×

พบกับโอห์ตานิ ซามูไรดาบคู่แห่งวงการเบสบอล

31.03.2023
  • LOADING...
โชเฮ โอห์ตานิ

เบสบอลเข้าไปยังประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1872 และเริ่มมีการแข่งระดับอาชีพมาได้ประมาณ 100 ปี ทุกวันนี้ก็กลายเป็นกีฬาประจำชาติไปแล้วด้วยซ้ำ

 

เท่านั้นไม่พอ เบสบอลยังกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่กระจายมายังประเทศไทย ทำให้เด็กในวัยผมขณะนั้นเข้าใจถึงความตื่นเต้นของกีฬาซึ่งแทบไม่มีใครเล่นกันในประเทศไทย ผ่านลายเส้นของ มิตสึรุ อาดาจิ

 

เด็กยุคนั้นได้เข้าใจตำแหน่งของตัวตี ความสำคัญของพิตเชอร์ มนตร์เสน่ห์ของโคชิเอ็ง

 

รายการเวิลด์เบสบอลคลาสสิก หรือเบสบอลชิงแชมป์โลก ซึ่งเพิ่งจบไป คนญี่ปุ่นดูกันอย่างมหาศาล โดยเฉพาะช่วงที่แข่งในบ้านพวกเขาเอง การเจอเกาหลีใต้และอิตาลีถ่ายทอดสดเวลาหัวค่ำ มีคนดูราว 50-60 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรก็ว่าได้

 

ขนาดรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศย้ายไปแข่งที่ไมอามี, สหรัฐอเมริกา ตรงกับช่วงเช้าของญี่ปุ่น

 

ผมกำลังตะลอนๆ เดินทางอยู่ที่ชิซึโอกะพอดี แวะเข้าไปในร้านขนมช่วงสาย สังเกตว่าทุกบ้านต่างเปิดทีวีนั่งลุ้นเบสบอลกัน

 

ด้วยบรรยากาศขนาดผมกินขนมเสร็จก็ยังพลอยต้องนั่งเชียร์ญี่ปุ่นไปด้วย ได้มองเห็นโต๊ะข้างๆ นั่งกุมมือภาวนาในแต่ละการขว้างของพิตเชอร์ หรือการตีของแบตเตอร์

 

พวกเขาพลิกสถานการณ์มาเชือดเม็กซิโกในอินนิ่งสุดท้ายอย่างสุดดราม่า

           

ถึงรอบชิงชนะเลิศพบกับชาติที่ให้กำเนิดเบสบอลอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งขนดาวดังมาแข่งมากกว่าทุกครั้ง

 

ผมอยู่ที่สนามบินฮาเนดะกำลังจะต่อเครื่องในประเทศช่วงสายอีกเช่นเคย

 

ผู้โดยสารที่รอเช็กอินข้างหน้าผมกำลังกดดูมือถือเพื่อลุ้นผลการแข่งขัน และพอเข้าไปหน้าเกต คงไม่ต้องบอกว่าทีวีทุกเครื่องต่างเปิดรอบชิงให้ผู้โดยสารดู

 

โชคดีที่ไฟลต์ของผมกว่าจะเปิดให้ขึ้นเครื่องก็ทันเวลาเห็นการดวลของ โชเฮ โอห์ตานิ กับ ไมค์ เทร้าท์ สองสุดยอดแห่งวงการ และอยู่ทีมแอล.เอ.แองเจิ้ลส์เหมือนกัน ในอินนิ่งตัดสิน

 

โชเฮ โอห์ตานิ

 

รอบรองชนะเลิศว่าดราม่าแล้ว รอบชิงชนะเลิศจบตรงที่สองคนนี้มาดวลกัน ราวกับพล็อตภาพยนตร์ดีๆ นี่เอง

 

ถ้าการแข่งต้องยืดเยื้อ ผมเชื่อว่าชาวญี่ปุ่นหลายร้อยคนที่หน้าเกตขณะนั้นก็คงยินดีถ้าไฟลต์จะดีเลย์ออกไป

 

ผลการแข่งขันคงทราบกันไปแล้ว โอห์ตานิขว้างลูกสำคัญปราบเทร้าท์ ทำให้ญี่ปุ่นคว้าแชมป์แบบไร้พ่าย ท่ามกลางเสียงปรบมือดังลั่นเกต และเจ้าหน้าที่ก็ประกาศให้ทุกคนขึ้นเครื่องพอดี

 

โชเฮ โอห์ตานิ

 

เรตติ้งที่เช็กมาคร่าวๆ ขนาดแข่งกันช่วงเช้าของญี่ปุ่น ก็ยังมีคนดูอีกประมาณ 50 กว่าล้านคน

 

ขนาดเกมจบ แต่ทีวีญี่ปุ่นยังต่อยอดหลังเกมไปอีกเกือบสองชั่วโมง

 

เทร้าท์ให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่ง “แน่นอน ผลแข่งมันไม่ได้ออกมาอย่างที่ผมต้องการ แต่สำหรับแฟนเบสบอล ทุกคนคงอยากเห็นกัน เขาเป็นฝ่ายชนะยกแรก”

           

โอห์ตานิได้รับเลือกให้เป็นเอ็มวีพี กล่าวว่า

 

“นี่คือโมเมนต์ที่ดีสุดในชีวิตผมแล้ว ผมเคยเห็นญี่ปุ่นได้แชมป์ (ปี 2006 กับ 2009) ผมอยากมีส่วนร่วมบ้าง ผมรู้สึกโชคดีที่ได้มีประสบการณ์อันสุดยอดแบบนี้ ก็อย่างที่เคยบอกเอาไว้ สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป เด็กที่กำลังเล่นเบสบอล ผมหวังว่าพวกเขาจะอยากแข่งเบสบอล แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว”

 

คำพูดที่โอห์ตานิบอกกับเพื่อนร่วมทีมซึ่งต้องลงมาปะทะดาราเบสบอลจากสหรัฐฯ หลายคนก่อนแข่งยังสะท้อนไปทั่ว

 

“ขอวันหนึ่งนะ ไม่ต้องปลื้มอะไรพวกเขาเลย คิดอย่างเดียวเอาชนะให้ได้”

 

เสร็จศึกทีมชาติ ทั้งโอห์ตานิกับเทร้าท์ก็ต้องไปร่วมมือกันพยายามทำให้แองเจิ้ลส์เข้ารอบเพลย์ออฟเป็นหนแรกตั้งแต่ปี 2014

 

ฟังดูอาจเหลือเชื่อว่าทีมที่สองสุดยอดนักเบสบอลแห่งยุคกลับไม่สามารถประสบความสำเร็จ แม้กระทั่งเข้ารอบได้ แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากเพียงใดเพื่อจะประสบความสำเร็จในเมเจอร์ลีกเบสบอล

           

บทความนี้คงไม่สมบูรณ์ถ้าไม่ได้ทำให้คุณรู้จักโอห์ตานิมากขึ้น

 

ที่ผ่านมาเคยมีผู้เล่นเบสบอลระดับตำนานญี่ปุ่นไปโด่งดังที่สหรัฐอเมริกามากมาย เช่น ฮิเดโอะ โนโมะ, อิจิโร่ ซูซูกิ, เจ้า ‘ก็อดซิลล่า’ ฮิเดกิ มัตสึอิ หรือ ยู ดาร์วิช

 

แต่ไม่มีใครเหมือนโอห์ตานิ ซึ่งเก่งกาจทั้งการบุกในฐานะตัวตี และการป้องกันในฐานะพิตเชอร์

 

โชเฮ โอห์ตานิ

           

คนที่ตีลูกเก่งหายากมากที่จะเป็นพิตเชอร์หรือคนขว้างด้วย

 

แต่โอห์ตานิต่างจากคนอื่นๆ

 

ซีซันที่แล้วเขาคือคนแรกในรอบ 104 ปีที่คว้าชัยชนะในฐานะพิตเชอร์ครบ 10 เกม และยังตีโฮมรันได้ถึง 10 ครั้งในฤดูกาลเดียว

 

