การปรากฏตัวของสองพ่อลูกตระกูล ‘อยู่บำรุง’ ข้างกาย พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้สมัครนายก อบจ.ปทุมธานี ซึ่งไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย ในช่วงเวลาปิดหีบเลือกตั้ง กลายเป็นสถานการณ์ลุกลาม
เมื่อต่อมา ‘วัน อยู่บำรุง’ ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ ‘ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง’ สส. แบบบัญชีรายชื่อ ท้าให้พรรคเพื่อไทยขับพ้นพรรค
ไม่มีใครรู้ว่าการปิดห้องคุยระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ วัน มีถ้อยคำใดที่รุนแรงเกินรับได้ แต่ผลที่ออกมากระเทือนไปยังบิดาของทั้งสองฝ่าย เส้นทางเพื่อนรัก ‘ทักษิณ-ร.ต.อ. เฉลิม’ ที่มีมาอย่างยาวนาน 30 ปี ย่อมไม่อาจกลับมาเหมือนเดิม เช่นเดียวกับบทบาทตระกูล ‘อยู่บำรุง’ ภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย
“ครอบครัวอยู่บำรุงไม่เคยคิดทรยศพรรคเพื่อไทย”
วันเล่าทั้งน้ำตาคลอ ในวันที่เดินทางไปลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าแม้จะเป็น สส. กทม. ที่สอบตก แต่อย่าลืมว่า 33 คน เพื่อไทยสอบตก 32 คน และรู้ว่าการปรากฏตัวที่บ้านของ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดมารยาททางการเมือง จึงไปมอบตัว แต่ไม่คิดว่าความผิดจะหนักหนาสาหัส เลยเถิดบานปลายถึงขนาดนี้
วันระบุด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีของ วรชัย เหมะ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ยังอาจจะดูรุนแรงกว่า เพราะเป็นคนที่ไม่เข้าตา อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ตระกูลอยู่บำรุงประจบสอพลอใครไม่เป็น เมื่ออยู่แล้วไม่สบายใจก็ขอไปดีกว่า
จบวลี ‘มีวันนี้เพราะพี่ให้’
ด้าน พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ถึงขั้นออกมาให้สัมภาษณ์ระบุว่า รู้สึกตกใจ และเสียใจที่เป็นต้นเหตุ ทำให้คนที่เคารพรักทั้งสองแตกหักกัน แต่ก็มองด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดูจะน้อยนิดเกินกว่าที่จะเป็นต้นเหตุได้ และขอบคุณเหตุการณ์นี้ รวมถึงการลงพื้นที่ร่วมงานบวชบุตรชาย ชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้สมัคร นายก อบจ.ปทุมธานี สังกัดพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ที่ทำให้มีทางแนวคิดยุติเส้นทางทางการเมือง
พ่อ ‘อยู่บำรุง’ พร้อมดีเบตพ่อ ‘ชินวัตร’
ความไม่พอใจของตระกูล ‘อยู่บำรุง’ นั้นสะสมมานาน จตุพร พรหมพันธุ์ อดีต สส. พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ร.ต.อ. เฉลิม เคยเป็นผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทักษิณ และในการจัดการเลือกตั้งปี 2566 ร.ต.อ. เฉลิม พูดชัดว่าไม่สนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ไปร่วมโหวตในสภา ทั้งยังถูกมองจากนายใหญ่ทักษิณว่า ‘กวนโอ๊ยทั้งพ่อทั้งลูก’ ไม่ได้รับการโปรโมตหรือตำแหน่งใดๆ เรื่อยมา
จนแพทองธารต้องบุกบ้านอยู่บำรุงเคลียร์ใจ มอบตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขให้วัน และ กาโม่-อาชวิน อยู่บำรุง ได้ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์กลับมาเหมือนเดิม
ขณะที่บิดาอย่าง ร.ต.อ. เฉลิม ที่อดรนทนไม่ได้ หลังวันประกาศลาออกเพียงข้ามวันก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวท้าทายให้พรรคเพื่อไทยไล่ออกจากพรรคไปอีกคน เพราะในวันที่มีการนับคะแนนตนก็อยู่ข้างกาย พล.ต.ท. คำรณวิทย์ เช่นกัน ซึ่งหากจับสังเกตในการแถลงข่าววันนั้น รับรู้ได้ถึงความไม่พอใจเพื่อนรักเสียแล้ว เพราะในการแถลงข่าวกว่า 40 นาที ร.ต.อ. เฉลิม ไม่มีการเอ่ยชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาแม้แต่คำเดียว!
ชื่อยังไม่อยากได้ยิน ไม่มีแตกหัก เขา (ทักษิณ) จะมาแคร์อะไรผม เห็นไปปทุมธานี เดินอาดๆ แต่พร้อมดีเบต
ทางฝั่งแพทองธารก็ออกมาปฏิบัติการตอบโต้ทันควัน ด้วยการดีด ร.ต.อ. เฉลิม ออกจากกลุ่มไลน์ สส. ของพรรค และย้ำว่าขอขับออกจากกรุ๊ปอย่างเดียว ไม่มีนโยบายขับออกจากพรรค ขอไม่พูดถึงเรื่องนี้อีก ให้จบตรงนี้
ขับพ้นพรรค vs. เก็บไว้ทิ่มแทง
ตำแหน่งของ ร.ต.อ. เฉลิม คือตำแหน่งสำคัญของพรรคการเมือง เพราะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ หากลาออกพรรคสามารถดันคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปเข้ามาแทนที่ได้
การขับพ้นพรรคนั่นหมายความว่า ตำแหน่ง สส. จะติดตัว ร.ต.อ. เฉลิม ตามไปด้วย การสูญเสียที่นั่งในสภาไปด้วยเหตุความขัดแย้งเล็กน้อยแบบนี้คงได้ไม่คุ้มเสีย แต่การเก็บ ร.ต.อ. เฉลิม ที่ประกาศว่าพร้อมดีเบต จะส่งผลกระทบแบบใด
หาก ร.ต.อ. เฉลิม ใช้เอกสิทธิ์ความเป็น สส. ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย จี้จุดนโยบายต่างๆ ที่ยังคงเป็นปัญหา อาทิ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือการอภิปรายไม่เห็นด้วยในสภา ความปั่นป่วนคงเกิดขึ้นไม่น้อย
แม้ล่าสุดทักษิณจะออกมาให้สัมภาษณ์ในวันเกิดครบรอบ 75 ปีว่า ไม่ขอท้าชน ไม่ขอพูดถึง ไม่ขอดีเบตกับ ร.ต.อ. เฉลิม เพราะว่าสงสารเขา (ร.ต.อ. เฉลิม) อายุเยอะแล้ว แต่รอยร้าวที่เกิดขึ้นคงยากจะประสาน
ความผูกพันของสองเพื่อนรัก ทั้งความช่วยเหลือเมื่อครั้งทักษิณโดนอภิปรายในสภาเพื่อถอดยศ หรือการมอบตำแหน่งในวันที่ทั้งคู่รุ่งเรือง ภาพเหล่านั้นได้เลือนหายไปตามกาลเวลา
ประกอบกับความเสื่อมของหมากพรรคเพื่อไทย เริ่มเผยให้เห็นขึ้นมาเรื่อยๆ หมากหลายตัวถูกใช้แล้วทิ้ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ถูกปรับออกจากรัฐมนตรี เมื่อผ่านพ้นการเลือกตั้งไม่นาน ร.ต.อ. เฉลิม เองย่อมไม่ใช่ข้อยกเว้น เมื่อการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยให้ทันสมัย เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น สส. ที่แม้จะมีฐานเสียงของตัวเอง แต่ไม่ได้มาจากบ้านใหญ่หรือเป็นฐานเสียงของพรรคก็ยิ่งถูกลดบทบาทลง
ทั้งอายุ สไตล์การทำงาน เสียงที่จำกัดแค่เพียงพื้นที่เขตบางบอน การผลักดัน ร.ต.อ. เฉลิม ของพรรคในปัจจุบัน รวมถึงในการเลือกตั้งสมัยหน้าก็ดูจะมองไม่เห็นทาง แม้จะย้ายสังกัดก็ยากที่พรรคอื่นจะผลักดัน
การอยู่เป็นหอกหนามทิ่มแทงใจให้คนเพื่อไทย คงจะเป็นหนทางที่ ร.ต.อ. เฉลิม ตัดสินใจได้ไม่ยาก
หมากบังคับ ที่ชื่อ ‘ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง’ ตัวนี้จะกลับเข้าที่มาช่วยล้อมศัตรู หรือจะยืนอยู่ท่ามกลางสีตรงข้ามแต่สวมเสื้อสีแดงทิ่มแทงเจ้าเมืองหรือไม่ ทักษิณและแพทองธาร ชินวัตร คงต้องตัดสินใจให้ดีและคุมหมากเกมนี้ให้อยู่มือ