×

‘โชน ปุยเปีย’ อีกหนึ่งความหวังใหม่ของวงการแฟชั่นไทย ส่งตรงจากแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม

06.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • โชนเลือกเรียนที่ Royal Academy of Fine Arts เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ซึ่งมีความแน่วแน่ กบฏ และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้วงการอยู่ตลอดเวลา วิทยาลัยนี้กำลังเป็นตัวแปรสำคัญของวงการแฟชั่น และไม่ใช่ว่าจะเข้าเรียนกันง่ายๆ
  • นิทรรศการของโชนจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Museum) จังหวัดเชียงใหม่ โดยรวบรวมผลงานของโชนช่วงเรียนที่แอนต์เวิร์ปมาจัดแสดง
  • ความน่าสนใจอยู่ตรงคำจำกัดความที่ว่า ‘Bold Feminine’ คือเขามีความคตินิยมผสมผสาน ดึงเรื่องราวของผู้หญิงหลากหลายคนในรูปแบบที่มี ‘ตัวตน’ อย่างชัดเจนเข้ามาในผลงานดีไซน์
  • โชนเองก็ยังมีแบรนด์รองเท้าชื่อ Adult. ที่ทำร่วมกับเพื่อนสนิท ราฟาเอล ลองเซนจ์ ซึ่งได้การตอบรับที่ดีหลังมีการไปโชว์ผลงานที่ปารีส และได้ลง Vogue ฉบับประเทศเบลเยียมมาแล้ว

 

 

การจะสร้างความสำเร็จในวงการแฟชั่นสมัยนี้ถือว่าท้าทาย ไร้ขอบเขต และตัวคุณเองจะต้องเป็นคนกำหนดว่าอยากเป็นบุคคลแบบไหนเพื่อมาประดับวงการ บางคนอยากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน บางคนอยากเป็นพลังเงียบที่ให้ผลงานเป็นสิ่งชี้วัดความสามารถ หรือบางคนก็ยังลองผิดลองถูกค้นหาตัวเองต่อไป

 

ยิ่งพอเราก้าวสู่ยุคโซเชียลมีเดียที่วงการแฟชั่นเหมือนอยู่บนรถไฟเหาะมากกว่าแค่ม้าหมุนสวยๆ ในยุคก่อน การจะหาพื้นที่ของตัวเองถือว่าไม่ง่าย โดยเฉพาะกับดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่เพิ่งเรียนจบและกำลังเริ่มเดินบนเส้นทางบางๆ ของวงการ เช่นเดียวกันกับ โชน ปุยเปีย ลูกชายของศิลปินชื่อดัง ชาติชาย ปุยเปีย และ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ที่ THE STANDARD เพิ่งได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการผลงานของเขาภายใต้แบรนด์ชื่อ Shone Puipia ที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Museum) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้องบอกว่าดีไซเนอร์คนนี้มาพร้อมทัศนคติทางด้านดีไซน์ที่แตกต่าง เปี่ยมด้วยคุณภาพ และน่าติดตามว่าก้าวต่อไปจะไปทิศทางไหน

 

จากเด็กที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ด้วยคุณพ่อและคุณแม่ที่เป็นศิลปินทัศนศิลป์ ความน่าสนใจอย่างแรกของตัวโชนเองคือการที่เขาเลือกเรียนที่ Royal Academy of Fine Arts ที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ซึ่งต้องบอกว่าเป็นตัวเลือกนอกกระแสสำหรับโรงเรียนแฟชั่นที่เด็กไทยจะเลือกหากมีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ แต่เพราะความแน่วแน่ กบฏ และอยากสร้างบรรทัดฐานใหม่ต่อวงการอยู่ตลอดเวลา วิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญของวงการ และไม่ใช่ว่าจะเข้าเรียนกันง่ายๆ เพราะในรุ่นของโชนมีเด็กเข้าเรียนทั้งหมด 60 คน แต่จบปริญญาตรีออกมาแค่ 6 คนในสาขา Visual Arts for Fashion ในปี 2015 และโชนเองก็สำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากวิทยาลัยเดียวกันในปีถัดมาอีกด้วย

 

ห้องโถงหลัก

 

ถ้าต้องลิสต์ชื่อศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนี้ก็มีตั้งแต่กลุ่มดีไซเนอร์ Antwerp Six (ที่มี แอน เดอมูลมีสเทอร์, ดริส ฟาน โนเตน, เดิร์ก ฟาน เซน, วอลเตอร์ ฟาน ไบเรนดองก์, เดิร์ก บิกเคมเบิร์กส และมารินา เย) ไปจนถึงเด็มนา กวาซาเลีย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Vetements และครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Balenciaga ซึ่งต้องบอกว่าโชนเองก็มีมุมมองเชิงดีไซน์ที่เปรียบเสมือนแม่พิมพ์สำหรับคนที่จบมาของวิทยาลัยนี้ โดยจะไม่ตามเทรนด์และไม่ประนีประนอมด้านความคิดสร้างสรรค์

 

ในส่วนของนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่นำผลงานของโชนช่วงเรียนที่แอนต์เวิร์ปมาจัดแสดง เมื่อเดินเข้าไปเราจะเจอห้องโถงใหญ่ที่นำผลงานชุดและเครื่องประดับไฮไลต์ 10 ลุคมาจัดแสดงจาก 3 คอลเล็กชัน

 

‘She Came by the Green Line Bus’ (2556-2557) ได้แรงบันดาลใจจากงานจิตรกรรมของเดวิด ฮอกเนย์ ผสมผสานกับภาพยนตร์ The Royal Tenenbaums (2001) ของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน

 

‘She Walks on Marble Columns’ (2557-2558) ที่นำผลงานจิตรกรรมของ จอร์เจีย โอคีฟ มาตีความเข้ากับงานอาร์ตแผ่นเมทัลชีทเหล็กของเคต แบล็กเกอร์ ศิลปินที่มีผลงานในพิพิธภัณฑ์เทต โมเดิร์น ที่ลอนดอน

 

‘The Wild Bunch’ (2558-2559) ศึกษาผลงานของเกรต สเติร์น ช่างภาพชาวเยอรมันและอาร์เจนตินา ผสมผสานเข้ากับศิลปะจัดวางของซาร่าห์ ซี และเครื่องแต่งกายจากภาพยนตร์เรื่อง Picnic at Hanging Rock (1975) ของปีเตอร์ เวียร์

 

ห้องถัดมาทางซ้ายที่ชื่อ ‘The Making’ ก็จะเล่าเรื่องขั้นตอนการทำผลงานของโชน การค้นคว้า การทดลองทางวัสดุ และการทำงานร่วมกับนักออกแบบเครื่องประดับ เช่น นภกมล ชะนะ และโรงงานทอผ้า Jim Thompson

 

ปิดท้ายด้วยห้อง The Screening Room ที่เล่าเรื่องแรงบันดาลใจของโชนในสเกตช์บุ๊กผ่านภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายแฟชั่นเซต กำกับโดย วิจฉิกา อุดมศรีอนันต์ ช่างภาพรุ่นใหม่

 

ห้อง The Making

 

ห้อง The Screening Room

 

ความน่าสนใจในงานที่จำกัดความว่า ‘Bold Feminine’ คือโชนมีความคตินิยมผสมผสาน ดึงเรื่องราวของผู้หญิงหลากหลายคนในรูปแบบที่มี ‘ตัวตน’ อย่างชัดเจนเข้ามาในผลงานดีไซน์ ตั้งแต่ผู้หญิงในงานภาพถ่ายของเฮลมุท นิวตัน เช่น เกรซ คอดดิงตัน จนถึงตัวละครมาร์โกจากหนังเรื่อง The Royal Tenenbaums ของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน โดยในแต่ละดีไซน์ โชนมีความ expressive ที่ขยายกรอบความเป็นไปได้ของเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่นำมาใช้ เทคนิค felting ขนสัตว์ เฉดสีที่เอามาแต่งเติมแล้วทำให้เรานึกถึงยุคที่คันไซ ยามาโมโตะ ทำเสื้อผ้าคอนเสิร์ตให้เดวิด โบวี่ (ควรส่งบางลุคให้ทีมเลดี้ กาก้า พิจารณา) หรือการทำโครงสร้างรูปทรงเสื้อผ้าที่ไม่ต้องอิงกับตำรา 1,2,3,4 ซึ่งพอมารวมกับความนิ่งและพูดน้อยของตัวโชนเอง จึงทำให้เรานึกถึงศิษย์เก่าของ Royal Academy of Fine Arts เหมือนโชน อย่างมาร์แตง มาร์เจียลา ที่ทั้งคู่ให้งานดีไซน์เป็นตัวสะท้อนความคิดและมุมมองมากกว่าแค่ต้องมาอธิบายตลอดเวลา

 

บทพิสูจน์ต่อไปสำหรับโชนและแบรนด์ Shone Puipia คือเดือนหน้าจะจัดแฟชั่นโชว์ครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมกับคอลเล็กชันแรกตั้งแต่เรียนจบออกมา แม้โชนอาจยังไม่ได้มองเชิงพาณิชย์มากนัก แต่เขาก็อยากเน้นบริการการสั่งตัดแบบ made-to-order สำหรับลูกค้าที่สนใจ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการวางหมากที่ดี แถมโชนเองก็ยังมีแบรนด์รองเท้าชื่อ Adult. ที่ทำร่วมกับเพื่อนสนิท ราฟาเอล ลองเซนจ์ ซึ่งได้การตอบรับที่ดีหลังมีการไปโชว์ผลงานที่ปารีสและได้ลง Vogue ฉบับประเทศเบลเยียมมาแล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นธุรกิจที่ช่วยหล่อเลี้ยงด้านการเงิน และช่วยให้ Shone Puipia ได้พัฒนาไปเรื่อยๆ ควบคู่กันไป

 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าสำคัญเหนือกว่าทุกสิ่งสำหรับ Shone Puipia คือการให้ ‘เวลา’ สร้างรากฐานความมั่นคงให้กับหนึ่งแบรนด์ มันไม่สามารถเกิดขึ้นในช่วงข้ามคืน ยิ่งถ้าเรายิ่งมีมุมมองที่ชัดเจน เฉียบคม และรักในศาสตร์ความงามของ ‘แฟชั่น’ แล้ว เราไม่ควรรีบวิ่งไปคว้าสปอตไลต์ เพราะวันหนึ่งหากเราเชื่อมั่นว่าผลงานของเรามีความหมายและมีจุดยืน เดี๋ยวชื่อเสียงและความสนใจก็จะมาเอง เพราะพูดตรงๆ เราไม่ได้ต้องการ Comme des Garçon ภาคสอง, J.W. Anderson ภาคสอง หรือ Gucci ภาคสอง แต่เราต้องการ Shone Puipia ภาคหนึ่งและภาคเดียวที่แข็งแกร่ง ซึ่งก็ต้องลองผิดลองถูกและศึกษาตลาดให้ถี่ถ้วน ก่อนจะรู้ว่าแบรนด์ควรประกอบกิจการรูปแบบไหน

 

ดริส ฟาน โนเตน หนึ่งในดีไซเนอร์ที่โชนชื่นชมเพิ่งไปพูดในงาน VOICES ของเว็บไซต์ Business of Fashion ที่ประเทศอังกฤษว่า วงการแฟชั่นมีเรื่องธุรกิจแล้ว (ตามชื่อเว็บไซต์) แต่ทำไมยังไม่มี Beauty of Fashion ซึ่งถ้าดริสได้มีโอกาสมาเห็นงานของโชน เขาก็น่าจะได้คำตอบนี้

 

*นิทรรศการ Shone Puipia: Antwerp 2012-2016 จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 18 ธันวาคม 2560 ที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยม (MAIIAM Museum) จังหวัดเชียงใหม่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X