วันนี้ (3 พฤษภาคม) พันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผลการตรวจยึด ครีบฉลาม จำนวน 402 ชิ้น น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 102 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ณ คลังสินค้า เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โฆษกกรมศุลกากรเปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และกระทรวงการคลัง ที่สั่งการให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าผิดกฎหมาย โดยอธิบดีกรมศุลกากร (ธีรัชย์ อัตนวานิช) ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษ
การตรวจยึดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 หลังจากกรมศุลกากรได้รับการประสานข้อมูลการข่าวจากกรมต่อต้านการลักลอบทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ASB, GACC) แจ้งเตือนถึงการส่งสินค้าต้องสงสัยที่อาจเข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES)
เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้บูรณาการกำลังร่วมกับ กรมประมง, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าตรวจสอบหีบห่อสินค้าต้องสงสัยดังกล่าว ซึ่งมีต้นทางจากประเทศตรินิแดดและโตเบโก ผ่านการเปลี่ยนเครื่องที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และมีปลายทางที่ประเทศไทย โดยสำแดงชนิดสินค้าบนใบตราส่งว่าเป็นปลาแห้ง (Dry Fish) แต่ผลการตรวจค้นภายในพบครีบฉลามจำนวนมากดังกล่าว
พันธ์ทองกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดหลายบทตามกฎหมายไทย ได้แก่:
- ความผิดฐานนำเข้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
- ความผิดฐานนำซากสัตว์เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
- ความผิดฐานนำเข้าซากสัตว์น้ำโดยไม่มีใบรับรองและใบอนุญาต ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558
- ความผิดฐานนำเข้าของต้องกำกัดโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560
พนักงานศุลกากรจึงได้ยึดครีบฉลามทั้งหมดไว้เป็นของกลาง และได้ส่งมอบให้กับด่านตรวจประมงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
อ้างอิง: