เทรนด์ตัวแม่ (Sheconomy) หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้หญิง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์มาแรง โดยมีเบื้องหลังมาจากผู้หญิงที่มีกำลังซื้อมหาศาล และเป็นกลุ่มที่พร้อมลงทุนกับการดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองในทุกช่วงของชีวิต โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องสุขภาพ
ข้อมูลจาก The Economist Intelligence Unit องค์กรวิจัยในสหรัฐฯ คาดว่า ในปี 2573 กำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ราวๆ 46 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากที่ในปี 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยากซะเหลือเกิน! ผลสำรวจเผย ผู้หญิงในเอเชียรู้สึกกังวลกับการเก็บเงินใช้ในช่วงเกษียณ ผู้เชี่ยวชาญแนะศึกษากองทุนที่มีผลตอบแทนระยะยาว
- ผู้หญิงญี่ปุ่นที่เกิดในปี 2005 กว่า 40% อาจไม่มีลูก มองว่าเติมเต็มตัวเองสำคัญกว่า ขณะที่คนหนุ่มสาวบางส่วนเลือกจะ ‘โสดตลอดชีวิต’
- ผู้หญิงในตลาดแรงงานอเมริกาเริ่มเครียด! เมื่อการวิจัยล่าสุดชี้ หญิงสาวกว่า 80% อาจถูก AI-ChatGPT แย่งงาน! โดยเฉพาะอาชีพบัญชีและนักพากย์เสียง
โดยเทรนด์ Sheconomy ที่กำลังมาแรงมีปัจจัยหนุน 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ
- ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย
- บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต
- ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน
สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากสำนักทะเบียนกลางยังชี้ว่า สัดส่วนประชากรในไทยมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2565 มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 1.59 ล้านคน
ปัจจัยดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลวิมุตสนใจที่จะเจาะกลุ่มผู้หญิงอย่างจริงจัง เพราะหากมองภาพรวม จำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลวิมุตในปี 2566 จนถึงปัจจุบันพบว่า มีสัดส่วนผู้ใช้บริการเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสูงถึงประมาณ 20% ซึ่งในปี 2565 ก็มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20%
เช่นเดียวกับการมีผู้ใช้บริการผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การตรวจสุขภาพเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นศูนย์สูตินรีเวช และแผนกฉุกเฉินเป็นอันดับ 3
“เราจึงได้ทำแคมเปญ The Power of Women นวัตกรรมทางการแพทย์และบริการเฮลท์แคร์แบบองค์รวม ที่ครอบคลุมทุกมิติด้านสุขภาพของผู้หญิงทุกวัย เดินหน้าเจาะตลาดกำลังซื้อผู้หญิง ซึ่งคาดว่าจะมียอดผู้ใช้บริการในกลุ่มผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีก 30% หลังปล่อยแคมเปญ” นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าว
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทยคือมะเร็ง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่า หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด จำนวน 38,559 ราย รองลงมาคือมะเร็งปากมดลูก จำนวน 12,956 ราย
โรคมะเร็งเต้านมนับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด เมื่อพบอาการผิดปกติมักอยู่ในระยะที่ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การคัดกรองและตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากที่สุด
นอกจากโรคทางกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้หญิง กรมสุขภาพจิตเผย คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยในปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทางองค์การอนามัยโลกชี้ว่า เพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมากกว่าเพศชาย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ตลอดจนอาการซึมเศร้าหลังคลอด นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องเผชิญความคาดหวังจากสังคมและปัญหาในครอบครัวอีกด้วย