๆ ที่ตัวเองต้องเผชิญ แต่ภายใต้บรรยากาศที่กดดันมากขึ้นจากการต้องหลบซ่อน ‘ตัวตน’ ไม่ให้สังคมภายนอกรับรู้ หนังค่อยๆ ปอกเปลือกปูมหลังของแต่ละตัวละครออกอย่างช้าๆ จนเราค่อยๆ เห็นความแหว่งเว้าภายในที่ต้องการ ‘บางสิ่ง’ มาเติมเต็ม
ยูริ รับบทโดย มิยุ ซาซากิ และ โชตะ ชิบาตะ รับบทโดย ไคริ จิโอ
เริ่มตั้งแต่ยูริ (รับบทโดย มิยุ ซาซากิ) เด็กสาวผู้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง เธอออกมายืนหน้าระเบียงบ้านอยู่คนเดียว ในวันที่พ่อแม่กำลังทะเลาะกันเสียงดังเรื่องที่ว่าไม่มีใครต้องการให้เธอเกิดมาบนโลกใบนี้ จนกระทั่งสองสามีภรรยาไปพบและตัดสินใจพาเธอกลับมาอยู่ด้วยกัน ตลอดเวลาเธอคือเด็กสาวหน้าตาน่ารัก ฉี่ใส่ที่นอน ยิ้มยาก ปากหนัก ซ่อนรอยแผล ความเจ็บช้ำของตัวเองไว้ภายใต้เสื้อแขนยาว จนกระทั่ง ‘ครอบครัว’ แปลกหน้า ค่อยๆ เรียกรอยยิ้มที่หายไปกลับมาทีละน้อย
โชตะ ชิบาตะ (รับบทโดย ไคริ จิโอ) เด็กหนุ่มกำพร้าที่ถูก ‘เก็บ’ มาเลี้ยงตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ พ่อใหม่ของเขาก็ไม่ได้มีฐานะและความรู้มากพอที่จะทำให้เขาเติบโตมาเหมือนเด็กทั่วไป สิ่งเดียวที่เขาได้รับมีเพียงทักษะในการขโมยของจนช่ำชอง และกลายเป็นเด็กชายขอบ 100% เพราะตลอดทั้งเรื่อง ถ้าไม่นับเจ้าของร้านชำ เจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนท้ายเรื่อง และคนในครอบครัวนักลัก เขาก็แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อีกเลย
อากิ ชิบาตะ รับบทโดย มายุ มัตสึโอกะ
อากิ ชิบาตะ (รับบทโดย มายุ มัตสึโอกะ) เด็กสาวหน้าตาดี ที่ออกจากบ้านมาอยู่กับครอบครัวใหม่ และใช้ชีวิตวัยรุ่นส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานในสถาน ‘บริการความสุข’ ด้วยการโชว์เรือนร่างให้กับคนแปลกหน้าผ่านตู้กระจก เธอใช้ชื่อ ‘ซายะกะ’ ของน้องสาวในการทำงาน ที่เราแอบเดาเอาเองว่าเป็นเพราะเธอคิดว่าชื่อนี้จะทำให้เธอเป็นที่รัก เหมือนอย่างที่น้องสาวได้รับจากพ่อแม่ และเช่นเดียวกับโชตะ นอกจากเพื่อนๆ ในร้านที่พูดคุยกันตามมารยาท ก็มีเพียงแต่ ‘ผู้ชายหมายเลข 4’ ลูกค้าประจำเพียงคนเดียวที่เธอยอมเปิดใจเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง
โอซามุ ชิบาตะ รับบทโดย ลิลลี แฟรงกี้
โอซามุ ชิบาตะ (รับบทโดย ลิลลี แฟรงกี้) ชายแก่วัยใกล้เกษียณแต่ยังต้องใช้แรงงานแลกเงินอย่างหนัก ผู้เก็บโชตะมาเลี้ยงเป็นลูก นอกจากทักษะการขโมยของ เขาแทบไม่มีสิ่งอื่นที่เขาจะมอบให้ลูกชายคนนี้ได้เลย เขาไม่รู้แม้กระทั่งเรื่องราวง่ายๆ ในหนังสือนิทานเด็ก อยากเตะฟุตบอลกับลูกแต่ก็ทำได้แค่เดาะถุงพลาสติกไปมา ถึงแม้บุคลิกและการแสดงออกต่างๆ อาจทำให้เขาดูใกล้เคียงกับคนเห็นแก่ตัวไปบ้าง แต่ทุกอย่างที่เขาทำก็เพื่อให้สมาชิกทุกคนมีชีวิตอยู่ต่อไป และหวังว่าลูกชายคนนี้จะเรียกเขาว่า ‘พ่อ’ ให้ได้สักครั้ง
โนบุโยะ ชิบาตะ รับบทโดย ซากุระ อันโดะ
โนบุโยะ ชิบาตะ (รับบทโดย ซากุระ อันโดะ) ภรรยาของโอซามุ แม่บ้านสาวแกร่งที่มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ มากที่สุด เธอต้องทำงานหนักในร้านซักรีด และขโมยของที่ลูกค้าลืมไว้ในกระเป๋ากลับบ้าน ถ้ามองภายนอกเธอเองก็ไม่ต่างจากสามีของเธอ ที่ดูเข้มแข็งและเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่เมื่อถึงเวลาสำคัญ เธอถึงขนาดยอมลาออกจากงานที่เป็นรายได้หนึ่งเดียวในชีวิต เพื่อปกป้องความลับของยูริ และทำให้เธอมีเวลาได้อยู่กับ ‘ลูกสาว’ คนนี้ต่อไป
ฮัตสึเอะ ชิบาตะ รับบทโดย คิริน กีกิ
คุณย่าฮัตสึเอะ ชิบาตะ (รับบทโดย คิริน กีกิ) หญิงม่ายถูกทิ้งแม่แท้ๆ ของโอซามุ ที่กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวเพราะเงินบำนาญของสามีเก่า คือท่อน้ำเลี้ยงหลักในการจ่ายค่าบ้าน เธอคือหญิงชราจอมเจ้าเล่ห์ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคุณย่าที่อ่อนไหว ยึดติดอยู่กับอดีต เธอยังคิดถึงสามีที่ทิ้งเธอไปอยู่เสมอ (ถึงแม้อาจจะมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง) ยังรู้สึกเศร้าเวลามองเห็นรอยกระที่ขาของตัวเองเมื่อเทียบกับเรือนร่างสาวสะพรั่งของเด็กๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความเป็นห่วงเป็นใยทุกคนในบ้านที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
