Francois Savary หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Prime Partners ในสวิตเซอร์แลนด์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการลงทุนในช่วงเวลานี้ โดยกล่าวเตือนไม่ให้นักลงทุนผลีผลามเข้าไปลงทุนในช่วงเวลานี้ แม้ว่าตลาดหุ้นและตลาดบอนด์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์แล้วก็ตาม
โดยผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่า การฟื้นตัวของหุ้นและบอนด์ในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาการระบาดของโควิด ปัญหาสงครามในยูเครน และปัญหาเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ปัจจัยที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมยังขาดความชัดเจน ดังนั้น แทนที่จะไล่ตามหุ้นที่วิ่งขึ้น บรรดานักลงทุนควรมองหาความยืดหยุ่นด้วยการรักษาเก็บออมเงินสด และลงทุนในหุ้นอย่างมีกลยุทธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมากกว่า
ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (9 สิงหาคม) ปิดลบในกรอบแคบๆ ยกเว้นดัชนี Nasdaq ที่ร่วงลงมากกว่า 1% โดยมีแรงฉุดจากปัญหาซัพพลายเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่เหล่านักลงทุนในตลาดต่างจับตารายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอีกรอบเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลง 58.13 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 32,774.41 จุด, ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 17.59 จุด หรือ 0.42% ปิดที่ 4,122.47 จุด และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 150.53 จุด หรือ 1.19% ปิดที่ 12,493.93 จุด
ดัชนี Nasdaq ที่ร่วงลงอย่างหนัก เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำอย่าง Micron ประเมินว่ารายรับบริษัทอาจต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค และข้อจำกัดของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลให้หุ้นของบริษัทลดลงมากกว่า 3%
ในรอบสัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสสำหรับผู้ผลิตชิป โดยต้นสัปดาห์ Nvidia ได้ออกมาเปิดเผยคาดการณ์รายได้ที่อาจต่ำกว่าเป้า ทำให้หุ้นของบริษัทและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลงตามไปด้วย
Ed Moya นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ Oanda กล่าวว่า เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ที่สุด 2 รายในตลาดชิปของสหรัฐฯ ออกมากล่าวถึงปัญหาซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ ก็เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะละเลยไม่รับฟัง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเฝ้ารอดูรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนกรกฎาคมในวันนี้ (10 สิงหาคม) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ เพราะจะเป็นข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญต่อจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งมีการเปิดเผยไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลข CPI ดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนักในเดือนกรกฎาคม อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่ายังมีโอกาสถึง 68.5% ที่ Fed อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในเดือนกันยายน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ 3 หนติดต่อกัน
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/08/09/market-outlook-too-volatile-to-chase-stock-bond-rallies-asset-manager-says.html
- https://www.cnbc.com/2022/08/08/stock-market-futures-open-to-close-news.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP