×

Sex Education 3, OnlyFans และไข่เน่า กับการใช้อำนาจห้าม ‘เกา’ เมื่อ ‘คัน’ ได้ผลจริงหรือ?

21.09.2021
  • LOADING...
Sex Education 3

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • Sex Education 3 และไข่เน่า ตามความคิดเห็นของผู้เขียน นอกจากเรื่องเซ็กซ์แล้ว สองเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันในเรื่องการใช้อำนาจลดทอนสิทธิในร่างกาย และความต้องการของบุคคลเหมือนๆ กัน 
  • โรงเรียนมัวร์เดลภายใต้การบริหารของครู Hope เหมือนเป็นภาพจำลองของโรงเรียนไทย อย่างเรื่องสื่อการเรียนการสอนที่หลุดออกมาจาก ‘ยุคดิสโก้’ และมักสอนให้เด็กกลัวเซ็กซ์ มากกว่าจะให้เรียนรู้อย่างชาญฉลาดว่ามันอาจเป็นเรื่องสนุก สวยงาม และสอนให้เรารู้จักร่างกายของเรา ไม่ใช่มีอารมณ์ทางเพศแล้วให้ออกไปเตะบอล
  • วัยรุ่นคือวัยแห่งการเรียนรู้และค้นหา ซึ่งต้องใช้เวลาจนกว่าจะได้รู้จักตัวตนที่เป็น บางคนก็อาจจะพอใจที่จะอยู่ในจุดกึ่งกลางอย่างตัวละคร Cal Bowman ที่เป็น Non-Binary หรือไม่ระบุเพศ แต่เพราะความไม่เข้าใจ เลยทำให้ถูกผลักเข้าไปอยู่ในกรอบตามเพศกำเนิดของตัวเอง มองให้ลึกลงไปนี่คือการลดทอนตัวตน แล้วแบบนี้จะสอนให้เป็นคนเต็มคนได้อย่างไร 

 

ในจังหวะที่ Sex Education 3 ซีรีส์ว่าด้วยเรื่องชีวิตเซ็กซ์ของวัยรุ่น สตรีมทาง Netflix ในประเทศไทยก็มีข่าวตำรวจเข้าจับกุม ‘ไข่เน่า’ ดาวดังจากเว็บไซต์ OnlyFans พอดิบพอดี ตามความคิดเห็นของผู้เขียน นอกจากเรื่องเซ็กซ์แล้ว สองเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันในเรื่องการใช้อำนาจลดทอนสิทธิในร่างกายและความต้องการของบุคคลเหมือนๆ กัน ในกรณีของไข่เน่า เอาเข้าจริงก็เป็นถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะถ้าได้ลองศึกษาดูก็จะรู้ว่าการจะเป็นครีเอเตอร์ในเว็บไซต์ OnlyFans ก็ต้องผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย และการเข้าถึงในฐานะซัพพอร์ตเตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน ซึ่งนั่นเป็นการยืนยันสิทธิในการเข้าถึงของบุคคลนั้นๆ อยู่แล้ว จะผิดก็ตรงที่คนดูดคลิปออกมาเผยแพร่ผ่านทางฟรีเว็บไซต์ การเข้าไปจับกุมไข่เน่าก็ดูไม่ยุติธรรมสักเท่าไร 

 

อีกอย่างก็ต้องยอมรับว่าโลกยุคนี้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี นอกจากเป็นประชาชนคนไทย เราก็มีฐานะเป็นประชาชนของโลกเหมือนกัน การใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมจึงดูลักลั่น และจะมั่นใจได้แค่ไหนว่าจะได้ผล ลำพังแค่บล็อกเว็บไซต์ส้มดำแค่ไม่กี่ชั่วโมง ชาวเน็ตก็เสาะหาวิธี ‘มุด’ เข้าไปดูได้เหมือนเดิม ส่วน Sex Education ในซีซันใหม่ก็เน้นย้ำไปที่เรื่องของ ‘อำนาจ’ ที่พยายามเข้ามาควบคุมผ่านตัวละครตัวใหม่ และขยายเรื่องราวออกไปนอกรั้วโรงเรียน แม้จะไม่ได้มีฉากเซ็กซ์มากมาย หรือพูดถึงปัญหาเรื่องเซ็กซ์แบบโดนๆ เหมือนซีซันก่อนๆ แต่การพูดถึงต้นตอของปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจก็ทำให้ Sex Education 3 มีความน่าสนใจ และยังครองตำแหน่งซีรีส์วัยรุ่นที่ดีที่สุดแห่งยุคได้เหมือนเดิม

 

*บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน 

 

ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แค่รอวันประทุเท่านั้นเอง

 

“วันนี้ครูไม่อยากรับมือกับพวกที่นึกถึงแต่ตัวเองและหมกมุ่นกับตัวตนจนคลั่ง ยิ่งพวกเธอรู้เร็วว่าตัวเองไม่พิเศษ และโลกแห่งความจริงไม่แคร์ปัญหาในจินตนาการของพวกเธอเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น” – Hope Haddon

 

ตัวละครครูใหญ่ Hope Haddon เปิดตัวอย่างเร้าใจคล้ายผู้บริหารสตาร์ทอัพเจ๋งๆ ก็ไม่ปาน แต่ความจริงก็เป็นแค่ตัวแทนอำนาจนิยมแบบเก่าในแพ็กเกจจิ้งใหม่ที่ฝังอยู่ในแนวคิดของคนในทุกเจเนอเรชัน ตั้งแต่ Baby Boomer, Gen X หรือแม้กระทั่ง Gen Y ของครู Hope ที่ดูเหมือนวัยจะไล่เลี่ยกับเด็กนักเรียน เธอเริ่มใช้อำนาจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการตีเส้นให้เดิน การแต่งตัวของนักเรียน เรื่อยเลยไปจนถึงการควบคุมความต้องการของร่างกายที่เป็นไปตามวัย และมั่นใจว่าจะเอาชนะได้เหมือนเจเนอเรชันที่ผ่านมา แต่ผลลัพธ์กลับออกมาตรงกันข้ามและรุนแรงกว่า จนตัวละคร Otis Milburn พูดเตือนสติในตอนท้ายซีซันว่า “ปัญหาพวกนั้นมีมาตลอด เพียงแต่คนไม่กล้ากล้ายกประเด็นขึ้นมา แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว” สะท้อนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดถึงปัญหาเรื่องเซ็กซ์อย่างตรงไปตรงมา

 

 

โรงเรียนมัวร์เดลภายใต้การบริหารของครู Hope เหมือนเป็นภาพจำลองของโรงเรียนไทย อย่างเรื่องสื่อการเรียนการสอนที่หลุดออกมาจาก ‘ยุคดิสโก้’ และมักสอนให้เด็กกลัวเซ็กซ์ มากกว่าจะให้เรียนรู้อย่างชาญฉลาดว่ามันอาจเป็นเรื่องสนุก สวยงาม และสอนให้เรารู้จักร่างกายของเราอย่างที่ Maeve Wiley บอก ไม่ใช่มีอารมณ์ทางเพศแล้วให้ออกไปเตะบอลอย่างที่เราถูกสอนกันมา 

 

 

ที่น่าเศร้าก็คือฉากการลงโทษนักเรียนให้อับอายด้วยการแขวนป้ายประจาน เรายังได้เห็นกันดาษดื่นในเมืองไทย ทั้งที่ในต่างประเทศนี่คือการลงโทษที่สร้างปมในใจให้กับเด็กแบบไม่มีวันลืม และขณะที่เด็กๆ อยู่ภายใต้แรงกดดันจากครู ครู Hope เองก็อยู่ภายใต้แรงกดดันของระบบที่ยังมองเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องน่าอาย ทำให้เธอต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อเอาใจนักลงทุน ตรงนี้ก็คงจะบอกได้ว่าปัญหาไม่ใช่แค่อยู่ที่ครู แต่อยู่ที่มุมมองของสังคมต่อเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน 

 

เรียนรู้ความแตกต่างและหลากหลาย โจทย์ที่ทุกคนควรทำความเข้าใจ

 

“ทำไมถึงชอบจับเราแยกกัน ความหลากหลายทรงพลังเกินกว่าครูจะรับได้เหรอ” – Cal Bowman

 

วัยรุ่นคือวัยแห่งการเรียนรู้และค้นหา ซึ่งต้องใช้เวลาจนกว่าจะได้รู้จักตัวตนที่เป็น บางคนก็อาจจะพอใจที่จะอยู่ในจุดกึ่งกลาง อย่างตัวละคร Cal Bowman ที่เป็น Non-Binary หรือไม่ระบุเพศ แต่เพราะความไม่เข้าใจ เลยทำให้ถูกผลักเข้าไปอยู่ในกรอบตามเพศกำเนิดของตัวเอง มองให้ลึกลงไปนี่คือการลดทอนตัวตน แล้วแบบนี้จะสอนให้เป็นคนเต็มคนได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งคนที่ค้นพบวิถีทางเพศของตัวเองแล้วอย่าง Adam Groff เอง ก็ยังต้องอาศัยเวลาที่ต้องเรียนรู้ ยอมรับ และสร้างตัวตนที่สมดุล ทั้งในมุมที่มองตัวเองและสังคมรอบข้างที่มองมาที่เขา บางครั้งมันแสดงออกผ่านทางอารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรงแบบที่ Adam คิดว่าคนอื่นกำลังนินทาเขาอยู่ แต่เมื่อเปิดใจยอมรับ เขาก็ได้เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับตัวเอง สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา และเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าหากถูกตัดสินไปตั้งแต่ต้นว่าเป็นสิ่งที่ผิด

 

 

นอกจากนี้ความหลากหลายยังหมายถึงรสนิยมทางเพศบางอย่างที่ผิดแปลกไปจากวิถีที่คุ้นเคย อย่างเช่นตัวละคร Lily Iglehart ที่หมกมุ่นเรื่องมนุษย์ต่างดาว จนถูกบังคับให้ละทิ้งตัวตนนั้นไป ผลที่ออกมาเธอเลยกลายเป็นคนไม่มีความสุข ซึ่งถ้าหากเปิดใจให้กว้างพอ การที่ใครสักคนจะมีความสุขกับรสนิยมบางอย่างก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตราบใดที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ซึ่งการเปิดแอ็กเคานต์ OnlyFans ก็น่าจะเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

 

กล้าพูดถึงปัญหา คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา

 

“นักเรียนไม่ควรได้ฟังคำแนะนำจากนักเรียนด้วยกัน แต่พวกเขาต้องการให้ช่วย ผมหวังว่าครูจะให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ครับ” Otis Milburn

 

คำพูดของ Otis Milburn คือข้อความจากใจของเด็กๆ ว่าถ้าหากเลือกปรึกษาเรื่องนี้กับใครได้ ก็คงอยากปรึกษาคนที่มีประสบการณ์มากกว่า เพียงแต่ว่าทุกวันนี้เรื่องเพศยังถูกทำให้เป็นเรื่องน่าอาย ทั้งๆ ที่โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กตั้งคำถามโดยไม่ต้องอับอาย ถูกประณาม จนสร้างปมในใจ

 

ครอบครัวเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศ แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าคนรุ่นพ่อแม่ก็เติบโตมาจากกรอบความคิดยุคเก่าจนมองข้ามปัญหา และส่งต่อปมในใจมาให้กับคนรุ่นต่อไป อย่างเช่นอดีตครูใหญ่ Michael Groff ที่ในซีซันนี้เผยให้เห็นว่าในอดีตถูกสอนมาว่าการแสดงความรู้สึกคือความอ่อนแอ และการปฏิบัติต่อลูกชายก็ไม่ต่างจากที่พี่ชายปฏิบัติต่อเขา ซึ่งสร้างปมในใจให้กับ Michael และถ่ายทอดมายัง Adam ผู้ถอดแบบบุคลิกของเขามาแทบจะทั้งหมด บทเรียนจากชีวิตของ Michael ก็คือ แม้โตเป็นผู้ใหญ่ แต่ถ้าปมในใจยังไม่ได้รับการสะสาง มันก็จะยังสร้างปัญหาไม่รู้จบ ถึงจะเปิดใจยอมรับ ก็อาจจะสายเกินไปที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม

 

 

คิดจะ ‘เกา’ เมื่อ ‘คัน’ ก็ต้องยอมรับผลของมันด้วย

 

“ฉันตกใจมากกับความอ่อนด้อยของหลักสูตรเพศศึกษาและความสัมพันธ์ในโรงเรียน ฉันจึงเขียนคู่มือที่อ่านเข้าใจง่ายเล่มนี้ขึ้นมา เพื่อให้กำลังใจวัยรุ่นกับผู้ปกครอง ขณะที่พวกเขาเติบโตเป็นคนหนุ่มสาวที่มีความต้องการทางเพศ” Jean Milburn 

 

เกาเมื่อคันทิ้งรอยถลอกไว้ฉันใด เมื่อใช้ชีวิตเรื่องเพศแบบไหนก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาด้วย อย่างในซีรีส์ เมื่อเด็กๆ ใช้เวทีพรีเซนต์โรงเรียนโฉมใหม่ เผยแนวคิดเรื่องเพศของพวกเขา ผลที่ตามมาก็คือโรงเรียนมัวร์เดลต้องปิดตัวลง เพราะอย่าลืมว่านอกจากสังคมโรงเรียนแล้ว ยังมีสังคมภายนอกที่มีความ ‘หลากหลาย’ หมายรวมถึงคนที่มีแนวความคิดเก่ารวมอยู่ด้วย ดังนั้น ถ้ากล้าแล้วก็ต้องแกร่งพอจะยอมรับรับแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นด้วย เช่นเดียวกับกรณีของไข่เน่า แม้จะไม่ใช่เรื่องผิดตามความคิดเห็นของผู้เขียน แต่ผลที่ตามมาก็ท้าทายความแกร่งของเธอเหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้ได้เรียนรู้จากวิถีทางเพศที่เธอเลือกเอง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising