ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ โชเฮ โอห์ตานิ ปรากฏตามสื่อกีฬามากมาย หลังจากที่เขาตัดสินใจย้ายทีมจากแองเจิ้ลส์ ลูกเมียน้อยแห่งเมืองแอลเอ เข้าสู่ด็อดเจอร์ส มหาอำนาจตัวจริงแห่งมหานครลอสแอนเจลิส
แค่ย้ายทีมอย่างเดียวก็คงธรรมดาสำหรับคนนอกวงการเบสบอล
ผู้เล่นชาวญี่ปุ่นซึ่งร้อยปีจะมีสักคนในวงการเบสบอล ไม่เสียทีที่มีฉายาว่า ‘โชไทม์’ ย้ายพร้อมกับข่าวสัญญามหึมา 10 ปี 700 ล้านดอลลาร์ (ค่าเงินปัจจุบันราว 25,000 ล้านบาท)
ผ่านไปไม่ถึง 48 ชั่วโมง ชื่อของโอห์ตานิก็ว่อนทั่วโซเชียลมีเดียอีกครั้งว่า เขาตัดสินใจไม่ขอรับค่าจ้างก้อนดังกล่าวในตอนนี้
อีก 680 ล้านดอลลาร์ (ค่าเงินปัจจุบันราว 24,285 ล้านบาท) ขอไปรับใน 10 ปีข้างหน้า
ตอนนี้ขอเพียงปีละ 2 ล้านดอลลาร์ (ราว 71.4 ล้านบาท) ตลอดอายุสัญญา
โครงสร้างสัญญากีฬาเบสบอลดูซับซ้อนกว่าลีกอื่นๆ ที่เราดูกัน ผมจะพยายามอธิบายให้เห็นภาพมากที่สุดว่าทำไมถึงจั่วหัวออกมาแบบนี้
แต่ก่อนอื่นก็ขอแนะนำโอห์ตานิฉบับย่อๆ อีกสักครั้ง หลังจากที่เคยอธิบายเอาไว้เมื่อปลายเดือนมีนาคม
ความเก่งกาจของเขาคือ นอกจากจะเป็นพิตเชอร์ หรือตัวขว้างบอล ระดับ 5 ดาวแล้ว
ยังเป็นตัวตีเพื่อช่วยเกมบุกระดับ 5 ดาวอีกเช่นกัน
จนมีคนบอกว่า เขาคือนิโตริว หรือวิถีดาบคู่ ตามอย่าง ‘มิยาโมะโตะ มุซาชิ’ ยอดซามูไรผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ในการประลอง
เดือนก่อนก็เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์ได้รับการโหวตให้เป็น MVP วงการเบสบอลอย่างเอกฉันท์ 2 สมัยอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
ทั้งที่เอ็นข้อศอกของเขาพังเป็นรอบที่ 2 ในเวลา 5 ปี จนต้องผ่าตัดขณะกำลังโชว์ฟอร์มสุดยอด
คนที่เก่งและสร้างสถิติเอาไว้ระดับโอห์ตานิก็คือ เบ้บ รูธ ตำนานเบสบอลเมื่อปี 1918
น่าเสียดายที่โอห์ตานิเก่งแค่ไหน แต่กีฬาเบสบอลก็ยังต้องแข่งเป็นทีม ตั้งแต่ออกจากญี่ปุ่นมาแข่งอาชีพในสหรัฐอเมริกา เขาไม่เคยสัมผัสการแข่งเพลย์ออฟมาก่อน
แองเจิ้ลส์ไม่เคยเข้ารอบเพลย์ออฟมาตั้งแต่ปี 2014
เมื่อหมดสัญญา ด้วยวัย 29 ปีก็จำเป็นต้องย้ายเพื่อค้นหาความสำเร็จ ซึ่งคราวนี้เขาตัดสินใจเลือกอยู่กับยอดทีมด็อดเจอร์ส ซึ่งเข้ารอบมาตลอด 11 ฤดูกาล
ทั้งโตรอนโต้ บลูเจย์ส, ซาน ฟรานซิสโก ไจแอนท์ส, ชิคาโก้ คับส์ หรือรวมทั้งแองเจิ้ลส์ ทีมเก่าที่หวังได้ตัวโชไทม์ ต่างอกหักกันไป
ที่นี่มี 2 ตัวตีระดับ 5 ดาว ทั้ง มูกี้ เบตต์ส และ เฟร็ดดี้ ฟรีแม่น
ด็อดเจอร์สคือมหาอำนาจฤดูกาลปกติก็ว่าได้ ชนะเนชั่นแนล ลีก เวสต์ มา 10 จาก 11 ปี และชนะอย่างน้อย 100 เกม 4 จาก 5 ปี
แต่ได้แชมป์เดียวช่วงที่เกิดโควิดเมื่อซีซัน 2020
สองปีหลังถือว่าอกหักอย่างแรง แพ้คู่แค้นอย่างซาน ดิเอโก้ ปาเดรส์ และอาริโซน่า ไดม่อนด์แบ็คส์ ตกรอบ
ด็อดเจอร์สกล้าทุ่มสัญญาให้ ทั้งที่รู้ว่าโอห์ตานิจะทำหน้าที่ได้แค่ตัวตีในซีซันหน้า กว่าจะกลับมาเป็นพิตเชอร์ ได้ก็ต้องรอถึงปี 2025
แหล่งข่าวบอกกับหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times ว่า โอห์ตานิเป็นต้นคิดเรื่องโอนค่าจ้างก้อนใหญ่ไปอีก 10 ปีข้างหน้าเอง เนื่องจากต้องการให้ทีมมีเงินเหลือเอาไว้เติมตำแหน่งอื่นๆ โดยเฉพาะพิตเชอร์ พร้อมให้ระบุในสัญญาด้วยว่า ฝ่ายบริหารจะพยายามทำอย่างเต็มที่
นักกีฬาระดับนี้กับค่าจ้างเพียงปีละ 2 ล้านดอลลาร์ ถือว่าน้อยทีเดียว แต่ไม่ต้องห่วง สปอนเซอร์พร้อมไหลมาเทมา!
ปีก่อนมีรายงานว่า โอห์ตานิสร้างประวัติศาสตร์เมเจอร์ลีกเบสบอลด้วยการเซ็นสัญญาสปอนเซอร์ทั้งสิ้น 17 แบรนด์ คิดเป็นเงินอย่างต่ำปีละ 40 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,429 ล้านบาท)
แบรนด์ดังๆ อย่างเช่น
- New Balance ซึ่งเซ็นสัญญากันในระยะยาว
- Fanatics
- Topps
- Mitsubishi
- สายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น Japan Airlines
- Seiko
- เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว Kosé
เชื่อว่ารายได้จากสปอนเซอร์จะยิ่งเพิ่มขึ้นถึง 50 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำเมื่ออยู่กับด็อดเจอร์ส
ทางฟากด็อดเจอร์สเองก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะสมัยที่โอห์ตานิอยู่กับแองเจิ้ลส์ยังมีแบรนด์สินค้าญี่ปุ่น 22 ตัวเข้าไปสนับสนุนในสเตเดียมมากที่สุดกว่าทุกแห่งในลีก ประเมินมูลค่าอยู่ที่ราว 20 ล้านดอลลาร์
ด็อดเจอร์สมีสนามที่ใหญ่กว่า มีคนดูที่มากกว่า ดังกว่า และประสบความสำเร็จกว่า คิดดูแล้วกันว่าเงินจะไหลเข้ามาพร้อมชื่อโอห์ตานิและเบอร์ 17 ของเขาเพียงใด
มาถึงช่วงยากของการอ่านเรื่องนี้แล้วครับ
สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ตามเบสบอลก็คงอดสงสัยไม่ได้ว่าเพดานค่าจ้างล่ะเป็นอย่างไร เข้มข้นเหมือน NFL หรือโทษปรับแรงเหมือน NBA หรือเปล่า?
สหภาพผู้เล่นเบสบอลในสหรัฐอเมริกาเข้มแข็งมาก ทำให้เพดานค่าจ้างของเมเจอร์ลีกเบสบอลมีก็เหมือนไม่มี จะลงโทษเหมือนตีมือเป็นภาษีสำหรับทีมที่ใช้จ่ายจนเกินเพดานกำหนด (237 ล้านดอลลาร์ในปี 2024)
คำนวณตัวเลขกันหน่อย โอห์ตานิรับค่าจ้างอีก 10 ปีข้างหน้าปีละ 68 ล้านดอลลาร์ ถึงวันนั้นด็อดเจอร์สก็ตายกันพอดี
คุณไม่ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คงรู้ว่าค่าเงิน 68 ล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะถูกลงกว่าค่าเงิน 68 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
ใช่แล้วครับ สัญญาของโอห์ตานิก็เหมือนกัน
อัตราเงินเฟ้อที่มีการคำนวณคือ 4.43%
68 ล้านดอลลาร์ในอีก 10 ปีข้างหน้าเท่ากับ 44,081,476.50 ดอลลาร์ในปัจจุบัน รวมกับที่โอห์ตานิรับปัจจุบัน 2 ล้านดอลลาร์ ออกมาเท่ากับ 46,081,476.50 ดอลลาร์
เท่ากับว่า จากข่าวโอห์ตานิรับค่าจ้าง 10 ปี 700 ล้านดอลลาร์ และออกไปทั่วโซเชียลมีเดีย ตึ้ง ตึ้ง ตึ้ง!
ความเป็นจริงยอดมันจะเหลือ 10 ปี 460,814,764.97 ดอลลาร์ (เงินบาท เลขกลมๆ คือ 16,455 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่นี้ก็ยังเป็นสัญญาเหนือสุดของลีกที่ ไมค์ เทราท์ อดีตเพื่อนร่วมทีมแองเจิ้ลส์ เคยรับเอาไว้ 12 ปี 426.5 ล้านดอลลาร์
แม้แต่ แพทริก มาโฮมส์ ควอเตอร์แบ็กแคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ 10 ปี 450 ล้านดอลลาร์ของ NFL ก็ยังเป็นรอง
ด็อดเจอร์สจึงเอาไปลงบัญชีค่าจ้างทีม 46 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ตรงนี้ก็ยังมากกว่า จัสติน เวอร์แลนเดอร์ กับ แม็กซ์ เชอร์เซอร์ สองพิตเชอร์สมัยรับจากนิว ยอร์ค เม็ตส์ ปีละ 43.3 ล้านดอลลาร์
หลายคนที่มองผิวเผินอาจคิดว่าขี้โกงนี่หว่า ในความเป็นจริงวงการเบสบอลทำกันแบบนี้มาหลายต่อหลายคน แต่ไม่มีใครโอนเงินไปอนาคตเท่าโอห์ตานิ
(ลอง Google คำว่า Bobby Bonilla day จะเห็นประวัติศาสตร์เรื่องการโอนเงินไปอนาคตของ บ็อบบี้ โบนิลญ่า ซึ่งเลิกแข่งกับนิว ยอร์ค เม็ตส์ มาตั้งแต่ปี 2011 แต่ทุกวันนี้ยังมีค่าจ้างจนถึงปี 2035)
หลายคนที่อ่านแล้วก็อาจสงสัยอีกว่า ทำไมต้องทำให้ซับซ้อนไปขนาดนั้น เซ็นสัญญา 10 ปี 460 ล้านดอลลาร์ไปเลยก็จบ
ผมเชื่อว่านักกีฬาระดับโลกมีอีโก้กันทั้งนั้น และการมีเอเจนต์ช่วยออกแบบค่าการตลาดยิ่งไปกันใหญ่
เอเจนต์ของโอห์ตานิคือ เนซ บาเลโล่ คงยืดอกแอ่นกับข่าวที่สามารถเจรจาสัญญาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
คุณจำ ลิโอเนล เมสซี่ เซ็นสัญญา 674 ล้านดอลลาร์กับบาร์เซโลน่าได้ไหม?
แฟนบอลทุกคนคงจำกันแม่นว่า นั่นคือสัญญาแค่ 4 ปีด้วย
แต่ตัวเลข 700 ก็ต้องอยู่เหนือกว่า 674 อยู่ดี เวลาใครเปิดอ่าน Wikipedia เรื่องสัญญาแพงที่สุดของวงการกีฬาก็จะเห็นโอห์ตานิอยู่ด้านบนสุด
ประโยชน์สุดท้ายก็คือเรื่องภาษีรายได้
แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่โหดมาก ใครก็ตามที่รับเกินล้านดอลลาร์ต้องจ่ายภาษี 13.3% และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 14.4%
เมื่อโอห์ตานิเลิกแข่งและไม่ได้อยู่ในแคลิฟอร์เนีย เงิน 68 ล้านดอลลาร์ดังกล่าวก็จะไม่โดนอัตราภาษีแพงเหมือนที่นั่น
ทั้งหมดคือเรื่องราวการย้ายทีมที่สร้างความฮือฮาของ โชเฮ โอห์ตานิ
มาร่วมลุ้นกันครับว่า ซีซันหน้าแอลเอ ด็อดเจอร์ส ซึ่งกลายเป็นเต็งแชมป์เมเจอร์ลีกเบสบอลจะพุ่งทะยานเหมือนเสือติดปีกเพียงใด?