×

จีนส่งยานเสินโจว-15 นำนักบินอวกาศ 3 คนเดินทางสู่สถานีอวกาศเทียนกง

โดย Mr.Vop
30.11.2022
  • LOADING...

จรวด Long March 2F นำยานเสินโจว-15 (神舟-15) ออกเดินทางจากศูนย์ส่งดาวเทียมจิ่วเฉวียน (酒泉卫星发射中心) มณฑลกานซู่ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน สู่สถานีอวกาศเทียนกง เมื่อเวลา 22.08 น. ของวันที่ 29 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย

 

ยานเสินโจว-15 จะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงหลังออกจากโลก ในการปรับระดับความสูง ความเร็ว และมุมการโคจร จนเหมาะสมในการเข้าเชื่อมต่อ (Docking) กับสถานีอวกาศเทียนกง บนวงโคจรระดับต่ำ หรือ LEO 

 

และหลังประตูของสถานีอวกาศเปิดออก นี่ถือเป็นครั้งแรกของจีนที่มีนักบินอวกาศมากถึง 6 คนบนสถานีอวกาศของตน นั่นคือนักบินอวกาศ 3 คนจากเสินโจว-15 กับนักบินนักบินอวกาศอีก 3 คนจากยานเสินโจว-14 ที่ออกเดินทางขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

นักบินอวกาศทั้ง 6 คนจะมีเวลาอยู่ร่วมกันบนสถานีอวกาศเทียนกงประมาณ 5-10 วัน หลังจากนั้นทีมนักบินอวกาศเสินโจว-14 ทั้ง 3 คนก็จะออกเดินทางกลับโลก ทิ้งให้ทีมนักบินอวกาศเสินโจว-15 รับหน้าที่ต่อไปอีก 6 เดือน

 

 

นักบินอวกาศเสินโจว-15 ตามภาพจากซ้ายไปขวา ได้แก่ จางลู่ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานระบบ, เฟยจุนหลง ผู้บัญชาการภารกิจ และ เติ่งชิงหมิง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน  

 

นอกจากจะมีหน้าที่ตามปกติคือทดลองงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการทดสอบเทคโนโลยีทางวิศวกรรมภายใต้ความโน้มถ่วงต่ำแล้ว ทีมนักบินอวกาศเสินโจว-15 ทั้ง 3 คนจะต้องรองรับการเดินทางมาถึงของยานสัมภาระเทียนโจว-6 ทั้งยังต้องสวมชุดพิเศษออกไปปฏิบัติการในอวกาศภายนอกสถานีอีกหลายรายการ ในจำนวนนั้นรวมถึงการประกอบ ทดสอบ และแก้ไขระบบการขนถ่ายสัมภาระนอกตัวยาน เป็นการสานต่องานที่ทีมเสินโจว-14 ทำเอาไว้ก่อนหน้านี้ด้วย

 

ทีมนักบินอวกาศเสินโจว-15 ถือเป็นทีมสุดท้ายใน 4 ทีมของเฟสแรกนับตั้งแต่เสินโจว-12 เป็นต้นมา นั่นคือเป็นนักบินอวกาศ 3 คนสุดท้ายในกลุ่ม 12 คนที่ทำหน้าที่สำคัญในการประกอบสถานีอวกาศหลักของชาติจีนให้เสร็จสมบูรณ์ภายในเวลา 180 วันนับจากนี้ โดยมีกำหนดกลับโลกในเดือนพฤษภาคม 2023 นักบินอวกาศภารกิจครั้งนี้ประกอบด้วย

 

เฟยจุนหลง

 

ผู้บัญชาการภารกิจวัย 57 ปี เกิดวันที่ 5 พฤษภาคม 1965 ที่เมืองคุนซาน จังหวัดซูโจว มณฑลเจียงซู แต่งงานกับ หวังจี ในปี 1991 มีบุตรชาย 1 คน สำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนยอดเยี่ยมจากโรงเรียนการบินหมายเลข 9 ของกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีน (PLAAF) และได้เข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาล่าสุดในระดับปริญญาโท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนักบินอวกาศจีน ยศพลตรีด้านเทคโนโลยีระดับสูง ได้รับคัดเลือกให้รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจยานเสินโจว-6 เมื่อเดือนตุลาคม 2005 เขาควบคุมภารกิจจนลุล่วง โดยใช้เวลาอยู่ในยานเสินโจว-6 บนวงโคจรโลกเป็นเวลา 4 วัน 19 ชั่วโมง 33 นาที 

 

เฟยจุนหลง ได้รับความชื่นชมตลอดชีวิตการเรียนและการทำงานกับกองทัพอากาศ หลังกลับจากภารกิจเสินโจว-6 เขาได้รับรางวัลกิตติมศักดิ์ ‘นักบินอวกาศฮีโร่’ จากสภาแห่งรัฐและคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อมาในปี 2007 ชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย 9512 Feijunlong และในปี 2021 ที่ผ่านมา เฟยจุนหลง ดำรงตำแหน่งล่าสุดเป็น ‘ทูตภาพลักษณ์สวัสดิการสาธารณะการบินและอวกาศของจีน’ 

 

เติ่งชิงหมิง

 

เจ้าหน้าที่ประจำภารกิจวัย 56 ปี เกิดวันที่ 16 มีนาคม 1966 ที่เมืองอี้หวง มณฑลเจียงซี แต่งงานกับ มานหยานหง และมีบุตรสาว 1 คน เติ่งชิงหมิง สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมการบินเหอเป่ยเป่าติ้ง ได้เป็นนักบินอย่างเป็นทางการของกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLAAF) ในเดือนตุลาคม 1988 และได้เข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาล่าสุดในระดับปริญญาโท ปัจจุบันเป็นนักบินอวกาศพิเศษของกองพลนักบินอวกาศกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ยศพันเอก 

 

จางลู่ 

 

เกิดเดือนพฤศจิกายน 1976 ในเมืองฮั่นโจว จังหวัดฉางเต๋อ มณฑลหูหนาน จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนประจำเมือง เข้าร่วมกองทัพในเดือนสิงหาคม 1996 เป็นผู้อำนวยการยิงปืนต่อสู้ทางอากาศของกองบัญชาการทหารในฐานฝึก และได้รับการจัดอันดับให้เป็นนักบินชั้นหนึ่งของกองทัพอากาศ ปัจจุบันเป็นนักบินอวกาศระดับสองของกองพลนักบินอวกาศกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLAAF) ยศพันเอก

 

ในวัยเด็ก จางลู่ ฝันอยากเป็นนักร้อง แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจมาเป็นนักบิน เมื่อถูกถามว่าทำไมเปลี่ยนใจ เขาตอบว่า “ถ้าผมเลือกเป็นนักร้อง ผมคงไม่มีโอกาสนั่งเครื่องบินบินไปบนท้องฟ้าสีครามของมาตุภูมิ แต่ถ้าผมเลือกเป็นนักบิน แน่นอนว่าผมสามารถที่จะบินไปด้วย ร้องเพลงไปด้วย อย่างภาคภูมิบนท้องฟ้าสีคราม”

 

ใครจะรู้ว่าวันนี้ จางลู่ ได้ร้องเพลงบนสถานีอวกาศที่ห่างไกลจากผิวโลกถึง 400 กิโลเมตร

 

ภาพ: VCG / VCG via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X