เราไม่แน่ใจว่าสัดส่วนความรู้สึกของสมาชิกคนอื่นมาอยู่กับคุณย่านั้นเป็นเพราะความรัก ความผูกผัน สายเลือดหรือผลประโยชน์แบบไหนมากกว่ากัน แต่สำหรับคุณย่าทุกคนคือคนสำคัญที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตครอบครัวของเธอให้สมบูรณ์ และทำให้ฉากที่คุณย่านั่งอยู่เพียงลำพัง แล้วมองแผ่นหลังของลูกๆ หลานๆ กระโดดเล่นน้ำอย่างมีความสุข พร้อมกล่าวคำว่า ‘ขอบคุณ’ ที่ไร้เสียงออกมา คือฉากที่สวยงามและน่าประทับใจที่สุดในหนังเรื่องนี้
ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงของ Shoplifters หนังค่อยๆ ให้เราทำความเข้าใจชีวิตของตัวละครอย่างช้าๆ เรียบง่าย ไม่หวือหวา จนกระทั่งตอนท้ายเรื่อง ที่ความลับของครอบครัวเปิดเผย หลายตัวละครถูกบีบให้ ‘พูด’ หรือไม่ก็ได้ ‘รับรู้’ ความจริงที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน
เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง เราคงไม่สามารถพูดสิ่งที่แต่ละคนต้องเจอได้ทั้งหมด แต่ประโยคหนึ่งที่รู้สึกสะเทือนจิตใจและพอจะพูดได้มากที่สุด คือตอนที่โนบุโยะ ถามตำรวจด้วยท่าทีมั่นใจไม่เกรงกลัวต่อข้อกล่าวหาที่โดนจับว่า “การเป็นผู้ให้กำเนิด ทำให้คนเป็นแม่ได้เลยเหรอ”
แล้วตำรวจตอบกลับมาว่า “การไม่ได้เป็นคนให้กำเนิด ก็ทำให้คนนั้นไม่สามารถเป็นแม่ได้เหมือนกัน” พร้อมกับคำถามกรีดแทงหัวอกคนเป็นแม่ว่า “เด็กๆ เรียกคุณว่าอะไร”
หัวใจของโนบุโยะสูญสลาย และความมั่นใจทุกอย่างก็พังทลายลงอย่างราบคาบ เธอทำได้แค่นิ่งคิด และตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “นั่นสินะ” พร้อมกับปาดน้ำตาหยดแรกที่พยายามอดกลั้นมาทั้งชีวิต
ฉากนี้ใช้เวลาสั้นๆ ไม่เกิน 2 นาที แต่สามารถตีกลับความเชื่อเรื่อง ‘สายเลือด’ ที่เราพยายามยึดติดกับความคิดนี้มาตลอดทั้งเรื่องจนเกือบหมด
ในขณะที่ชีวิตของทุกคนต้องแยกย้ายกันไปตาม ‘คำตัดสิน’ ที่บริบททางสังคมโดยรอบมองว่าถูกต้อง ชีวิตของฝั่งผู้ใหญ่ถูกผลักให้รับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง และไม่ได้ให้คำตอบต่อคำถามเรื่องความเข้มข้นของสายเลือดได้อย่างชัดเจนเท่าไรนัก
แต่เรากลับเชื่อว่าคำตอบสุดท้าย นั้นซ่อนอยู่ในการปรากฏตัวแบบไร้วี่แวว เสียงเรียกที่เงียบงันและหน้าตาอันเรียบเฉย ณ จุดเดิมของเด็กๆ มากกว่า ที่เป็นคนเลือกแล้วว่า ‘คำตอบ’ นี้คืออะไร
- คำว่า Shoplifters แปลตรงว่าหัวขโมย ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคมของประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตรงกับอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ของคนญี่ปุ่น
- หนังของโคริเอดะ เรียกได้ว่าเป็นขาประจำของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ แต่ Shoplifters คือเรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ที่นับว่าเป็นรางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 71 มาครองได้สำเร็จ
- โคริเอดะ ขึ้นชื่อในการใช้นักแสดงเจ้าประจำในผลงานหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะลิลลี แฟรงกี้ ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่เรื่อง Like Father, Like Son (2013), Our Little Sister (2015), After the Storm (2016) ซึ่งมีคิริน กีกิ ร่วมแสดงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เธอยังเคยร่วมงานกับโคริเอดะ มาตั้งแต่เรื่อง I Wish (2011) และ Still Walking (2008) มาก่อนอีกด้วย
- เพียงแค่ 1 เดือนแรกที่เข้าฉายในประเทศญี่ปุ่น Shoplifters สามารถทำรายได้ไปแล้วมากกว่า 3.5 พันล้านเยน (ประมาณ 1 พันล้านบาท)
- ริวโตะ คอนโดะ ผู้กำกับภาพเลือกใช้ฟิล์ม 35 มม. ตลอดทั้งเรื่อง