คนสุดท้ายที่ทำเอาไว้ก็คือ เบ้บ รูธ เมื่อปี 1918

 

ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า นิโตริว หรือ วิถีดาบคู่ เอาไว้เรียกลักษณะการเล่นของโอห์ตานิ

 

หากพูดถึงนักดาบคู่ผู้มีชื่อเสียงก็คงไม่พ้นไปกว่าชื่อของ ‘มิยาโมะโตะ มุซาชิ’ ซึ่งผมเชื่อว่าเด็กหลายคนเมื่อ 20 ปีก่อนคงต้องเคยอ่าน วากาบอนด์ เรื่องราวของมุซาชิ ยอดซามูไรผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ในการประลอง

 

เขาเป็นนักรบที่คิดค้นเพลงดาบเป็นของตัวเอง ช่ำชองด้านอักษรศาสตร์ ศิลปะ เป็นนักวางกลยุทธ์ ทั้งยังเชี่ยวชาญเรื่องการจัดสวน

 

การใช้ดาบคู่ของมุซาชิทำให้นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลายคนเชื่อว่า นี่คือซามูไรคนแรกที่ริเริ่มใช้ดาบ 2 เล่ม

 

ดังนั้น การที่โอห์ตานิได้รับการชื่นชมขนาดนี้ก็ถือว่าไม่ธรรมดา

           

ตามปกติพิตเชอร์ตัวจริงจะลงมาขว้างเกมหนึ่ง พักราว 4 เกม จากซีซันที่ยาวนาน 162 เกม เพื่อใช้เวลาพักแขนและร่างกาย

 

สำหรับโอห์ตานิกลับไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเขายังมีภารกิจต้องรับบทบาทเล่นเกมบุกให้แองเจิ้ลส์อีก

           

โอห์ตานิเกิดในครอบครัวนักกีฬา เริ่มเล่นเบสบอลตั้งแต่เด็ก

 

โทรุผู้เป็นพ่อเคยเล่นเบสบอลลีกท้องถิ่น แต่เพราะอาการบาดเจ็บจึงต้องผันตัวมาเป็นโค้ชทีมเยาวชน ส่วนคุณแม่เคยเป็นนักแบดมินตัน

 

พ่อเคยเล่าว่าลูกชายของเขาเป็นเด็กซนที่อยากลองไปซะทุกอย่าง ดังนั้นถ้าไม่คอยจับตาให้ดีจะอันตรายมาก

           

โอห์ตานิตัวสูงใหญ่มาตั้งแต่เด็ก เริ่มเป็นที่จับตาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2012 ตอนนั้นอายุเพิ่ง 18 ปี อยู่กับทีมฮานามากิ ฮิงาชิ จังหวัดอิวาเตะ กลับสร้างความฮือฮา ขว้างบอลด้วยความเร็วถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นสถิติของโรงเรียนมัธยมศึกษาในญี่ปุ่น

 

สมัยนั้นเขาได้สวมเสื้อหมายเลขหนึ่งในฐานะเอซ และตีไม้สี่ในไลน์อัพ พาทีมไปโคชิเอ็ง 2 ครั้ง คือฤดูร้อนตอนปี 2 และฤดูใบไม้ผลิตอนปี 3

 

อย่างไรก็ตาม โอห์ตานิกลับไม่เคยได้แชมป์โคชิเอ็ง โดยเฉพาะการลงดวลกับ ชินทารุ ฟูจินามิ พิตเชอร์ร่างยักษ์จากมัธยมฯ โอซาก้า โทอิง เมื่อช่วงฮารุ หรือฤดูใบไม้ผลิปี 2012

 

โชเฮ โอห์ตานิ

อตานิ สมัย ดวล ฟูจินามิ 

ภาพวาดโอห์ตานิ โดยอาจารย์ Yoichi Takahashi คนเขียน ซึบาสะ 

 

โอห์ตานิลงเล่นเกมบุก หวดโฮมรันใส่ฟูจินามิได้ด้วยซ้ำ แต่บั้นปลายโรงเรียนของเขากลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ปล่อยให้โทอิงหลุดเข้าไปคว้าแชมป์โคชิเอ็ง

 

เด็กสองคนถูกสื่อยกให้เป็นคู่แข่งตลอดกาลเพราะเรียนรุ่นเดียวกัน เป็นเอซ ม.ปลายเหมือนกัน มีทีเด็ดที่ขว้างบอลเร็วเหมือนกัน ติดทีมชาติไล่เลี่ยกัน และยังตัวสูงเหมือนกัน

 

(ฟูจินามิขึ้นเล่นอาชีพกับ นิปป้อน โพรเพสชั่นแนล เบสบอล ให้กับทีมฮันชิน ไทเกอร์ส และเพิ่งได้สัญญาปีเดียวจากโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ในราคา 3.25 ล้านดอลลาร์)

           

สิ่งที่ทำให้โอห์ตานิโดดเด่นขึ้นมาเหนือฟูจินามิภายหลังก็คือ ศักยภาพเกมบุกในฐานะตัวตี ซึ่งนักข่าวท้องถิ่นบอกว่า ช่วงนั้นยังไม่เคยได้ยินใครพูดถึงการตีของโอห์ตานิด้วยซ้ำ

 

จากพรสวรรค์ความเป็นพิตเชอร์ทรงพลัง โอห์ตานิมีวินัยและพรแสวงเพื่อมากลายเป็นผู้เล่นที่ครบเครื่องในยุคปัจจุบัน       

 

เขาเคยพูดเรื่องเป้าหมายชีวิตตั้งแต่ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยมีโค้ชเป็นที่ปรึกษา เคยกำหนดสิ่งที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งหมด และมีการวางแผนอย่างละเอียดว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เป้าหมายกลายเป็นความจริง

           

เดือนสิงหาคม 2012 หลังจากเพิ่งขว้างให้ทีมชาติญี่ปุ่นชุดยู-18 ชิงแชมป์โลกจบลงไม่ทันไร โอห์ตานิก็สร้างความตื่นตะลึง เมื่อประกาศว่าต้องการเป็นผู้เล่นญี่ปุ่นรายแรกที่ก้าวเข้าสู่เมเจอร์ลีก เบสบอล ของสหรัฐอเมริกา

 

โชเฮ โอห์ตานิ

 

“ผมตัดสินใจว่าจะไปแข่งที่อเมริกา มันคือความฝันที่อยากลงแข่งเมเจอร์ลีกตั้งแต่ผมเข้าชั้นมัธยมฯ แล้ว ผมอยากไปแข่งให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ผมต้องเรียนรู้อย่างยากลำบาก และรู้ว่ามันเสี่ยงแค่ไหน มันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องความฝัน”

 

การประกาศแบบนี้ทำให้ทีมต่างๆ ในลีกอาชีพญี่ปุ่น หรือ NPB นิปป้อน โพรเพสชั่นแนล เบสบอล ต่างถอยหลังออกมา ขณะที่ทีมดังเมเจอร์ลีก รวมทั้ง แยงกี้ส์, เร้ด ซ็อกซ์ และ ด็อดเจอร์ส ต่อคิวกันเข้าไปเจรจา

 

เว้นเพียงแค่ทีมเดียวในญี่ปุ่นนั่นคือ ฮอกไกโด นิปป้อน-แฮม ไฟเตอร์ส ซึ่งเป็นทีมกล้าได้กล้าเสียมาแต่ไหนแต่ไร

 

จากอดีตทีมเบอร์รองของ โยมิอุริ ไจแอนท์ส ซึ่งต้องใช้โตเกียวโดมร่วมกัน

 

ปี 2004 พวกเขาตัดสินใจวัดดวง ย้ายไปอยู่ตอนเหนือที่ฮอกไกโด ผู้เป็นต้นคิดก็คือ โทชิมาสะ ชิมาดะ ผู้บริหารระดับสูง

 

การไปอยู่ยังซัปโปโรโดม สนามแข่งอเนกประสงค์ กลับสามารถสร้างฐานของแฟนกลุ่มใหม่ภายใต้ เทรย์ แฮมิลตั้น ผู้จัดการทีมอเมริกัน

 

ปี 2005 พวกเขาได้ ยู ดาร์วิช ในวัย 18 ปีมาร่วมงาน เอซหนุ่มผู้นี้ช่วยให้ไฟเตอร์ส กลายเป็นแชมป์ เจแปน ซีรีส์ ปี 2006 ต่อด้วย 2007 และ 2009

 

(ภายหลังที่ดาร์วิชออกไปแล้ว ก็ยังได้แชมป์ปี 2012 และอีกครั้งตอนที่โอห์ตานิระเบิดฟอร์ม ปี 2016)

           

การมีแฮมิลตั้นเป็นผู้จัดการทีม ทำให้ไฟเตอร์สไม่ได้คิดเชิงอนุรักษ์เหมือนทีมเบสบอลญี่ปุ่นทั่วไป

 

ปี 2012 พวกเขาจ้าง ฮิเดกิ คูริยามะ อดีตตัวเอาท์ฟิลด์ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์โค้ชเข้ามาอยู่ด้วย

           

คูริยามะคนนี้เป็นคนสำคัญ ซึ่งทำให้โอห์ตานิเฉิดฉายในการเล่นเบสบอลทั้งเกมบุก และป้องกัน

 

ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นอยู่ดี ถ้าฝ่ายบริหารทีมไม่กล้าได้กล้าเสีย ขนาดลงทุนดราฟต์โอห์ตานิ ทั้งที่เจ้าตัวบอกว่าไม่สนใจแข่งในญี่ปุ่น

 

ไฟเตอร์สกลายเป็นทีมเดียวของ NPB ที่ประกาศเลือกโอห์ตานิรอบแรก

 

“ความคิดผมยังไม่เปลี่ยน” โอห์ตานิกล่าวในตอนนั้น “ผมขอบคุณมากที่ให้ค่าผมสูงเหลือเกิน ตอนนี้ผมขอซ้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมากกว่า”

 

พูดง่ายๆ ก็คือ เขาขอบคุณ แต่ไม่เป็นไร

                       

เคน อิวาโมโตะ อดีตล่ามของทีมเม็ตส์ ในเมเจอร์ลีก เบสบอล ซึ่งมาอยู่กับไฟเตอร์ส ตั้งแต่ปี 2009 และเลื่อนขึ้นมาบริหารทีมอีกคน เล่าว่าตอนส่งหัวหน้าแมวมองไปกล่อมโอห์ตานิหนแรก

 

“เขาอ่านใจไม่ออกจริงๆ โอห์ตานิไม่มีอาการใดๆ ไม่แสดงความรู้สึก ไม่แสดงสีหน้าอะไรทั้งนั้น ทำเอาหัวหน้าแมวมองของเรานึกว่าคงไม่สำเร็จแน่ คงกล่อมโอห์ตานิไม่ได้”

 

ไฟเตอร์สไม่ย่อท้อสร้างแคมเปญสานฝัน โชเฮ โอตานิ เพื่อกล่อมเขา และพ่อแม่ให้เห็นว่าผู้เล่นญี่ปุ่นแทบทุกคนซึ่งไปดังในเมเจอร์ลีก เบสบอล รวมทั้งดาร์วิชต่างก็ผ่านการแข่งให้ NPB มาก่อน อธิบายให้เห็นภาพว่าเส้นทางของโอห์ตานิจะยากแค่ไหนเมื่อต้องไปจมในระดับไมเนอร์ลีกที่นั่นก่อน

 

เท่านั้นไม่พอ คูริยามะยังได้นั่งคุยกับโอห์ตานิหลายครั้ง บอกว่าจะปั้นเขาให้เป็นนิโตริวคนเดียวของ NPB

           

“คำสำคัญก็คือผู้บุกเบิก” อิวาโมโตะกล่าว “เราบอกเขาว่าไม่เคยมีใครในวงการเบสบอลญี่ปุ่นเคยทำมาก่อน และไม่มีใครเชื่อว่าจะมีคนที่เล่นแบบนี้ในระดับอาชีพได้ คุณจะเป็นคนแรก และเราจะพร้อมหนุนเต็มร้อย”

 

พร้อมกันนั้นทีมได้เสนอให้เงินเซ็นสัญญาทันที 100 ล้านเยน (ราว 30 ล้านบาท ขณะนั้น) กับค่าจ้างรุคกี้เต็มเพดาน 15 ล้านเยน (4.5 ล้านบาท) และจะยกเบอร์ 11 ซึ่งดาร์วิชเคยสวมลงแข่งให้ด้วย ทั้งๆ ที่รีไทร์เบอร์ไปแล้ว

           

เดือนธันวาคม โอห์ตานิเปลี่ยนใจยอมลงแข่งให้ไฟเตอร์ส

 

โชเฮ โอห์ตานิ

โอห์ตานิ กับ คูริยาม่า เมื่อปี 2017 

 

ทั้งพรสวรรค์และพรแสวง การเจรจาอย่างชาญฉลาด และโชคชะตา ทำให้โอห์ตานิได้เจอกับต้นสังกัดที่เหมาะสม

 

ทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วยกันนานถึง 5 ซีซัน

 

ถ้าโอห์ตานิหิวเงินก้อนโตก็คงเลือกไปอยู่เมเจอร์ลีกก่อนหน้านั้นแล้ว

 

การกระทำสำคัญกว่าคำพูด เขาเดิมพันตัวเอง เสริมสร้างพลังการตี และพลังแขนขึ้นมาอย่างเต็มที่

           

จิม แอลเล่น นักข่าวรายงานเบสบอลญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุค 90 ฟันธงว่า “ถ้าเขาไปสหรัฐฯ ตั้งแต่แรก บอกได้เลยไม่มีทางที่เขาจะเป็นผู้เล่นทูเวย์ได้หรอก”

 

ไฟเตอร์สดูแลและปกป้องโอห์ตานิอย่างดี

           

ไมคาห์ ฮอฟฟ์เพาร์ อดีตตัวตีทีมคับส์ ซึ่งเซ็นสัญญามาอยู่ไฟเตอร์สหลังจบฤดูกาล 2010 เล่าว่า “ตอนเขามาที่นี่ผอมบางมากเลยนะ”

 

รายงานข่าวบอกว่าโอห์ตานิหนักไม่ถึง 86 กิโลกรัม แต่ด้วยการดูแลทางโภชนาการของทีม ทำให้เขาทำน้ำหนักและกล้ามเนื้อขึ้นในเวลารวดเร็ว

 

จนตอนนี้กลายเป็น 102 กิโลกรัม เท่ากับว่าภายใต้การดูแลของไฟเตอร์ส พวกเขาทำให้โอห์ตานิบึกบึนขึ้น 15-16 กิโลกรัมก็ว่าได้ พร้อมกับความสูง 1.93 เมตร

 

แต่ขนาดตอนยังผอมๆ ฮอฟฟ์เพาร์เล่าว่า เขากับเพื่อนร่วมทีมหลายคนได้ยินเรื่องเด็กวัย 18 ปีอยากเป็นตัวทูเวย์กันมาแล้ว

 

“เราก็นั่งคุยกันประมาณว่า เขาคงจะเก่งมากในการเล่นทางหนึ่ง แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คงระดับ โอเค เขาคงเป็นตัวขว้างใช้ได้ แล้วก็ตีบอลเก่ง ไม่ก็เป็นพิตเชอร์ที่เก่งกาจ แล้วลงไปตีบอลได้บ้าง”

 

เพียงแค่การซ้อมของฤดูใบไม้ผลิ โอห์ตานิประกาศศักดาให้รุ่นพี่ได้เห็น

 

ฮอฟฟ์เพาร์กับกลุ่มผู้เล่นเก๋ากำลังซ้อมตีกันอยู่ ก็ได้ยินเสียงฟาดบอลดังกึกก้องราวกับกระสุนไรเฟิลจากสนามข้างๆ จนหลายคนสงสัยว่ามาจากไหน

 

“เราก็เดินไปดูว่ายังไงกัน ปรากฏว่าเป็นโชเฮ เขากำลังหวดลูกอยู่ ให้ตายสิ ทุกลูกที่เขาหวดมันจั๋งๆ ทั้งนั้น หนักหน่วง เสียงตีลูกแตกต่างชัดเจน”

 

โชเฮ โอห์ตานิ

 

อย่าลืมว่าขณะนั้นโอห์ตานิเพิ่งอายุแค่ 18 ปี

           

เอาละ เจ้าหนูฟาดลูกได้แรง แล้วขว้างเป็นอย่างไร?

 

สองสามวันต่อมา ฮอฟฟ์เพาร์ได้เป็นสักขีพยานอีก “เขาปาลูกเหมือนกับไม่ต้องพยายามเลย ตอนที่มันออกจากมือ เห็นแบบนั้น ผมต้องอุทานว่า บ้าไปแล้ว ประทับใจมาก เราพากันยืนดูด้วยความสนุกเวลาเห็นบอลออกจากมือเขา”

 

การที่ไฟเตอร์สแหกกฎให้เด็กหนุ่มผู้มีพรสวรรค์เล่นเบสบอลในสองแบบ เจอเสียงวิจารณ์จากสายอนุรักษ์ สื่อทีวี หนังสือพิมพ์ รวมทั้งคอมเมนเตเตอร์ หรืออดีตผู้เล่น เข้าไปว่า กำลังจะทำลายอนาคตเด็กคนนี้ ควรให้เขาเลือกเล่นอย่างใดอย่างหนึ่งสิ

 

เด็กผู้คิดนอกกรอบกับทีมที่สร้างขึ้นมาจากแนวคิดนอกกรอบไม่ใส่ใจกระแสดังกล่าว

 

“เขาไม่แคร์อะไรเลยนะ” อิวาโมโตะเล่า “ผมไม่รู้ว่า เขาดูรายการทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์พวกนั้นบ้างไหม แต่ไม่เห็นพูดถึง ส่วนพวกเราในฐานะสโมสร ไม่สนใจอยู่แล้ว”

           

ทุกคนในญี่ปุ่นที่ชอบเบสบอลต่างจับจ้องซีซันแรกของโอห์ตานิอย่างใกล้ชิด

 

ฮอฟฟ์เพาร์เข้าไปในทีมที่ฮอกไกโดปีแรก 2011 ดาร์วิชดังทะลุฟ้าแล้ว และที่นั่น ยูกิ ไซโตะ อดีตดาวดังโคชิเอ็ง เจ้าของฉายา ‘เจ้าชายผ้าเช็ดหน้า’ ก็เคยเปิดตัว NPB กับ ไฟเตอร์ส

 

“สื่อที่ตามไซโตะว่าบ้าแล้ว แต่ตอนที่พวกเขาดราฟต์โอห์ตานิมันไปอีกเรื่องเลย ผู้คนมาจากทุกแห่งหน

 

“สิ่งที่ผมคิดว่าโชเฮโดดเด่นอีกอย่างก็คือ ขนาดเจอแรงกดดันจากสื่อมหาศาล เขาก็ยังคงเป็นเด็ก 18 ปีที่ตลกสนุกสนานกับเพื่อนๆ และในล็อกเกอร์รูม”

 

การปกป้องโอห์ตานิจากสื่อ ก็คือไฟเตอร์สไม่ปล่อยเขาออกไปไหนกับเพื่อนร่วมทีมเมื่อแข่งจบอย่างเด็ดขาด แม้แต่การกินมื้อค่ำ เวลาแข่งเกมเยือนจะอยู่แต่ในโรงแรม ส่วนเวลาแข่งที่ซัปโปโร เกมจบก็กลับเข้าหอ ซึ่งโอห์ตานิก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

           

กว่าจะมาเป็นทุกวันนี้ โอห์ตานิไม่ได้เพียงแต่ตีบอลได้หนักหน่วง ขว้างบอลได้แรง และวิ่งเข้าเบสได้ไวเกินรูปร่าง แต่มันยังมาจากความทุ่มเท มีวินัย ฝึกฝนซ้อมตี และปาลูก พร้อมยังนั่งฟังรายงานการศึกษาคู่แข่งอย่างตั้งใจ

 

เข้าโปรแกรมฟื้นร่างกายที่ทีมวางเอาไว้ กินตามหลักโภชนาการที่ทีมออกแบบให้

 

นี่คือคุณภาพที่มีในตัวโอห์ตานิตั้งแต่แรก

           

“เขาเป็นเด็กที่ถ่อมตัวและทำงานหนักมาก” จัสติน ธอมัส อดีตพิตเชอร์จากเมเจอร์ลีกซึ่งย้ายไปไฟเตอร์สกลางปี 2013 กล่าว 

 

“เขาจะมาก่อนคนอื่นบ่อยครั้ง เพราะเขาต้องรับผิดชอบการเล่นสองแบบ ทุ่มเทซ้อมพิเศษ และยังทำมันพร้อมรอยยิ้ม”

 

อิวาโมโตะเสริมว่า “เขาไม่ดื้อด้วย มีความถ่อมตัวตั้งแต่วันแรกอย่างไรก็ไม่เคยเปลี่ยน เขาเป็นผู้เล่นต้นแบบมาตั้งแต่อายุ 18 แล้ว”

           

ปี 2016 เขาขว้างด้วยแรงที่เยอะขึ้น ความเร็วลูกตรงสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ต้องขว้างถึงอินนิ่งที่ 6 ก็รักษาความเร็วระดับ 160 กิโลเมตรเอาไว้หลายครั้ง สปีดไม่ตก คอนโทรลลูกดีขึ้น แถมยังตีโฮมรันเป็นว่าเล่น

           

เดือนธันวาคม 2017 เมื่อต้องตัดสินใจเลือกทีมเมเจอร์ลีก เบสบอล ขณะอายุ 23 ปี เขาสร้างความแปลกใจที่เลือกทีมระดับกลางอย่าง แอลเอ แองเจิ้ลส์

 

เขามองข้ามนิว ยอร์ค แยงกี้ส์, บอสตัน เร้ด ซ็อกซ์, ซาน ฟรานซิสโก ไจแอนท์ส ซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่า ชื่อเสียงโด่งดังกว่า

 

เหตุผลสำคัญ แม้โอห์ตานิจะเป็นตัวทูเวย์ แต่เขาก็ยังเป็นพิตเชอร์มากกว่า

 

ตอนที่เซ็นสัญญากับแองเจิ้ลส์เพราะทีมไม่มีตัวขว้างหลัก ตรงจุดนั้นแหละที่คลิกกับเขา เพราะรู้ว่าจะมีบทบาทสำคัญตั้งแต่แรก ซึ่งทีมเบสบอลเมเจอร์ลีกอื่นๆ ไม่สามารถให้ได้

 

แค่การลงตีเปิดตัวหนแรกในซีซัน 2018 โอห์ตานิก็ประสบความสำเร็จ และสองวันให้หลังยังขว้างพาทีมชนะได้อีก

 

ซีซันดังกล่าวจบลงด้วยการได้รางวัลรุคกี้แห่งปีของอเมริกันลีก และสามปีต่อมา โอห์ตานิถูกเลือกเป็นผู้เล่นทรงคุณค่า หรือเอ็มวีพี อเมริกันลีก

           

เมเจอร์ลีก เบสบอลจะเปิดซีซัน 2023 สิ้นเดือนมีนาคมพอดี เป็นฤดูกาลสุดท้ายในสัญญาที่โอห์ตานิมีกับแองเจิ้ลส์

 

เรามาลุ้นกันว่าในบั้นปลาย เขากับเทร้าท์จะร่วมมือกันเข็นทีมแองเจิ้ลส์จนเข้าเพลย์ออฟได้ไหม?

 

นอกจากนี้ สถิติซึ่งเทร้าท์เคยเซ็นสัญญา 12 ปี 426.5 ล้านดอลลาร์ (15,354 ล้านบาท) จะโดนโอห์ตานิทำลายลงหรือไม่?

 

เอเจนต์คนหนึ่งประเมินว่า เขามีโอกาสเป็นผู้เล่นเบสบอลรายแรกของโลกที่ได้สัญญาระดับ 500 ล้านดอลลาร์ (18,000 ล้านบาท)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X