Shell บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในสหราชอาณาจักร เผชิญกับการถูกฟ้องร้องคดีความด้านสภาพภูมิอากาศอีกครั้ง หลังจากศาลเนเธอร์แลนด์เพิ่งสั่งให้ Shell ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเมื่อ 2 ปีก่อน จับตากระแสกลุ่มสิ่งแวดล้อมใช้ ‘ศาล’ เป็นเครื่องมือมากขึ้น
ClientEarth บริษัทกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม กำลังยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหาร 11 คนของ Shell โดยกล่าวหาว่าบอร์ดล้มเหลวในการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศของบริษัท ต่อศาลสูงในลอนดอน พร้อมกล่าวว่า การที่บอร์ดไม่อนุมัติกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส ‘ถือเป็นการละเมิดหน้าที่ทางกฎหมาย’ ภายใต้กฎหมาย Company Act ของสหราชอาณาจักร
Paul Benson ทนายความอาวุโสของ ClientEarth กล่าวว่า บอร์ดของ Shell ยังคงใช้กลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านที่มีข้อบกพร่อง ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จของ Shell ในอนาคต แม้ว่าบอร์ดจะมีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มูลค่าตลาด คาร์บอนเครดิต ทั่วโลกเพิ่ม 14% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9 แสนล้านดอลลาร์ แม้ปริมาณการซื้อขายลดลง
- ‘Pemex’ บรรลุการเจรจาขอกู้เงินจาก Goldman Sachs และ HSBC เบื้องต้นมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงนโยบาย ESG
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero
ทั้งนี้ ข้อตกลงปารีสซึ่งถูกนำมาใช้ในปี 2015 มีเป้าหมายเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ขณะที่โฆษกของ Shell ได้ออกมากล่าวว่า บริษัทไม่ยอมรับข้อกล่าวหาของ ClientEarth พร้อมยืนยันว่า คณะกรรมการบริหารของบริษัทปฏิบัติตามหน้าที่ทางกฎหมาย และกระทำการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทตลอดเวลา
จับตากลุ่มสิ่งแวดล้อมใช้ ‘ศาล’ เป็นเครื่องมือมากขึ้น
ปัจจุบันการพยายามให้บริษัทต่างๆ มีความรับผิดชอบตามกฎหมายด้วยการฟ้องร้องต่อศาล กำลังกลายเป็น ‘กลยุทธ์ใหม่’ ของนักกฎหมายและนักรณรงค์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากความสำเร็จในเนเธอร์แลนด์
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 ศาลในกรุงเฮกได้สั่งให้ Shell ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 45% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยในครั้งนั้น Shell ระบุว่า เป้าหมายของบริษัทคือการเป็นบริษัทพลังงานที่ปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อยู่แล้ว
โดย Shell มีแผนที่จะลดการปล่อยมลพิษจากธุรกิจของตนเองลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับระดับปี 2016 แต่เป้าหมายนี้คิดเป็นไม่ถึง 10% ของคาร์บอนฟุตพรินต์ทั้งหมดของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปล่อยออกมาเมื่อลูกค้าเผาเชื้อเพลิงที่ซื้อจาก Shell
นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ทั่วทั้งธุรกิจภายในปี 2050 แต่ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซผลักดันผลกำไรของบริษัทสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
โดยในปี 2022 Shell ได้ลงทุนในหน่วยพลังงานหมุนเวียนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ก็น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ Shell ใช้ไปกับธุรกิจสำรวจและสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล
Shell ชะลอการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
Wael Sawan ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Shell เมื่อเดือนมกราคม กล่าวว่า เขาวางแผนที่จะขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบริษัท เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
พร้อมทั้งระบุว่า “ปรัชญาของบริษัทเปลี่ยนไปสู่การลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานแล้ว แต่เราต้องทำให้แน่ใจว่าการลงทุนเหล่านั้นจะไปในพื้นที่ที่เราสามารถมองเห็นแนวทางไปสู่ผลตอบแทนที่น่าดึงดูด และสามารถตอบแทนผู้ถือหุ้นของเราได้”
โดยคดีความดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนสถาบัน รวมถึง London LGPS CIV Ltd. ผู้จัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญ, NEST กองทุนบำเหน็จบำนาญของสวีเดน และ Danske Bank Asset Management ยังฟ้องคณะกรรมการบริหารว่า ไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของกรุงเฮก
อ้างอิง: